×

นายกฯ เตรียมลงนามจองซื้อวัคซีนโควิด-19 กับแอสตร้าเซนเนก้า กลางปี 2564 คนไทยได้วัคซีน

โดย THE STANDARD TEAM
03.12.2020
  • LOADING...
นายกฯ เตรียมลงนามจองซื้อวัคซีนโควิด-19 กับแอสตร้าเซนเนก้า กลางปี 2564 คนไทยได้วัคซีน

วันนี้ (3 ธันวาคม) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการจองและซื้อวัคซีนโควิด-19 กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ทำให้คนไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ประมาณกลางปี 2564 

 

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมระบบบริหารจัดการรองรับ เพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งประเทศไทยมีประสบการณ์ดำเนินงานแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมามากกว่า 30 ปี จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นประเทศต้นแบบในการศึกษาดูงานด้านวัคซีน โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการกำหนดทิศทางบริหารจัดการ มีระบบอำนวยการ ประเมินผล และระบบการติดตามดูแลอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังจากการรับวัคซีน การขนส่งมีระบบรักษาความเย็น (Cold Chain) ที่ทำได้ดีมาก ที่ผ่านมาไม่เคยพบการฉีดวัคซีนปลอม หรือนำน้ำเกลือมาฉีดแทนแต่อย่างใด ขณะที่การลงไปฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องทำงานอย่างหนักในการเตรียมความพร้อมให้ความรู้บุคลากร ทำความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเราทำอย่างดีที่สุด ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีการให้วัคซีนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมาแล้ว เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบจำนวน 22 ล้านเข็ม ทำให้สามารถกำจัดโรคคอตีบจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ หรือโรคโปลิโอที่เคยเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างมากถูกกวาดล้างไป วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกช่วยลดอัตราเสียชีวิตปีละ 7,000 ราย หรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องปีละ 4 ล้านโดสต่อปี ช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันต่ำ แต่การป้องกันได้ ไม่ได้เกิดจากวัคซีนเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยมาตรการป้องกันส่วนบุคคลด้วย ได้แก่ Social Distancing การเว้นระยะห่าง Mask Wearing การสวมหน้ากาก Hand Washing การล้างมือ และ Rapid Testing การตรวจรักษาที่รวดเร็ว” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เป็นหน่วยงานหลักในการหาข้อมูลและความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่คนไทยไม่ช้ากว่าประเทศอื่น ตั้งเป้าให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากร ซึ่งการลงนามร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า จะได้วัคซีนครอบคลุมประมาณร้อยละ 20 ของประชากร คือ 13 ล้านคน จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งเป็นการจองซื้อบนเงื่อนไขการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาด้วย ส่วนการเจรจากับ COVAX Facility ขณะนี้ยังไม่มีการทำสัญญา อยู่ระหว่างการเจรจา ตั้งเป้าให้ได้วัคซีนครอบคลุมอีกร้อยละ 20 ของประชากร สำหรับร้อยละ 10 ของประชากรที่เหลือ จะพยายามประสานบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังคงสนับสนุนผู้พัฒนาวัคซีนภายในประเทศไทยด้วย

 

“สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่จะร่วมผลิตกับแอสตร้าเซนเนก้า มีแผนดำเนินงานร่วมกันชัดเจนเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีน ไม่มีการนำวัคซีนไปใช้ในเหตุผลอื่นที่ไม่ได้กำหนดแน่นอน และมีการควบคุมไม่ให้วัคซีนเกิดปัญหา เช่น การนำน้ำหรือน้ำเกลือมาสับเปลี่ยน แล้วนำวัคซีนจริงไปขาย ซึ่งก็คงไม่สามารถนำไปขายได้ เนื่องจากประชาชนทราบว่าวัคซีนนี้ดำเนินการและใช้งบประมาณภาครัฐ โดยฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยไม่คิดมูลค่า อย่างไรก็ตาม อาจมีภาคเอกชนที่จัดหาวัคซีนเข้ามาดำเนินการขายเอง ส่วนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ภาครัฐจะควบคุมคุณภาพมาตรฐาน โดยภาคเอกชนต้องนำวัคซีนมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปอีกว่า การเตรียมความพร้อมการรณรงค์ให้วัคซีนโควิด-19 มี 6 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. การเตรียมวัคซีนโควิด-19 เช่น การทำสัญญาซื้อ-ขาย จัดทำของบประมาณ จัดซื้อวัคซีน พัฒนาระบบการเบิกจ่ายและบริหารวัคซีน การเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีน และตรวจสอบคุณภาพ Lot Release 

 

  1. การเตรียมสถานพยาบาล ทั้งอุปกรณ์สำหรับการฉีด ระบบลูกโซ่ความเย็น ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และสำรวจกลุ่มเป้าหมายและลงทะเบียนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการพิจารณากลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วเสี่ยงเสียชีวิตสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือกลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายสูง โดยมีคณะกรรมการพิจารณา ไม่ขึ้นกับคนใดคนหนึ่งมาสั่งการได้

 

  1. สื่อสารประชาชนให้เข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายใดที่ควรรับวัคซีน ให้ความรู้ประชาชนเรื่องวัคซีนก่อนรับบริการ ประกาศรณรงค์ 

 

  1. การรณรงค์ฉีดวัคซีน โดยจัดส่งไปยังหน่วยบริการทุกแห่ง ซึ่งมีองค์การเภสัชกรรมดำเนินการจัดส่งวัคซีนตามปกติอยู่แล้ว นัดหมายประชาชนกลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน โดยอาจฉีดในสถานพยาบาลหรือเข้าไปฉีดในชุมชน พร้อมรายงานและติดตามผลการให้บริการ 

 

  1. การติดตามผลการให้วัคซีน โดยมีการติดตามผลเป็นรายสถานพยาบาลและรายสัปดาห์ กำหนดเป้าหมายการให้บริการมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หารือแนวทางให้วัคซีนเพิ่มเติมในพื้นที่เข้าถึงยาก

 

  1. ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน ซึ่งจะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมาทบทวน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X