×

ควรเตรียมตัว ‘เกษียณ’ อย่างไร เมื่อ ‘ประเทศไทย’ กำลังเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ เต็มตัว

โดย THE STANDARD TEAM
24.05.2022
  • LOADING...
เตรียมตัวเกษียณ

ถ้าแบ่งช่วงชีวิตของคนตามช่วงตามช่วงอายุ 20 ปีแรก ตั้งแต่เกิดเป็นวัยเรียน หลังจากนั้นเป็นวัยทำงาน เคยถามตัวเองกันไหมว่าเราจะทำงานไปจนถึงอายุเท่าไร และคิดที่จะเลิกทำงานภายใน 5-10 ปีข้างหน้านี้หรือไม่

 

ซึ่งเหตุผลที่จะเลิกทำงานก็แล้วแต่บุคคล เช่น ฐานะการเงินเพียงพอแล้ว มีปัญหาสุขภาพ หรือเบื่องานที่ทำ แต่ก่อนที่เราจะเลิกทำงาน เราก็ต้องวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้ชีวิตหลังเลิกทำงานมีความสุขสบายตามที่เราต้องการ

 

วิธีที่ง่ายที่สุดในการวางแผนคือ เรียนรู้จากคนที่เกษียณไปแล้วว่าพวกเขาประสบความสำเร็จกับแผนเกษียณของตัวเองแค่ไหน จากผลสำรวจของ Fidelity Investments ที่สอบถามคนอเมริกันซึ่งเกษียณไปไม่นาน พบว่า คนที่เกษียณแล้วถึงกว่า 57% คิดว่าพวกเขาน่าจะเตรียมตัวกับแผนเกษียณให้มากกว่านี้ เนื่องจากการใช้ชีวิตหลังเกษียณต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ต้องเริ่มให้เร็ว คิดให้รอบคอบ แล้วทำตามที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณเป็นไปอย่างที่เราต้องการ 

 

สำหรับประเทศไทยได้มีการสำรวจของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า คนไทยมากถึง 90% ขาดการเตรียมตัวเพื่อการใช้ชีวิตวัยชรา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้สูงวัยเอง ตลอดจนศักยภาพของประเทศ 

 

ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเริ่มได้ตั้งแต่การเกิดที่มีคุณภาพ มีการวางแผนชีวิต วางแผนครอบครัว ปรับแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่แบ่งแยกคนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพ และส่งเสริมบทบาทชุมชนในการช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน

 

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ โดยสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2543 เป็น 15% ในขณะที่ประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) จะมีจำนวนลดลงจาก 30.1% เหลือเพียง 24.2% ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างประชากรโลกกำลังเปลี่ยนจากภาวะที่มีประชากรวัยเด็กในสัดส่วนสูง กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องไปในอนาคต

 

‘ประเทศไทย’ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีจำนวนและสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่า ปี 2537 มีผู้สูงอายุคิดเป็นสัดส่วน 6.8% ของประชากรทั้งประเทศ และปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 14.9% และคาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีประชากรสูงอายุวัยปลาย หรือผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

 

ดังนั้นไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้ต้องจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัด การจัดสรรสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ การบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นในระยะยาว รวมทั้งการออมเงินขณะอยู่ในวัยทำงาน เพื่อสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ยามเกษียณอายุ

 

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การวางแผนเพื่อการเกษียณของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม’ (http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2017/TU_2017_5805033031_6532_6602.pdf) ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้เพื่อรองรับกับสังคมสูงวัย ทั้งภาครัฐ สำนักงานประกันสังคม สถานประกอบการ และผู้ประกันตน ได้แก่

 

  1. ภาครัฐ ควรให้ความสำคัญและมีนโยบายอย่างชัดเจนในเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้าง เพื่อให้สถานประกอบการทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกจ้างพัฒนาทักษะและความสามารถในการประกอบอาชีพเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมโอกาสในการทำงานก่อนและภายหลังเกษียณอายุ อีกทั้งควรประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสวัสดิการของผู้สูงอายุ ให้ลูกจ้างในสถานประกอบการได้รับทราบสิทธิของตนเองภายหลังที่เกษียณอายุ

 

  1. สำนักงานประกันสังคม ควรทบทวนกฎหมายในการพิจารณาจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนในอัตราที่เหมาะสม นอกเหนือจากผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน อาจจะอยู่ในรูปแบบเงินกรณีชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน เพื่อให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

  1. สถานประกอบการ ควรจัดอบรมฝึกอาชีพเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากการปฏิบัติงานในแต่ละวัน เพื่อเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการประกอบอาชีพในด้านอื่นๆ เพื่อให้ลูกจ้างที่เกษียณอายุมีรายได้รองรับการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังเกษียณ

 

  1. ผู้ประกันตน ควรให้ความสำคัญในการเตรียมการวางแผนการใช้ชีวิตเพื่อการเกษียณก่อนอายุ 40 ปี ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ที่อยู่อาศัย สังคม และเศรษฐกิจ 

 

อีกทั้งควรเสริมสร้างพัฒนาทักษะ (เพิ่มเติม) ความสามารถในการทำงานของตนเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางแผนทางด้านอาชีพก่อนที่จะเกษียณอายุต่อไป

 

เตรียมตัวเกษียณ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising