นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าภาวะตลาดแรงงานตึงตัว หรือปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายประเทศเศรษฐกิจใหญ่ใกล้จบแล้ว พร้อมเตือนให้เตรียมรับคลื่นการปลดพนักงาน เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว และผลกระทบจากภาวะการเงินตึงตัวค่อยๆ ปรากฏให้เห็นแล้ว
นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศก็เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้ทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มมองว่าแนวโน้มดังกล่าวจะบรรเทาไปในที่สุดภายในปีนี้
ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้หันมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวอย่างเร็วและแรงมานานกว่า 1 ปี เพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าตลาดแรงงานส่วนใหญ่ยังคงตึงตัว หรือประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างดื้อรั้น
เห็นได้จากรายงานการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาวะเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้นในเดือนเมษายน แม้ว่าจะเกิดความวุ่นวายในภาคการธนาคาร และเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำสุดร่วม (Joint-lowest Level) นับตั้งแต่ปี 1969
ความตึงตัวในตลาดแรงงานเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วหลายแห่ง และด้วยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงสูงและชะลอตัวอย่างเชื่องช้า (Sticky) นักเศรษฐศาสตร์จึงยังเสียงแตกว่าเมื่อใดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) จะสามารถหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวและลดดอกเบี้ยได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Moody’s คาดการณ์ว่าช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงานจะแคบลงในกลุ่มประเทศ G20 ในปีนี้ ทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวน้อยลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากภาวะการเงินตึงตัวที่ค่อยๆ ปรากฏให้เห็น
ด้าน Jeffrey Kleintop หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกจาก Charles Schwab คาดว่าตลาดแรงงานจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงหลังของปี 2023 เมื่อผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินเริ่มปรากฏ
จาก ‘ขาดแคลน’ สู่ ‘การลดจำนวนตำแหน่งงาน’
Kleintop ยังระบุในรายงานว่า จากการสื่อสารของบริษัทต่างๆ ในเอกสารผลประกอบการและการนำเสนอต่อผู้ถือหุ้น เผยให้เห็นถึงแนวโน้มที่ ‘เพิ่มขึ้น’ ของการกล่าวถึงการลดตำแหน่งงาน (Job Cuts) และกล่าวถึงการขาดแคลนแรงงาน ‘ลดลง’
สอดคล้องกับข้อมูลที่รวบรวมโดย Charles Schwab ที่แสดงให้เห็นว่าในรายงานผลประกอบการบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีนี้ มีวลีที่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนพนักงานเริ่ม ‘เกิน’ วลีที่เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนแรงงาน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2021
วิกฤตสินเชื่อตึงตัว อีกสาเหตุฉุดตลาดงานอ่อนแอ
Kleintop ยังอ้างถึงเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น (Credit Crunch) ซึ่งมีส่วนทำให้แนวโน้มตลาดงานอ่อนแอลง โดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่าง ‘มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร’ และ ‘การเติบโตของงาน’
“มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้จากธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง (Shift) จากการเติบโตของตลาดงานไปสู่การหดตัวของตลาดงานในไตรมาสต่อๆ ไป” Kleintop กล่าว
เช่นเดียวกับ Moody’s ที่กล่าวว่า ความต้องการแรงงานที่ลดลงจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ตลาดแรงงานอ่อนแอมากขึ้นในอีก 3-4 ไตรมาสข้างหน้า ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริษัทและครัวเรือนจะลดความเข้มข้นในการจ้างงาน การใช้จ่ายของผู้บริโภค และกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กระแสปลดพนักงานเริ่มลุกลาม SAP บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 3,000 คน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายกว่า 1.15 หมื่นล้านบาท
- เรื่องอื้อฉาว Wirecard เริ่มทำพิษ! ‘EY Germany’ ปรับโครงสร้างใหม่ เลิกจ้างพนักงานแผนกบริการ 380 คน ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย หลังรายได้ลดฮวบ
- อดีตพนักงานแฉ Facebook จงใจทำให้แบตเตอรี่ของผู้ใช้บางคนลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องการแอบทดสอบฟีเจอร์ต่างๆ
อ้างอิง: