×

ทำอย่างไรไม่ให้โดนล้วงข้อมูลส่วนตัวบน Facebook

23.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การเลือกเล่นควิซทายใจ แอปพลิเคชันและเกมต่างๆ รวมถึงการสร้างบัญชีผู้ใช้งานของแอปฯ ผ่านเฟซบุ๊กคือ การสมัครใจแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับบริษัทหรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านั้นด้วยตัวเองตั้งแต่แรก
  • สามารถเข้าไปเลือกตั้งค่าการแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับแอปพลิเคชันอื่นๆ ได้ในหมวด Privacy Shortcuts
  • ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน ให้สัมภาษณ์กับรายการ THE STANDARD Daily ว่าเหตุการณ์เฟซบุ๊กถูกกล่าวหาทำข้อมูลผู้ใช้งาน 50 ล้านคนหลุดออกไปคือการตอกย้ำว่าข้อมูลของเราที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้ปลอดภัย 100% และยังทำให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น

ตอนนี้กระแส #DeleteFacebook กำลังมาแรงมากๆ จนทำให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหลายรายเริ่มชั่งใจว่าควรจะลบบัญชีผู้ใช้และแอปพลิเคชันโชเชียลมีเดียนี้หรือไม่ เพราะกังวลว่าตนจะถูกล้วงข้อมูลบนเฟซบุ๊กเหมือนกรณีที่ Cambridge Analytica ถูกกล่าวหาว่านำข้อมูลส่วนตัวของคนใช้เฟซบุ๊ก 50 ล้านรายออกไปใช้หาผลประโยชน์เข้าบริษัท  

 

เอาเข้าจริงการลบแอปฯ เฟซบุ๊กและบัญชีผู้ใช้งานออกไปอาจจะเป็นการหักดิบเกินไป โดยเฉพาะถ้าคุณยังจำเป็นต้องใช้โซเชียลมีเดียในการทำงานหรือติดต่องานอยู่ มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ถูกผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันเจ้าอื่นสามารถล้วงข้อมูลส่วนตัวของเราออกไปได้

 

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการที่คุณเลือกเล่นควิซทายใจ แอปพลิเคชันและเกมต่างๆ รวมถึงการสร้างบัญชีผู้ใช้งานของแอปฯ ผ่านเฟซบุ๊กคือ การสมัครใจแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับบริษัทหรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านั้นด้วยตัวเองตั้งแต่แรก กรณีนี้จึงอาจจะไม่ใช่ความผิดของเฟซบุ๊ก 100% อย่างที่หลายคนเข้าใจ

 

แต่ก็มีวิธีที่จะเลือกปิด-เปิดข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง หรือเลือกที่จะปิดการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันอื่นบนเฟซบุ๊กได้ง่ายๆ เช่นกัน โดยเราได้สาธิตขั้นตอนง่ายๆ ไว้ดังนี้

 

กรณีดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาใหม่ และต้องการเชื่อมต่อเฟซบุ๊กเพื่อสร้างแอ็กเคานต์ผู้ใช้งาน

 

 

1. กรณีนี้เราเชื่อว่าหลายคนต้องเคยเจอมาก่อน เมื่อดาวน์โหลดแอปฯ มาใหม่ (ยกตัวอย่าง Airbnb) แล้วต้องการผูกกับบัญชีเฟซบุ๊กเพราะไม่ต้องการเสียเวลากรอกข้อมูลลงทะเบียน วิธีตั้งค่าการแชร์ข้อมูลง่ายๆ ทำได้โดยคลิกเลือกไอคอนปากกาพร้อมตัวอักษรสีน้ำเงินที่เขียนว่า ‘Edit This’

 

 

2. หลังจากนั้นให้เลือกข้อมูลที่เราต้องการจะแชร์หรือไม่แชร์กับแอปพลิเคชันหรือผู้พัฒนาแอปฯ Airbnb มีให้เลือกตั้งแต่รายชื่อเพื่อน, วันเดือนปีเกิด, ประวัติการศึกษา, เมืองเกิดและที่อยู่อาศัย ณ ปัจจุบัน, เพจที่กดไลก์ ไปจนถึงอีเมล

 

ยกเว้นภาพโปรไฟล์ ชื่อ-สกุล และอายุที่ไม่สามารถปิดการแชร์ได้ (Public Profile) เพราะข้อมูลส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ลงทะเบียนสร้างแอ็กเคานต์ Airbnb

 

กรณีที่เล่นควิซและแอปพลิเคชันเยอะมาก จนไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรดี

 

 

