วันนี้ (15 พฤษภาคม) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
โดย พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการปรับมาตรการบังคับใช้กฎหมายตามที่คณะกรรมการเสนอ ดังนี้
- ลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวเป็นระหว่างเวลา 23.00-04.00 น.
- ยังคงมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งทางบก อากาศ และน้ำ เช่นเดิม
- งดหรือชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด
- ขอให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนการใช้แอปพลิเคชัน ‘ไทยชนะ’ ในการเสริมมาตรการป้องกันโรค
โดยย้ำถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทุกส่วนต้องมีชุดข้อมูลที่สอดคล้องกัน เพื่อใช้ในระบบออนไลน์ หลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการรับชุดข้อมูลที่ต่างกัน ทั้งนี้ ให้หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สู่ประชาชนทุกด้านที่ได้ดำเนินการไป การป้องกัน และควบคุมโรค ทั้งความร่วมมือภายในประเทศและความร่วมมือกับต่างประเทศ ตลอดจนแผนงานที่กำหนดไว้ในอนาคต ทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจ การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยในชาติ
โดยในการประชุมครั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ มีข้อพิจารณาและข้อสั่งการสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน เมื่อประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ส่งเสริมให้มาตรการของรัฐสัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะในการก้าวเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งในเรื่องการจัดระบบ Social Distancing มาตรการควบคุมต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งล้วนกระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน และประชาชนต้องเข้าใจถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีต หรือ New Normal ซึ่งประเทศไทยสามารถวางแผนในการปรับเปลี่ยนระบบการดำรงชีวิตสู่ชีวิตวิถีใหม่ได้ด้วยศักยภาพของประเทศไทย การยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย ก็จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสของประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ เช่น ปรากฏการณ์เรื่องตู้ปันสุข ซึ่งได้รับการชื่นชม เผยแพร่ไปทั่วโลกถึงความมีน้ำใจของคนไทยต่อกัน พล.อ. ประยุทธ์ เชื่อว่า มาตรการทางสังคมจะช่วยให้การดำเนินการผ่อนปรนมาตรการและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างราบรื่น สังคมจะช่วยกันสอดส่องและต่อต้านผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมาะสม ขอให้สังคมไทยยึดมั่นในความดี แบ่งปัน และช่วยเหลือกัน
นอกจากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ สั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงออกแบบวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว ให้ไปศึกษาสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมไว้รองรับ รวมทั้งยังได้ห่วงกังวลสถานประกอบการ ได้แก่ โรงแรม ซึ่งเป็นประเภทของกิจการที่ส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย เช่น การบริการ อาหาร แรงงาน การประกาศให้งดจัดอบรม สัมมนา ทำให้ผู้ประกอบการขาดรายได้ ขอให้หน่วยงานไปพิจารณาหาแนวทางสนับสนุนช่วยเหลือ
ส่วนการตัดสินใจเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เป็นความจำเป็นเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ก็เป็นความกังวลใจของพวกเราทุกคนที่จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 (Second Wave)
ดังนั้น นอกจากการใช้มาตรการบังคับ ขอให้ระดมความร่วมมือจากภาคสื่อสารมวลชนทั้งหมดในสังคม ในการให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับ ให้สื่อมวลชนรับชุดข้อมูลเดียวกัน และช่วยรัฐบาลในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเสริมกลไกและช่องทางการสื่อสารของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น การให้ข้อมูลการคาดการณ์ว่า หากรัฐไม่ดำเนินมาตรการเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา ประมาณการผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะสูงเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือทุกฝ่าย และการเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 หากไม่ดำเนินมาตรการควบคุมตัวเลขคาดการณ์ผู้ติดเชื้อจะเป็นเท่าใด เป็นต้น
ส่วนการดำเนินมาตรการผ่อนปรนภายหลังการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย และศูนย์ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องใน ศบค. ศึกษาเปรียบเทียบความจำเป็นในการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับกรณีหากใช้กฎหมายปกติ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อเป็นข้อพิจารณาให้กับคณะกรรมการ ศบค. ในการประกาศขยายเวลาหรือยกเลิกการประกาศ ใช้พระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะต่อไป ตลอดจนสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการรายงานการเตรียมความพร้อมสำหรับกำหนดการเปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคมในการประชุมครั้งต่อไป และให้กระทรวงสาธารณสุขจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมแก่โรงเรียนต่างๆ
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ห่วงกังวลต่อการดูแลเด็กเล็กในโรงเรียนและสถานศึกษา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาแนวทางเกี่ยวกับการเปิดเรียน การเรียนออนไลน์ และการเรียนเหลื่อมเวลา หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม ตลอดจนสั่งการให้เร่งการประชาสัมพันธ์กำหนดการสอบเข้าโรงเรียนในระดับ ม.1 และ ม.4 ให้ทราบกันอย่างทั่วถึง โดยจะให้มีการเปิดสอบระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2563
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum