“จิตสำนึกของคนเรา พระพุทธองค์ทรงแบ่งแยกเปรียบเหมือนดอกบัวสี่เหล่า คนบางคนสอนได้ คนบางคนสอนยาก โยมอยากเป็นดอกบัวประเภทไหน” – หลวงตาชื่น (นำแสดงโดย สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์) จากภาพยนตร์ นาคปรก (2553)
แม้ว่าประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ให้มีการจัดเรตติ้งผู้เข้าชมภาพยนตร์ แต่ถึงอย่างนั้นชะตากรรมหนังไทยก็จะยังคงเหมือนติดอยู่ในบ่วงโซ่ เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังมีมาตรา 26 (7) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการฯ จัดภาพยนตร์ให้อยู่ในประเภท ‘ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร’ (เรต ‘ห’ ) ได้ นอกจากนี้แล้ว ในมาตรา 29 ยังให้อำนาจ ‘ไม่อนุญาตให้ฉาย’ หากคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ขัดต่อศีลธรรมอันดีได้อีกด้วย
“ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับศาสนานั้นเป็นเรื่องที่อ่อนไหวเสมอ”
ล่าสุดจากกรณีที่ภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 คือข้อพิพาทชวนงงครั้งล่าสุด หลังจากหนังได้ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ มีมติ ‘ห้ามฉาย’ ในราชอาณาจักร ด้วยเหตุผล ‘ประเด็นความอ่อนไหวทางศาสนา’
และล่าสุดในช่วงบ่ายของวันนี้ (22 พฤศจิกายน) แม้ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 จะได้รับการพิจารณารอบ 2 จากกองเซนเซอร์ ‘ให้ผ่าน’ และได้เรตภาพยนตร์ 15+ โดยจะมีการตัดฉาก ‘ล่อแหลม’ ออกไปในเวอร์ชันฉายในโรงภาพยนตร์
ซึ่งเมื่อย้อนในหน้าประวัติศาสตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ถือเป็นการย้ำรอยตะเข็บเดิมจากที่หนังไทยอย่าง อาปัติ เคยเจอมาแล้ว นั่นคือการจำยอม ‘หั่น’ เพื่อให้หนังของตนยังมีอนาคตในโรงฉาย
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้หนัง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 หลังผ่านการพิจารณา THE STANDARD POP จะพา ‘เดินย้อนเส้นทางผ้าเหลือง’ ในภาพยนตร์ไทย ว่าเคยมีหนังเรื่องใดเข้าฉาย และมีเรื่องใดบ้างที่เจอวิบากกรรมเช่นเดียวกันนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
2523: หลวงตา (2523)
กำกับโดย เพิ่มพล เชยอรุณ ครองผ้าเหลืองโดย ล้อต๊อก
2545: 15 ค่ำ เดือน 11
กำกับโดย จิระ มะลิกุล ครองผ้าเหลืองโดย นพดล ดวงพร
2546: โอเค เบตง
กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร ครองผ้าเหลืองโดย ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง
2548: หลวงพี่เท่ง
กำกับโดย บำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) ครองผ้าเหลืองโดย พงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ (เท่ง เถิดเทิง)
2549: โกยเถอะโยม
กำกับโดย จตุรงค์ พลบูรณ์ (จาตุรงค์ มกจ๊ก) ครองผ้าเหลืองโดย จตุรงค์ พลบูรณ์
2549: มากับพระ
กำกับโดย อุดม อุดมโรจน์ ครองผ้าเหลืองโดย อ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน
2551: หลวงพี่เท่ง 2 รุ่นฮาร่ำรวย
กำกับโดย โน้ต เชิญยิ้ม ครองผ้าเหลืองโดย อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต (โจอี้ บอย)
2551: อรหันต์ ซัมเมอร์
กำกับโดย ภวัต พนังคศิริ ครองผ้าเหลืองโดย ธัชพล ชุมดวง, กฤษกร ทรัพย์สงวน,ปดลเดช กมลาศัยกุล, โชติพัฒน์ ไชยรัตน์, ไชยธวัช คงมีสุข, ปฏิภาณ กมลาศัยกุล
(X กระแสต่อต้าน) 2553: นาคปรก
กำกับโดย ภวัต พนังคศิริ ห่มผ้าเหลืองโดย สมชาย เข็มกลัด, เรย์ แมคโดนัลด์, ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์
หนังใช้เวลาปรับแก้บทนานกว่า 3 ปี เนื่องการพล็อตเรื่อง ‘โจรชั่ว 3 คนปลอมตัวมาบวชเป็นพระ’ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อสังคมไทยที่สุดเมื่อเตรียมจะเข้าฉาย หนังก็เกิดกระแสต่อต้าน โดยสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์ พร้อมกับองค์กรอาสาสมัครเพื่อสันติภาพโลก ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงวัฒนธรรมให้ห้ามการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยอ้างว่าหนังจะทำให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เสื่อมเสีย ที่สุด นาคปรก ได้เข้าฉาย โดยการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ประเภท น 18+
2553: หลวงพี่เท่ง 3 รุ่นฮาเขย่าโลก
กำกับโดย บำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) ครองผ้าเหลืองโดย กฤษดา สุโกศล แคลปป์ (น้อย วงพรู)
2554: ศพไม่เงียบ
กำกับโดย ทอม วอลเลอร์ นำแสดงโดย วิทยา ปานศรีงาม, เวย์ ไทเทเนียม
2557: นะโม OK
กำกับโดย ฐิติพงศ์ ใช้สติ (เอิร์น) ครองผ้าเหลืองโดย อดัม ซีมา (อดัม)
(X แบน) 2558: อาปัติ
กำกับโดย ขนิษฐา ขวัญอยู่ ครองผ้าเหลืองโดย แน็ก-ชาลี ไตรรัตน์
ภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ เดิมชื่อ ‘อาบัติ’ หลังจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เนื่องจากมีภาพที่รุนแรงและไม่เหมาะสม เชิงดูหมิ่นศาสนาพุทธ โดยมีภาพสามเณรในขณะเสพของมึนเมา สามเณรจับเศียรพระพุทธรูปในลักษณะไม่ให้ความเคารพ ฯลฯ หลังจากปรับปรุงแก้ไขฉากบางส่วนออกไป หนังผ่านการพิจารณาในครั้งที่ 2 โดยได้เรตภาพยนตร์ 18+
**อาปัติ ได้รับการคัดเลือกในฐานะภาพยนตร์ของประเทศไทย เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best Foreign Language Film) ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 89
2559: หลวงพี่แจ๊ส 4G
กำกับโดย อรหัง สัมมา (พชร์ อานนท์) ครองผ้าเหลืองโดย ผดุง ทรงแสง (แจ๊ส ชวนชื่น)
2559: ธุดงควัตร
กำกับโดย บุญส่ง นาคภู่ ครองผ้าเหลืองโดย พระกัมมัฏฐาน ปวตฺตโน, ยะสะกะ ไชยสร
2561: หลวงพี่แจ๊ส 5G
กำกับโดย พชร์ อานนท์ ครองผ้าเหลืองโดย ผดุง ทรงแสง (แจ๊ส ชวนชื่น)
(X ห้ามฉาย) 2561: ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2
กำกับโดย สุรศักดิ์ ป้องศร ครองผ้าเหลืองโดย ชาติชาย ชินศรี
หนังไทยเรื่องล่าสุดที่ไม่ผ่านการพิจารณา โดยมีมติ ‘ห้ามฉาย’ ในราชอาณาจักร โดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลสั้นๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำ ‘ประเด็นความอ่อนไหวทางศาสนา’
ภาพประกอบ: Pichamon W.