×

อ่านประวัติ เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในควีนเอลิซาเบธที่ 2 คู่บารมีแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์

10.04.2021
  • LOADING...
อ่านประวัติ เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในควีนเอลิซาเบธที่ 2 คู่บารมีแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ขณะทรงเป็นทหารเรือ พระองค์ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยพระองค์เองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนับว่าพระองค์ทรงมีความอดทนและมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก กอปรกับในระหว่างที่พระองค์ทรงประจำการในกองทัพเรือนั้น ทรงมีพระหัตถเลขาถึงเจ้าหญิงเอลิซาเบธอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพระองค์คืบหน้าไปมาก 
  • สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้มีพระราชานุญาติให้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ โดยก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะได้เข้าพิธีอภิเษกสมรส เจ้าชายฟิลิปต้องทรงสละฐานันดรทั้งหมดของกรีซและเดนมาร์ก เพื่อให้กลายเป็นสามัญชนและข้าแผ่นดินของสหราชอาณาจักร โดยใช้ชื่อและนามสกุลอังกฤษ ‘เมานต์แบ็ตเทน’ นามสกุลเดิมของฝั่งพระมารดา ก่อนที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้พระราชทานพระยศ His Royal Highness แก่เจ้าชายฟิลิป และทรงแต่งตั้งให้เป็นดยุกแห่งเอดินบะระ เอิร์ลแห่งเมอเรียเนธ และบารอน กรีนิช ในเวลาต่อมา
  • เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ที่ใกล้ชิดของพระองค์ว่า เจ้าชายฟิลิปทรงรักม้า และโปรดปรานกีฬาโปโลเป็นชีวิตจิตใจ อีกทั้งยังโปรดการแข่งขับรถม้าโบราณมาตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ แต่เพิ่งจะวางมือเมื่อตอนพระชนมายุ 65 ชันษา เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ
  • กิจกรรมยามว่างที่โปรดปรานอื่นๆ ได้แก่ การเล่นคริกเก็ต, การเข้าป่าส่องนก, เขียนหนังสือ, สะสมมีดพก และหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ ที่พระองค์ยังทรงสนพระทัยอยู่บ่อยครั้ง 

 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2021 สำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานว่า เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา ก่อนที่พระองค์จะมีพระชนมายุครบ 100 พรรษา ในวันที่ 10 มิถุนายนที่จะถึงนี้ หรือเพียงประมาณ 2 เดือนข้างหน้า สร้างความอาลัยให้กับราชวงศ์ ตลอดทั้งประชาชนทั่วโลกต่อการจากไปของพระองค์

 

แถลงการณ์จากสํานักพระราชวังบักกิงแฮม ประกาศการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2021

 

โดยแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมความว่า “ด้วยความเศร้าเสียใจอย่างยิ่ง สมเด็จพระราชินีนาถฯ ขอประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระสวามีอันเป็นที่รัก เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ ในช่วงเช้าวันนี้ (ตามเวลาอังกฤษ)”

 

โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แถลงการณ์จากสำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่า เจ้าชายฟิลิปทรงมีพระอาการประชวร และเริ่มเข้ารับการถวายการรักษาที่โรงพยาบาลคิง เอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในกรุงลอนดอน ด้วยภาวะติดเชื้อ โดยไม่ใช่อาการประชวรที่เกี่ยวเนื่องกับไวรัสโคโรนา โดยสำนักข่าว Sky News ระบุว่า เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระโอรสองค์เล็กของเจ้าชายฟิลิปและควีนเอลิซาเบธที่ 2 ประทานสัมภาษณ์ว่า “พระบิดาทรงมีพระอาการดีขึ้นมาก และรอวันที่จะได้เสด็จออกจากโรงพยาบาล” จากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักพระราชวังบักกิงแฮมก็ได้แถลงการณ์อีกครั้งว่า “ดยุกแห่งเอดินบะระเสด็จออกจากโรงพยาบาล หลังจากทรงเข้ารับการรักษาพระอาการติดเชื้อ และการผ่าตัดประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยพระองค์ทรงขอบคุณเจ้าหน้าที่การแพทย์ทุกคนที่ถวายการรักษา โดยทรงประทับรักษาพระวรกายอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นการประทับในโรงพยาบาลนานที่สุดของพระองค์ และในวันที่ 9 เมษายน 2021 สำนักพระบรมราชวังแห่งสหราอาณาจักรได้ประกาศว่า เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ สิ้นพระชนม์ ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา”

 

เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา สํานักพระราชวังบักกิงแฮมก็ได้แถลงการณ์อีกครั้งว่า “ดยุกแห่งเอดินบะระเสด็จออกจากโรงพยาบาล หลังจากทรงเข้ารับการรักษาพระ อาการติดเชื้อ และการผ่าตัดประสบความสําเร็จเป็นอย่างมาก” 

เครดิตภาพ: Reuters: Peter Cziborra

 

เจ้าชายฟิลิปมีพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1921 ในเกาะคอร์ฟู ประเทศกรีซ ในราชวงศ์กรีซและเดนมาร์ก ซึ่งแต่เดิมมีพระนามว่า เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก ในขณะนั้นระหว่างที่พระองค์ยังเป็นทารก ราชวงศ์ของพระองค์ต้องเสด็จลี้ภัยการเมืองออกจากราชอาณาจักรกรีซ ทำให้เจ้าชายฟิลิปเติบโตและได้รับการศึกษาในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร โดยอยู่ภายใต้การดูแลของพระญาติฝ่ายพระมารดา โดยได้เปลี่ยนนามสกุลแบบอังกฤษเป็น ‘เมานต์แบ็ตเทน’ ซึ่งแปลงมาจากนามสกุลเยอรมัน ‘บัทเทินแบร์ก’ อันเป็นนามสกุลเดิมของฝั่งพระมารดา จนเมื่อพระองค์เข้ารับราชการทหารในราชนาวีอังกฤษเมื่อปี 1939 ด้วยวัย 18 ชันษา ก็มีข่าวว่าทรงเริ่มพระหัตถเลขากับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งขณะนั้น 13 ชันษา

 

เมื่อพระชนมายุ 1 ชันษา ในเดือนกรกฎาคม ปี 1922 ณ ประเทศกรีซ 

เครดิตภาพ: Getty Images 

 

ขณะทรงเป็นทหารเรือ พระองค์ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยพระองค์เองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนับว่าพระองค์ทรงมีความอดทนและมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก กอปรกับในระหว่างที่พระองค์ทรงประจำการในกองทัพเรือนั้น ทรงมีพระหัตถเลขาถึงเจ้าหญิงเอลิซาเบธอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพระองค์คืบหน้าไปมาก ในที่สุดก็ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยราชนาวี ด้วยผลการเรียนเป็นอันดับหนึ่งของรุ่น ในปี 1940 จากนั้นไม่นานพระองค์ก็ได้เข้าร่วมประจำการในกองทัพเรืออังกฤษ โดยพระองค์ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง ปฏิบัติหน้าที่ในกองเรือเมดิเตอร์เรเนียนและกองเรือแปซิฟิก จนเมื่อเสร็จสิ้นสงคราม สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้มีพระราชานุญาติให้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ โดยก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 นั้น เจ้าชายฟิลิปต้องทรงสละฐานันดรทั้งหมดของกรีซและเดนมาร์ก เพื่อให้กลายเป็นสามัญชนและข้าแผ่นดินของสหราชอาณาจักร โดยใช้ชื่อและนามสกุลอังกฤษ ‘เมานต์แบ็ตเทน’ นามสกุลเดิมของฝั่งพระมารดา ก่อนที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้พระราชทานพระยศ His Royal Highness แก่เจ้าชายฟิลิป และทรงแต่งตั้งให้เป็นดยุกแห่งเอดินบะระ เอิร์ลแห่งเมอเรียเนธ และบารอน กรีนิช ในเวลาต่อมา

 

ในวัย 14 ชันษา ปี 1935 ขณะทรงศึกษาที่โรงเรียน Gordonstoun สหราชอาณาจักร เครดิตภาพ: Getty Images 

 

ภาพถ่ายของทั้งสองพระองค์ ในปี 1947 หลังจากที่ทั้งคู่ได้ประกาศหมั้นอย่างเป็นทางการ 

เครดิตภาพ: Getty Images 

 

หลังจากเสร็จสิ้นงานอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์ทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักคลาเรนซ์เฮาส์ไม่นาน ‘เจ้าหญิงเอลิซาเบธ’ ก็ทรงตั้งครรภ์ และให้กำเนิดพระโอรสองค์แรก คือ ‘เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์’ ตามมาด้วย ‘เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี’ ‘เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก’ และ ‘เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์’ ตามลำดับ

 

ทั้งสองพระองค์ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 

เครดิตภาพ: Getty Images 

 

เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ มีพระราชโอรส-ธิดากับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ รวมทั้งสิ้น 4 พระองค์ คือ เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ตามมาด้วย เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ ตามลําดับ

 

โดยเจ้าชายฟิลิปทรงรักในอาชีพทหารเรือเป็นอย่างยิ่ง และปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นชายชาติทหารด้วยความอุตสาหะ จนเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต ในปี 1952 ส่งผลให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธต้องขึ้นครองราชย์สืบราชบัลลังก์แทน และได้เข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน 1953 ทำให้ ‘ดยุกแห่งเอดินบะระ’ ต้องสละอาชีพทหารเรืออันเป็นที่รัก อีกทั้งลดพระอุปนิสัยโผงผางอย่างตรงไปตรงมาลง เพื่อสนับสนุนการปกครองราชอาณาจักรของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจในทุกด้าน 

 

ในปี 1951 ขณะพระองค์สนทนากับนักร้องและนักแสดงสาวชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง Frank Sinatra และ Ava Gardner ณ London’s Empress Club 

เครดิตภาพ: Getty Images

 

ขณะเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองราชย์สืบราชบัลลังก์ และเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 มิถุนายน 1953 

เครดิตภาพ: Getty Images 

 

พระองค์ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาแล้วนานับไม่ถ้วน และเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาแล้วกว่า 143 ประเทศ รายงานของสำนักพระราชวังบักกิงแฮมระบุว่า ‘ดยุกแห่งเอดินบะระ’ ทรงเป็นพระราชวงศ์วินด์เซอร์ที่ปฏิบัติพระกรณียกิจมากถึงปีละ 300 งาน และทรงเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์องค์กรการกุศลมากกว่า 800 องค์กร ซึ่งในปัจจุบันยังได้รับการบันทึกให้เป็น ‘ปรินซ์ คอนสอร์ต’ ที่อยู่เคียงข้างองค์พระประมุขยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษอีกด้วย

 

ในปี 1963 ขณะที่ทั้งสองพระองค์แย้มพระสรวล 

เครดิตภาพ: Getty Images 

 

เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่ง ราชวงศ์อังกฤษ ขณะเสด็จเยือนสาธารณรัฐมอลตา ในปี 1967 

เครดิตภาพ: Getty Images 

 

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ที่ใกล้ชิดของพระองค์ว่า ‘เจ้าชายฟิลิป’ ทรงรักม้า และโปรดปรานกีฬาโปโลเป็นชีวิตจิตใจ อีกทั้งยังโปรดการแข่งขับรถม้าโบราณมาตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ แต่เพิ่งจะวางมือเมื่อตอนพระชนมายุ 65 ชันษา เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ 

 

โดยมีกิจกรรมยามว่างที่โปรดปรานอื่นๆ ได้แก่ การเล่นคริกเก็ต, การเข้าป่าส่องนก, เขียนหนังสือ, สะสมมีดพก และหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ ที่พระองค์ยังทรงสนพระทัยอยู่บ่อยครั้ง ส่วนเมนูโปรดปรานของพระองค์ เชฟใหญ่ประจำราชวงศ์อย่าง ดาร์เรน แม็กเกรดี เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Hello! ของอังกฤษว่า เมนู Salmon Coulibiac และ Mushrooms à la Crème เป็นเมนูที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด 

 

เจ้าชายฟิลิปทรงรักม้ามาก โปรดกีฬาโปโลเป็นชีวิตจิตใจ และเริ่มทรงเล่นตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ 

เครดิตภาพ: AFP

 

ในปี 1947 ขณะทรงเล่นคริกเก็ต หนึ่งในกีฬาที่ทรงโปรดปราน ณ เมืองวิลต์เชอร์ (Wiltshire) 

เครดิตภาพ: Getty Images 

 

ทรงโปรดปรานการเขียนหนังสือและหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์

เครดิตภาพ: Getty Images / Douglas Miller

 

ทรงอยู่เตียงข้างสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ตลอดเวลา

เครดิตภาพ: AFP

 

ตลอดช่วงระยะเวลา 74 ปีที่เคียงข้าง นับตั้งแต่อภิเษกสมรส เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นพระสวามี ผู้คอยอยู่เบื้องหลังสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยความรัก

เครดิตภาพ: AFP

 

ปัจจุบันเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ได้รับการบันทึกให้เป็น ปรินซ์ คอนสอร์ต ที่อยู่เคียงข้างองค์พระประมุขยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

เครดิตภาพ: AFP

 

The Duke of Edinburgh 1921-2021

 

ตลอดระยะเวลา 74 ปี นับตั้งแต่พระองค์อภิเษกสมรส เจ้าชายฟิลิปนับเป็นพระสวามีผู้อยู่เคียงข้างสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยความรักและเสียสละ จนกระทั่งวาระสุดท้าย พระองค์ได้สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ สิริพระชนมายุรวม 99 พรรษา

 

โดยฐานันดรและพระอิสริยยศมีดังนี้

  • 10 มิถุนายน 1921 – 28 กุมภาพันธ์ 1947: เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก (His Royal Highness Prince Philip of Greece and Denmark)
  • 28 กุมภาพันธ์ 1947 – 19 พฤศจิกายน 1947: เรือเอก ฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน (Lieutenant Philip Mountbatten)
  • 19-20 พฤศจิกายน 1947: เรือเอก เซอร์ฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน (Lieutenant His Royal Highness Sir Philip Mountbatten)
  • 20 พฤศจิกายน 1947 – 22 กุมภาพันธ์ 1957: ฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน ดยุกแห่งเอดินบะระ (His Royal Highness Philip Mountbatten, Duke of Edinburgh) ในประเทศสกอตแลนด์: ฟิลิป เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลแห่งแมริโอเนธ (His Royal Highness Philip Mountbatten, Earl of Merioneth)
  • 22 กุมภาพันธ์ 1957 – 9 เมษายน 2021: เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (His Royal Highness The Prince Philip, Duke of Edinburgh)

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง: 

  • bbc.com 
  • th.wikipedia.org 
  • townandcountrymag.com 
  • hellomagazine.com 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising