เริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/63 ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ในไทย โดยกลุ่มธุรกิจแรกที่มักจะประกาศออกมาคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยประกาศภายในช่วงต้นสัปดาห์นี้
จากการประเมินของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มแบงก์อย่าง ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ คาดว่า กำไรรวมของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของ บล.ทรีนีตี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทหารไทย (TMB) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) จะมีกำไรสุทธิรวม 24,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาส 3/63 แต่ยังคงลดลง -26% จากปีก่อน
โดยปัจจัยกดดันหลักในไตรมาสนี้มาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปลายปีที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แต่มีปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักมากกว่า คือรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์ประเภทประกันและกองทุนในช่วงปลายปี บวกกับภาวะตลาดทุนที่ดีขึ้น จึงทำให้คาดว่าจะมีกำไรจากการ Mark-to-market สำหรับเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ด้านค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ (ECL) รวมของกลุ่ม คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากแต่ละธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้ในระดับสูงในช่วง 9 เดือนแรก ไประดับหนึ่งแล้ว
“จากการตั้งสำรองค่อนข้างมากแล้วในปี 2563 ขณะที่ NPL ในช่วงไตรมาส 3 ปีก่อน แทบจะไม่ปรับขึ้น มองว่าทางแบงก์สามารถบริหารจัดการ NPL ได้ระดับหนึ่ง จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้เรามองภาพว่า NPL ปีนี้จะทยอยขึ้นมากกว่าปรับขึ้นแรง ประกอบกับการตั้งสำรองหนี้น่าจะลดลง ทำให้กำไรของกลุ่มแบงก์ในปี 2564 น่าจะฟื้นได้ราว 28%”
โดยธนาคารที่คาดว่าจะมีกำไรดีขึ้นโดดเด่นสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ BBL +41% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากในไตรมาสก่อนมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว จากการควบรวมธนาคาร Permata ในอินโดนีเซีย ราว 4 พันล้านบาท ส่วนธนาคารที่มีกำไรเติบโตโดดเด่นรองลงมา ได้แก่ SCB +24% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสก่อนได้มีการตั้งสำรองหนี้ในระดับสูงไปแล้ว
สำหรับธนาคารที่คาดว่ากำไรจะอ่อนตัวลงได้แก่ KBANK ลดลง 10% เนื่องจากคาดว่าสำรองหนี้อาจเพิ่มขึ้นบ้างหลังลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 จะครบกำหนดในไตรมาสนี้
ในเชิงกลยุทธ์ หากต้องเลือกลงทุนตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ยังคงมองไปยัง BBL ที่จะเห็นการฟื้นตัวรายไตรมาสดีสุด และยังซื้อขายด้วย P/BV ค่อนข้างต่ำที่ระดับประมาณ 0.63 เท่า
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า คงน้ำหนักการลงทุนเชิงบวก (Bullish) สำหรับกลุ่มธนาคาร เนื่องจาก ธปท. ให้ธนาคารสามารถจ่ายเงินปันผลงวดปี 2563 หลังประเมินธนาคารมีเงินกองทุน และ Coverage Ratio แข็งแกร่ง ประกอบกับเรามองข้ามผลการดำเนินงานไตรมาส 4/63 ที่ไม่สดใส
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 4/63 ของธนาคาร 7 แห่งภายใต้การวิเคราะห์ ได้แก่ KBANK, BBL, SCB, KTB, TISCO, TMB รวมถึง บมจ.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) จะมีกำไรรวม 2.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 8% จากไตรมาสก่อน และลดลง 40% จากปีก่อน
หากพิจารณาการประเมินของ บล.โนมูระ พัฒนสิน เพียง 6 ธนาคาร เช่นเดียวกับ บล.ทรีนีตี้ พบว่ากำไรรวมของทั้ง 6 ธนาคารจะลดลง 36.6% จากปีก่อน และลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อน สำหรับแรงกดดันต่อกำไรเกิดจากค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง และผลกระทบจากฐานกำไรเงินลงทุนสูงในไตรมาส 4/62
ทั้งนี้ ผลประกอบการในรายธนาคาร คาดว่าธนาคารส่วนใหญ่ผลกำไรจะลดลงจากไตรมาส 3/63 เช่นกัน ยกเว้น BBL และ TISCO ส่วน KBANK คาดว่าจะเป็นธนาคารที่กำไรหดตัวรายไตรมาสมากที่สุด
ขณะที่แนวโน้มในปี 2564 คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคาร 7 แห่ง จะมีกำไรรวมเพิ่มขึ้น 14% อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยมีหุ้นเด่นอย่าง BBL และ KBANK ซึ่งในช่วง 9 เดือนของปี 2563 ได้ตั้งสำรองจำนวนมากไปแล้ว ทำให้กำไรปี 2564 จะฟื้นตัวเด่นที่สุด
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ระดับ 2.6% จึงคาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจบันทึกกำไรสุทธิในปี 2564 ที่ระดับ 1.48-1.54 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3-7% เมื่อเทียบกับฐานระดับกำไรสุทธิที่ต่ำของปี 2563 จากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19
ประกอบกับมีแรงหนุนจากการตั้งสำรองฯ ที่ลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งตั้งสำรองฯ ไปมากแล้วเมื่อปีก่อน นอกจากนี้ในปี 2564 ยังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท. ในกรณีที่สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพอาจขยับขึ้นต่อเนื่อง ตอกย้ำสถานะของ NPLs ซึ่งเป็นเครื่องชี้ตามหลังเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์อาจขยับขึ้นต่อเนื่องไปที่ 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการสิ้นปี 2563 ที่ 3.35% ของสินเชื่อรวม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์