1. เพื่อเรียกดูข้อมูลควิซเกมและแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีเฟซบุ๊กของเราทั้งหมด ให้คลิกเลือกไอคอน ? ในหน้าโฮมเฟซบุ๊ก บนหัวมุมขวาบนใกล้ๆ กับแถบ Notifications จากนั้นคลิกเลือก Privacy Shortcuts > คลิก See More Settings > และกดเลือกไปที่ Apps บนแถบเมนูฝั่งซ้ายของหน้าจอ

 

 

2. เมื่อคลิกเลือก Apps ก็จะแสดงผลแอปพลิเคชันทั้งหมดที่เราได้ผูกไว้กับบัญชีเฟซบุ๊ก กรณีที่ต้องการตั้งค่าการแชร์ข้อมูลกับแอปพลิเคชันใดๆ ก็ตาม ให้คลิกที่ไอคอนรูปปากกาหรือ Edit Settings ที่ด้านหลังโลโก้แอปฯ นั้นๆ แต่ถ้าต้องการลบแอปฯ ดังกล่าวถาวรให้คลิกเลือกไอคอนกากบาทหรือ Remove และทำตามคำสั่ง

 

 

3. เมื่อคลิกเลือก Edit Settings ของตัวแอปฯ (ยกตัวอย่าง Dropbox) จะเจอว่าข้อมูลใดบ้างที่เราได้แชร์ให้กับ Dropbox และนักพัฒนาแอปฯ โดยเราสามารถเลือกตั้งค่าการแชร์ข้อมูลได้ มีให้เลือกตั้งแต่รายชื่อเพื่อนทั้งหมด กรุ๊ปที่เราอยู่ อีเมล รวมถึงการตั้งค่าไม่ให้ Dropbox สามารถโพสต์บนหน้าวอลล์ ไปจนการเข้าถึงกรุ๊ปที่คุณอยู่หรือส่งการแจ้งเตือนได้

 

 

4. กรณีที่ต้องการปรับการตั้งค่าการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันบนเฟซบุ๊คแบบรวดเดียวไม่อยากเสียเวลามานั่งปรับทีละแอปฯ ให้เลื่อนมาที่ด้านล่างสุดของหน้าจอจะพบกับ 4 หมวดใหญ่ๆ

 

 

5. กรณีต้องการปิดการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันหรือเกมทั้งหมด ให้คลิกเลือก Apps, Websites and Plugins แล้วกด Disable Platform ซึ่งจะเทียบเท่าได้กับการปิดตายช่องทางเชื่อมต่อกับทุกแอปพลิเคชัน แต่จะส่งผลให้เกมหรือซอฟต์แวร์ที่เราล็อกอินผ่านบัญชีเฟซบุ๊กไว้ใช้งานไม่ได้ด้วย

 

ส่วน Apps Others Use จะเป็นการตั้งค่าว่าข้อมูลใดบ้างของเราที่แอปพลิเคชันและเกมของเพื่อนบนเฟซบุ๊กสามารถล่วงรู้ กรณีที่ต้องการความเป็นส่วนตัวให้ติ๊กเอาเครื่องหมายถูกออกให้หมด หรือเลือกตามหัวข้อที่ปรากฏตามความต้องการ

 

 

6. และสุดท้ายถ้าต้องการปิดการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันที่ผูกไว้บนเฟซบุ๊ก ให้เลือก Game and App Notifications แล้วเลือก Turn Off

 

 

ส่วนที่แชร์กันว่าพิมพ์ ‘BFF’ แล้วถ้าปรากฏตัวอักษรเป็นสีเขียวแสดงว่าบัญชีเฟซบุ๊กของเราปลอดภัยจากการถูกขโมยข้อมูล คือการแชร์ข่าวลวงที่ผิด เนื่องจากคำว่า BFF หรือ Best Friend Forever เป็นฟีเจอร์คำสั่งพิเศษแสดงผลแอนิเมชันน่ารักๆ ที่เฟซบุ๊กเพิ่มลงไปเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

 

มาตราการจัดการความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลผู้ใช้งาน 6 ข้อของเฟซบุ๊ก

ทั้ง 2 กรณีและ 8 ขั้นตอนการตั้งค่าการแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับแอปพลิเคชันอื่นๆ บนเฟซบุ๊กนี้คือวิธีที่ผู้ใช้อย่างเราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ส่วนมาตรการที่ทางเฟซบุ๊กจะดำเนินการจัดการกับแอปฯ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหมดเพื่อป้องกันการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบไปด้วย 6 ข้อสำคัญดังนี้

 

1. ตรวจสอบแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊กจะทำการตรวจสอบแอปพลิเคชันทั้งหมดที่เข้าถึงข้อมูลจำนวนมากก่อนเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มในปี 2557 (2014) เพื่อลดการเข้าถึงข้อมูล และจะทำการตรวจสอบแอปพลิเคชันที่น่าสงสัยอย่างเข้มงวด หากพบว่านักพัฒนาแอปพลิเคชันใดใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลในทางที่ผิด ก็จะกันแอปพลิเคชันนั้นออกจากแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กทันที

 

2. แจ้งเตือนเจ้าของข้อมูลที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เฟซบุ๊กจะแจ้งเตือนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้งานแอปพลิเคชันที่ถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงการแจ้งเตือนให้เจ้าของข้อมูลรับทราบในกรณีที่ข้อมูลของพวกเขาถูกนำไปใช้งานโดยแอปพลิเคชัน ‘thisisyourdigitallife’ และเมื่อเฟซบุ๊กลบแอปพลิเคชันที่นำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิดก็จะแจ้งให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันนั้นๆ ทราบด้วย

 

3. หยุดการเข้าถึงของแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้งาน หากแอปพลิเคชันใดไม่มีการใช้งานเกิน 3 เดือน เฟซบุ๊กจะหยุดการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานจากแอปพลิเคชันนั้นทันที

 

4. จำกัดข้อมูล Facebook Login เฟซบุ๊กกำลังเปลี่ยนแปลง Login เวอร์ชันใหม่ที่จะลดปริมาณ ‘ข้อมูล’ ที่แอปพลิเคชันสามารถขอจากผู้ใช้งาน ให้เหลือเพียง ชื่อ  รูปโปรไฟล์ และอีเมล หากแอปพลิเคชันต้องการขอข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม จะต้องขออนุญาตจากเฟซบุ๊กก่อน (คล้ายๆ กรณีสาธิตดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาใหม่ และต้องการเชื่อมต่อเฟซบุ๊กเพื่อสร้างแอ็กเคานต์ผู้ใช้งานที่เราต้องเลือกเอง แต่ต่อไปเฟซบุ๊กจะบังคับให้แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลแค่ 3 ส่วนเท่านั้น)

 

5. สนับสนุนให้ผู้ใช้จัดการกับแอปพลิเคชันต่างๆ ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กได้แสดงข้อมูลแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้เชื่อมต่อ รวมถึงข้อมูลที่พวกเขาได้อนุญาตให้แอปพลิเคชันเหล่านั้นนำไปใช้งาน จากนี้ไปเฟซบุ๊กจะทำให้ทางเลือกเหล่านี้เห็นชัดและจัดการได้ง่ายยิ่งขึ้น (มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก บอกในแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะเพิ่มไอคอน App Setting ขึ้นมาใกล้ๆ ตำแหน่งแถบบนหน้านิวส์ฟีด เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและปรับตั้งค่า)

 

6. ให้รางวัลกับผู้ที่ค้นพบข้อบกพร่อง เฟซบุ๊กจะขยายการดำเนินงานของ bug bounty program เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถรายงานมาที่ระบบ กรณีพบการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิดโดยนักพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ

 

ด้านความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีข้อพิพาทที่เฟซบุ๊กถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้ข้อมูลผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนหลุดออกไปนั้น พิธีกรหญิงผู้ครำ่หวอดในวงการไอทีและเทคโนโลยีอย่าง ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD Daily วันที่ 22 มีนาคม 2561 (ช่วงนาทีที่ 26.00 เป็นต้นไป) ไว้ว่าเหตุการณ์นี้คล้ายกับเป็นการตอกย้ำว่าข้อมูลของเราที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตไม่ได้ปลอดภัย 100% แม้ข้อมูลนั้นๆ จะอยู่บนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการที่มีนโยบายจะปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของเราก็ตาม

 

“นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าข้อมูลของเราสามารถหลุดออกไปได้ตลอดเวลา แม้หลายคนจะมองว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ แต่ในความเป็นจริงมันยังมีการเก็บข้อมูลเราอยู่เรื่อยๆ ไม่มีอะไรจะรับประกันได้เลยว่าข้อมูลของเราจะไม่หลุดออกไปเหมือนกรณีดราม่า Cambridge Analytica

 

“การรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ บนโซเชียลมีเดียถือเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ในระดับโลก เหตุการณ์นี้ได้สร้างความตระหนักที่ผู้ให้บริการจะต้องเห็นความสำคัญกับการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานให้มากขึ้น เราอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะในไทย สหรัฐอเมริกา หรือพื้นที่ใดบนโลกนี้ ความสามารถในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวก็ควรจะเท่าๆ กัน”

 

เมื่อถามว่าเฟซบุ๊กยังเป็นแพลตฟอร์มที่น่าใช้งานอยู่หรือไม่ จิตต์สุภามองว่าขึ้นอยู่กับมุมมองความเห็นของผู้ใช้งานแต่ละคน เพราะผู้ใช้แต่ละรายอาจจะให้ความสำคัญกับประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูลไม่เท่ากัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising