×

เตรียมความพร้อมการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

31.03.2023
  • LOADING...
ข้อมูลความยั่งยืน

ในปัจจุบัน ธุรกิจต่างๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในหลากหลายมิติ ทำให้มีความจำเป็นในการให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น โดยผลสำรวจการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน ปี 2565 ของ KPMG พบว่า 64% ของผู้นำธุรกิจชั้นนำระดับโลกตระหนักถึงความเสี่ยงทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 62% ของซีอีโอ วางแผนลงทุนในการพัฒนาบริษัทสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ Environment, Social, and Governance (ESG) 

 

การดำเนินงานด้าน ESG นั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจแล้ว ยังสามารถช่วยสร้างจุดแข็ง และได้รับความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม บริษัทหลายแห่งกำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดทำรายงานและการสื่อสารข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิภาพ


บทความที่เกี่ยวข้อง


องค์กรธุรกิจควรอ้างอิงหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานต่างๆ ในการรายงานและเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่เชื่อถือได้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ตัวอย่างเช่น

 

  1. Global Reporting Initiative (GRI) สำหรับการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทด้านความยั่งยืน 
  2. Integrated Report (IR) สำหรับการรายงานแผนงานการกำกับดูแล ยุทธศาสตร์ และการดำเนินธุรกิจในอนาคตเพื่อการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร 
  3. Sustainability Accounting Standards Board (SASB) สำหรับการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เกิดขึ้นเฉพาะตามแต่ละภาคอุตสาหกรรม และเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท 
  4. Carbon Disclosure Project (CDP) สำหรับการรายงานยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ป่าไม้ และความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ 
  5. Sustainable Development Goal (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้งหมด 17 ข้อ 
  6. One Report โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำหรับเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ การจัดการในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติสังคม เป็นต้น 

 

กรอบการรายงานทั้งหมดนี้พัฒนาขึ้นเพื่อขยายขอบเขตของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมทั้งแนวปฏิบัติและบทเรียนที่ถอดจากผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน จะสามารถช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของบริษัทให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน 

 

จากความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียและนักลงทุนที่คาดหวังให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีความสอดคล้อง สามารถเปรียบเทียบได้ และเปิดเผยผลกระทบทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทาง IFRS Foundation จึงได้จัดตั้ง International Sustainability Standards Board (ISSB) ขึ้นเพื่อพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการออกร่างมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนทั้งหมด 2 ฉบับ และมาตรฐานฉบับสมบูรณ์คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 

 

โดยองค์ประกอบการของการจัดทำรายงานตามมาตรฐานนี้นั้น สอดคล้องตามข้อเสนอแนะของคณะทำงานเพื่อพัฒนากรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures-TCFD) ซึ่งประกอบด้วยการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. การกำกับดูแลกิจการ (Governance): เปิดเผยข้อมูลกระบวนการกำกับดูแลกิจการ การควบคุม และขั้นตอนที่ใช้ในการติดตามตรวจสอบและจัดการความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
  2. ยุทธศาสตร์องค์กร (Strategy): เปิดเผยข้อมูลการกำหนดยุทธศาสตร์และกระบวนการบูรณาการประเด็นความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากประเด็นความยั่งยืน รวมถึงการวางแผนทางการเงินที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนด้านความยั่งยืน
  3. การจัดการความเสี่ยง (Risk management): เปิดเผยข้อมูลแนวทางการระบุ ประเมิน และจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน โดยสะท้อนในภาพรวมของบริษัทเพื่อสนับสนุนการประเมินความเสี่ยงในภาพรวม และกระบวนการในการจัดการความเสี่ยงของบริษัท
  4. การตรวจวัดผลและเป้าหมาย (Metrics and Targets): เปิดเผยแนวทางการตรวจวัด ติดตามตรวจสอบผลการจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เพื่อประเมินการดำเนินงานและความก้าวหน้าที่จะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้

 

ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนมีรายละเอียด ขั้นตอน และกระบวนการที่ท้าทาย บริษัทจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในหลายประเด็น ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

 

  • การให้ความสำคัญจากระดับบน หรือ Tone at the Top การจัดทำรายงานความยั่งยืนควรเริ่มต้นการให้ความสำคัญจากคณะกรรมการและผู้บริหารที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน และสื่อสารแนวคิดไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในบริษัท เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจในหลักการและยุทธศาสตร์ได้คำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพในองค์กร
  • การจัดสรรงบประมาณด้านความยั่งยืน ผู้บริหารจำเป็นต้องมีการจัดสรรงบประมาณด้านความยั่งยืนเพื่อใช้ในการดำเนินการในโครงการต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม 
  • การวางโครงสร้างองค์ประกอบของรายงาน และการกำหนดกรอบการรายงานที่ชัดเจน ประกอบไปด้วยเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนธุรกิจ ความเสี่ยง ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การกำกับดูแล และการผลกระทบด้านการเงิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานการจัดทำรายงาน และควรสอดคล้องกับหลักการ กรอบแนวคิด และมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนเพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลนั้นเป็นไปอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ และตรงไปตรงมา
  • การกำหนดประเด็นหลักในการรายงานด้านความยั่งยืน บริษัทควรพิจารณาเป้าหมายการรายงานและกลุ่มเป้าหมาย และต้องทำความเข้าใจถึงประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย และเปิดเผยรายละเอียดที่ตรงประเด็นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แสดงความจริงใจ สามารถสร้างคุณค่าให้กับบริษัทอย่างแท้จริง และยังเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงานของบริษัทในปัจจุบันและอนาคต
  • การเข้าใจถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่สำคัญ บริษัทจำเป็นต้องระบุผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทที่สำคัญ รวมถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม รวมถึงประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพื่อให้รายละเอียดการรายงานด้านความยั่งยืนนั้นสามารถตอบสนองผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างตรงประเด็น

 

บริษัทที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้ จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ท้าทาย การวางแผนการดำเนินงานเชิงรุก และเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายรวมถึงนักลงทุนเข้าใจเป้าหมาย แผนการ และผลลัพธ์ของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท บริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

 

บทสรุป

 

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจะช่วยให้องค์กรเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ว่าธุรกิจนั้นมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วยการกำกับดูแลที่ดี อีกทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนว่าธุรกิจมีเสถียรภาพและศักยภาพในการจัดการและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคต้องการและมองหาธุรกิจที่มีความยั่งยืน และเป็นการเพิ่มความเข้าใจและความตระหนักรู้ต่อสังคมในฐานะองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising