เป็นความจริงที่ว่า ‘ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย’ มีมูลค่าเพียง 3% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด ขณะเดียวกันประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดได้แก่ จีน 25%, เกาหลีใต้ 22% และอังกฤษ 22% ตามลำดับ
หมายความว่า ถึงแม้คนไทยจะรู้สึกว่ากระแสการซื้อขายออนไลน์เป็นที่นิยม แต่หากดูจากสถิติประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ยังสามารถเติบโตได้อีกอย่างต่อเนื่อง
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด หรือ Priceza กล่าวถึงมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2562 มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ได้ผลักผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอาจพุ่งสูงถึง 220,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 35% จากปีก่อนหน้า
เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูล ETDA สัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer-to-Consumer) ในปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าช่องทาง E-Marketplace เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคนิยมใช้ในการซื้อของออนไลน์ในสัดส่วนมากขึ้น จากปี 2561 อยู่ที่ 35% เติบโตมาเป็นสัดส่วนมากถึง 47% ในปี 2562 นอกจากนี้สัดส่วนของช่องทาง Social Media และ E-tailer/Brand.com มีมูลค่าลดลงตามสัดส่วน
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2563 จากผลพวงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม มีตัวเลขเติบโตถึง 34% สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน โต 35% หนังสือโต 27% เครื่องใช้ไฟฟ้าโต 22% คอมพิวเตอร์โต 4% และ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ภายในบ้านโต 2%
เมื่อเจาะลึกสินค้าในกลุ่มสุขภาพและความงาม พบว่า สินค้าที่มีปริมาณความต้องการมากที่สุดได้แก่ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ผู้คนต่างวิตกกังวลกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงต้องการสินค้าที่ช่วยในเรื่องของการป้องกันเชื้อโรค
ขณะเดียวกันมีกลุ่มสินค้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ต้องมีสินค้าที่มีความนิยมลดลงเช่นกัน โดยสินค้าที่มีความต้องการลดลง ได้แก่ สินค้าหมวดเสื้อผ้าและแฟชั่น ลดลง 41% เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด หลายบริษัทต้อง Work from Home ประชาชนต้องลดการออกไปในที่สาธารณะ จึงทำให้สินค้าประเภทนี้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรองเท้ากีฬา เป็นสินค้าในหมวดที่ยอดความสนใจซื้อลดลงถึง 58% เลยทีเดียว
“จากนี้ต่อไป การขายอีคอมเมิร์ซจะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจค้าขายในยุคหลังโควิด-19” ธนาวัฒน์กล่าวสรุป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum