×

เดือนไพรด์ในไทย กับการสร้างความภูมิใจในภาวะโรคระบาดและโลกแห่งอคติ

02.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • แม้จะไม่ได้มีการรวมตัวกันในแบบเห็นหน้า แต่ทราบกันดีว่าการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในกลุ่มเพศหลากหลาย (LGBTIQ2) และการเสนอประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี (SOGIE) ต่างหันมาใช้สื่อใหม่ เป็นสื่อสังคมออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนและนำเสนอประเด็นการต่อสู้สิทธิของผู้ที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
  • ช่วงกักตัวและรักษาระยะห่างในประเทศไทย ทุกคนต้องอยู่บ้านตามข้อปฏิบัติทางสาธารณสุข แม้ข้อดีที่สุดคือการลดการกระจายเชื้อ แต่ในทางตรงกันข้ามเราพบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น และการตีตราสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่สามารถเข้าบ้านได้ หลายคนหายแล้วแต่กลับบ้านไม่ได้ หลายคนกลับบ้านแต่ถูกรังเกียจจากชุมชน การตีตราจึงเกิดเป็นการกีดกันแบบที่เคยเกิดขึ้นในการรักษาเอชไอวี 
  • สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 คือการออกมาเรียกร้องและต่อต้านการเลือกปฏิบัติ แม้จะพูดกันมากเรื่องฐานวิถีชีวิตใหม่ แต่เรื่องอคติยังไม่ไปไหนและยังคงอยู่ ความเท่าเทียมจะถูกพูดมากขึ้นในระดับชุมชน เพราะด้วยความกดขี่ที่เกิดขึ้นมายาวนานจากรัฐบาล

กระแสของงานไพรด์ (Pride Month) เดือนแห่งการฉลองและนำเสนอประเด็นเพื่อสิทธิเพศหลากหลายทั้งในระดับชุมชนและนานาชาติ จากภาวะโรคระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมหลายอย่างที่เคยมีต้องถูกยกเลิกและเลื่อนออกไป รวมถึงการปรับรูปแบบให้เป็นออนไลน์แบบ Virtual 

 

แม้จะไม่ได้มีการรวมตัวกันในแบบเห็นหน้า แต่ทราบกันดีว่าการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในกลุ่มเพศหลากหลาย (LGBTIQ2 ) และการเสนอประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี (SOGIE) ต่างหันมาใช้สื่อใหม่ เป็นสื่อสังคมออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนและนำเสนอประเด็นการต่อสู้สิทธิของผู้ที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

 

การตีตรายังเป็นสิ่งที่กลุ่มเพศหลากหลายยังเผชิญอยู่ ความเป็นเพศจึงไม่ได้เป็นจุดเดียวที่คนนำมาเหยียดกัน ที่ผ่านมาการเหยียดความเป็นผู้หญิง การเหยียดกะเทยมีมาต่อเนื่อง การตีแผ่ปัญหานี้มีให้เห็นมากขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558 (Gender Eqaulity Act B.E. 2558) การมีกลไกภาครัฐรับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิและการเลือกปฏิบัติทางเพศของภาครัฐจึงเป็นอีกช่องทางที่ทำให้คนไทยนึกถึงและเข้าถึงการพิจารณาต่อปัญหาการกระทำที่เลือกปฏิบัติ 

 

ในการร้องเรียนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเชิงนโยบายจึงมีให้เห็นมากขึ้น เช่น การร้องเรียนกรณีให้แต่งกายตามเพศสถานะในการรับปริญญา และการแต่งกายตามเพศสภาพในการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เป็นต้น สิ่งที่ถูกพูดกันมากขึ้นตอนนี้คือ การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันที่จะต้องถูกรับรองจากรัฐ และกฎหมายการรับรองเพศ สำหรับคนข้ามเพศในประเทศไทย

 

ฉะนั้นการคิดเรื่องกฎหมายคุ้มครองจึงมีให้เห็นชัดขึ้น หากแต่ในระดับบุคคลกลับพบว่ามีจำนวนเรื่องร้องเรียนไม่มาก เป็นเพราะการร้องเรียนระดับปัจเจกเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนของตัวผู้ที่เลือกปฏิบัติและผู้กระทำการเลือกปฏิบัติ เป็นเรื่องอำนาจและความปลอดภัย ประเด็นที่พบมากที่สุดของการร้องเรียนคือการจ้างงาน 

 

หลายตำแหน่งในหลายองค์กรเปิดรับสมัครงานที่ระบุเพศน้อยลง คนข้ามเพศ/กะเทย เมื่อไปสมัครงานจะประสบปัญหามากที่สุด ด้วยเรื่องของเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด การตัดสินรับคนเข้าทำงานโดยที่ไม่มองความสามารถและคุณสมบัติของผู้สมัครจึงยังมีอยู่ ในภาครัฐที่มีการอ้างข้อจำกัดว่าด้วยระเบียบราชการ และภาคเอกชนที่ยังมีเรื่องอคติทางเพศ ส่งผลให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิในการจ้างงานของกลุ่มเพศหลากหลาย และการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่ใช้เรื่องเพศกำเนิดมาตัดสิน การตีตราและการผลิตซ้ำเรื่องเพศหลากหลายส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย

 

ข้อกำจัดการเข้าถึงงานจึงทำให้เกิดช่องว่างที่กลายเป็นความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงทรัพยากรด้วย บุคคลที่เป็นเพศหลากหลายเผชิญกับการละเมิดมาตั้งแต่ครอบครัวและการเรียนในระบบการศึกษา เมื่อครอบครัวและโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย การพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจจึงยังไม่เกิด บวกกับความคิดแบ่งแยกคนออกจากกลุ่ม และลงโทษยังมีให้เห็น พ่อแม่และครูเลือกใช้การกีดกันและการลงโทษซ้ำๆ จึงทำให้การเปิดเผยตัวตนทางเพศของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องการกลัวสังคม หลายกรณีจึงมีการละเมิดสิทธิเด็ก การเกิดขึ้นของคลินิก LGBTIQ ในไทยจึงเป็นตัวสะท้อนว่าการมีทีมวิชาชีพที่มาทำงานกับกลุ่มเพศหลากหลายมีจำเป็นในการรักษาชีวิตและคุ้มครองเด็กและเยาวชนต่อการปฏิบัติที่ไม่ดีจากผู้ปกครองและครูที่ไม่มีมิติความละเอียดอ่อนทางเพศ

 

ช่วงกักตัวและรักษาระยะห่างในประเทศไทย ทุกคนต้องอยู่บ้านตามข้อปฏิบัติทางสาธารณสุข แม้ข้อดีที่สุดคือการลดการกระจายเชื้อ แต่ในทางตรงกันข้ามเราพบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น และการตีตราสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่สามารถเข้าบ้านได้ หลายคนหายแล้วแต่กลับบ้านไม่ได้ หลายคนกลับบ้านแต่ถูกรังเกียจจากชุมชน การตีตราจึงเกิดเป็นการกีดกันแบบที่เคยเกิดขึ้นในการรักษาเอชไอวี 

 

จากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมด้วยอย่างประจักษ์อยู่ทุกวันนี้ ทั้งครอบครัว แรงงาน การขาดรายได้ เด็กและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มเพศหลากหลาย สิ่งที่น่าคิดคือ ทั้งการดูแลคนในบ้านให้ปลอดภัยเพราะความไม่เข้าใจเรื่องช่วงวัยและเพศจนทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น

 

30 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงต่อความเข้าใจเรื่องเพศหลากหลาย จาก 17 พฤษภาคม 1990 องค์การอนามัยโลกได้ถอดถอนการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีจำแนกโรค เพื่อทำให้เห็นว่าการรักเพศเดียวกันไม่ได้เป็นโรค แม้ผ่านมาแล้ว 30 ปี การสร้างความรู้ยังไม่หยุดนิ่ง อคติยังมีอยู่กับกลุ่มคนเพศหลากหลาย การเลือกปฏิบัติมีความซับซ้อนและกีดกันคน ความรุนแรงมีมากขึ้นด้วยความซับซ้อนจากศาสนา วัฒนธรรม สีผิว ดังนั้นเส้นทางการต่อสู้ของสิทธิเพศหลากหลายจึงถูกคลี่ให้เห็นรากแห่งปัญหานี้ 

 

ในสหรัฐอเมริกาการถูกเบียดขับจากสังคมในช่วงปี 1980-1990 การเป็นเพศหลากหลายถูกกีดกันจากการมีอคติกับเอชไอวี/เอดส์ การเป็นคนผิวสีที่ถูกเลือกปฏิบัติและประสบกับความรุนแรง ในหลายกรณีมีการฆาตกรรมและความรุนแรง ในกลุ่มคนข้ามเพศถูกฆาตกรรมในจำนวนที่มากขึ้น แถบลาตินอเมริกามีตัวเลขของการฆ่าสังหารด้วยเหตุแห่งความเกลียดชังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในภูมิภาคเอเชียมีคนข้ามเพศอพยพยย้ายถิ่นมากขึ้นตามไปด้วยเพื่อหลีกหนีจากความรุนแรงและการรักษาชีวิต 

 

จากตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นผลของการมีอยู่ของอคติและการเลือกปฏิบัติ ผลกระทบจากชุดความคิดแห่งการลดทอนความเป็นมนุษย์นี้จึงเป็นข้อท้าทายต่อสังคมไทยที่ยังต้องการสร้างความเข้าใจเรื่องความแตกต่างความหลากหลายให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย

 

ร่างกฎหมายเพื่อคนเพศหลากหลายถูกเร่งเร้าให้เกิดการผลักดันสู่สภาฯ ความต้องการเป็นเรื่องจำเป็นต่อชีวิตและความมั่นคงของมนุษย์ การคุ้มครองผ่านกฎหมายเป็นหลักที่จะให้ปัญหาของการละเมิดถูกคุ้มครองในระดับชาติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 คือการออกมาเรียกร้องและต่อต้านการเลือกปฏิบัติ แม้จะพูดกันมากเรื่องฐานวิถีชีวิตใหม่ แต่เรื่องอคติยังไม่ไปไหนและยังคงอยู่ ความเท่าเทียมจะถูกพูดมากขึ้นในระดับชุมชน เพราะด้วยความกดขี่ที่เกิดขึ้นมายาวนานจากรัฐบาล

 

การขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ก็เหมือนกับความเข้าใจเรื่องเพศที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง เพื่อยุติอคติ การตีตราและการเลือกปฏิบัติ แม้ว่าความรู้ทั้งทางการศึกษา ภาคการเมืองและภาคประชาสังคมยังไม่อาจสามารถอธิบายได้ให้ครอบคลุมเรื่องของการทำความเข้าใจสิทธิมนุษยชนของ LGBTIQ โดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่อมั่นในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ย่อมเชื่อมั่นว่าหนทางการเกิดขึ้นของพื้นที่การผลักดันนั้นย่อมต้องมีอย่างแน่นอน 

 

การเตรียมความพร้อมด้วยการรวบรวมเอาความรู้ความเข้าใจ ร่องรอยจากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็จะช่วยทำให้มีฐานคิดและมุมมองต่อการเรียนรู้เพศวิถีได้มากขึ้น 

 

สิ่งที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ยังคงต้องเร่งสร้างฐานข้อมูล และรวบรวมเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ อาศัยการวิพากษ์วิจารณ์ การสะท้อนความรู้คิดจากชุมชนเพศหลากหลายในสถานการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยทำให้เกิดเป็นพลังอ้างอิงที่น่าที่เชื่อถือ และพัฒนาให้ LGBTIQ รู้เท่าทันตนเอง มีกำลังใจ และทำให้สังคมได้ภาคภูมิใจกับความเป็น ‘มนุษย์’

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X