×

เวที APEC แนะภาครัฐ-ธุรกิจเตรียมรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ‘ครั้งที่ 4’ หนุนใช้โมเดล ‘ทุนนิยมรูปแบบใหม่’ ที่มาพร้อมความยั่งยืน

17.11.2022
  • LOADING...

ผู้นำฟิลิปปินส์และผู้นำภาคธุรกิจชี้ ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และภาวะโลกร้อน เป็น 3 ประเด็นท้าทายโลก แนะภาครัฐ-ผู้ประกอบการเตรียมรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หนุนใช้โมเดลทุนนิยมรูปแบบใหม่ที่มาพร้อมความยั่งยืน

 

เฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวบนเวที The Global Economy and the Future of APEC ระหว่างเข้าร่วมประชุม APEC 2022 ว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภูมิภาคในปัจจุบันยังเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและซัพพลายเชน เพื่อข้ามพ้นเมฆหมอกดังกล่าว ภาครัฐและธุรกิจในภูมิภาคจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ตอบสนองต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวอีกว่า 3 ประเด็นที่สำคัญและท้าทายที่สุดที่โลกกำลังเผชิญในขณะนี้ ประกอบด้วย

 

  1. ความมั่นคงทางอาหาร ผลผลิตทางการเกษตรโลกลดลงจากภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น

 

  1. ปัญหาด้านสุขภาพ โดยโควิดเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องเร่งลงทุนเพื่อรับมือกับโรคระบาดในอนาคต

 

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ซึ่งฟิลิปปินส์ถือเป็นประะเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบมากถึง GDP 6% ต่อปี หากทุกฝ่ายยังตอบสนองไม่เพียงพอ

 

ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีแผนจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีมิชชัน โดยตั้งเป้าจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 35% และ 50% ของสัดส่วนพลังงานทั้งหมดให้ได้ในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะร่วมกับภาคเอกชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

 

“เราจำเป็นต้องมีระบบธรรมาภิบาลสำหรับภูมิภาค ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการแข่งขันและความร่วมมือในภูมิภาค ให้ความสำคัญกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เพราะโลกจะรุ่งเรืองได้ก็ต้องเมื่อมีสันติภาพเกิดขึ้น” มาร์กอส จูเนียร์ กล่าว

 

เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า เพื่อการเติบโตและอยู่รอดในอนาคต ภาคธุรกิจจะต้องพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยคิดอย่างมีกลยุทธ์ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และดำเนินธุรกิจตามแนวทางทุนนิยมในรูปแบบใหม่ด้วยความยั่งยืน (Stakeholder Capitalism) ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้อง ‘คำนึงถึงประชาชน สังคม และโลก’ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ

 

“กุญแจสำคัญคือเราต้องทำในสิ่งที่พูด การพูดกันไปเรื่อยๆ ถึงเรื่องความยั่งยืนนั้นไม่เพียงพอแล้ว” ชวาบกล่าว

 

โรเบิร์ต มอริตซ์ ประธานบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส (PwC) กล่าวว่า ความยืดหยุ่น ความยั่งยืน และความคล่องตัว เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตต่อไปในอนาคต เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากสาธารณชน ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีความสามารถในการกำหนดแนวทางและดำเนินงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

 

“ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับใช้เรามาอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา ไม่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายของเราอีกต่อไปแล้ว ซัพพลายเชนของโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงต้นทุนที่ถูกที่สุด ทำให้เกิดการกระจุกตัว แต่จากนี้ไปเรื่อง ESG จะถูกดึงเข้ามาในระบบซัพพลายเชนด้วย” มอริตซ์ระบุ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising