วันนี้ (6 มกราคม) ที่อาคารรัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. แถลงข่าวแสดงจุดยืนในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ขอคัดค้านการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) ของ สส. พรรคประชาชน เรื่องการออกเสียงรับหลักการวาระแรกและเสียงเห็นชอบในวาระ 3 ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ แต่ร่างที่แก้ไขใหม่เสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และเพิ่มเติมด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน
นพ.เปรมศักดิ์ ยังชี้ว่า เรื่องการตัดเงื่อนไขการนำไปออกเสียงประชามติก่อนทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา 256 (8) ตนเองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรานี้ เพราะถือเป็นการตัดทอนอำนาจของ สว. ลงอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่บัญญัติให้ สว. มีหน้าที่และอำนาจกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร และอาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่าง 2 สภา ที่สำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) เดิมบัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องเป็นการกระทำร่วมกันของรัฐสภา
นพ.เปรมศักดิ์ ระบุอีกว่า ไม่เห็นด้วย เพราะต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ ดังนั้น จึงจะต้องไปแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เห็นควรว่าไม่ควรไปแตะต้องเลย เพราะจะสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง
ทั้งนี้ อีกเหตุผลคือเมื่อตนเองลงพื้นที่ช่วงปีใหม่ พบว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และถามว่าทำไมต้องเร่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าปัญหาปากท้อง จึงมองว่ารออีก 180 วันก็ได้ ให้กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้วเสร็จ
นพ.เปรมศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า จากที่ได้รับฟังเสียง สว. ส่วนใหญ่ก็เห็นคล้ายกับตนเองคือไม่ควรแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ว่าพรรคใดจะเสนอก็ตาม เพราะไม่ได้ดูว่าพรรคการเมืองใดเสนอมาเป็นตัวตั้ง หากพรรคเพื่อไทยเสนอมาในลักษณะเดียวกับพรรคประชาชน ตนเองก็ไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ นพ.เปรมศักดิ์ ยังย้ำว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรรีบร้อน เพราะการกระทำอะไรที่รีบร้อนอาจส่งผลเสีย พร้อมมองว่าหากรอครบ 180 วัน แล้วสภาผู้แทนราษฎรยืนยันมติเดิม จะไม่ทำให้แตกหักกันระหว่าง 2 สภา เพราะส่วนตัวก็เห็นชอบกับการทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ การทำประชามติ 1 ครั้งเสียเงินกว่า 3 พันล้านบาท ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร แต่มองว่าเรื่องกรอบเวลา ไม่ควรเอาคำว่ากลัวจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 เป็นหลัก เพราะรัฐบาลนี้จะอยู่พ้นปี 2568 หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