ในขณะที่แฟนฟุตบอลในอังกฤษต่างกำลังหน้ามืดกับสารพัดบิล ทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมัน ไปจนถึงราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นในโลกของความเป็นจริง แต่ในโลกแฟนตาซีก็มีความสุขไปกับการใช้จ่ายเงินอย่างไม่บันยะบันยังของทีมรัก ที่ทำให้ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูร้อนปีนี้สโมสรจากพรีเมียร์ลีกทำสถิติใช้จ่ายเงินทะลุ 2 พันล้านปอนด์ หรือราว 8.49 หมื่นล้านบาท (แทบจะสร้างรถไฟฟ้าได้หนึ่งสาย!)
สถิติดังกล่าวแซงหน้าสถิติเดิมในช่วงฤดูร้อน 2017 ที่มีการใช้จ่ายมากถึง 1.43 พันล้านปอนด์ แบบไม่เห็นฝุ่น และตามข้อมูลจากสถาบัน Deloitte ยอดเงินใช้จ่ายสุทธิก็ทะลุ 1 พันล้านปอนด์ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสถิติใหม่เช่นเดียวกัน
คริส วูด ผู้ช่วยผู้อำนยการในแผนก Sports Business Group จาก Deloitte ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทีมจากพรีเมียร์ลีกในรอบตลาดที่ผ่านมา “สิ่งที่เราได้เห็นจากสโมสรในพรีเมียร์ลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าสู่ตลาดช่วงฤดูร้อนนี้คือ ความมั่นใจอย่างแท้จริง
“โดยผมคาดเดาว่ามีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายสโมสร เช่น มีเจ้าของใหม่ มีผู้จัดการทีมคนใหม่ที่พยายามจะพิสูจน์ตัวเองให้ได้ แต่มันก็ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้น”
พรีเมียร์ลีกเพิ่งได้รับข่าวดีจากตัวเลขค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดนอกประเทศที่เพิ่มขึ้นแตะหลัก 1 หมื่นล้านปอนด์ได้ในสัญญารอบใหม่ 3 ปีที่เพิ่งเริ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงส่วนแบ่งของแต่ละสโมสรที่จะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะที่สัญญาลิขสิทธิ์ภายในประเทศมีการตกลงกับผู้ให้บริหารภายในสหราชอาณาจักรอย่าง Sky, BT Sport และ Amazon Prime ที่จะตรึงราคาที่ 4.5 พันล้านปอนด์
โดย Deloitte เชื่อว่า 20 สโมสรพรีเมียร์ลีกจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรวมกันทะลุ 6 พันล้านปอนด์เป็นครั้งแรก หรือหากหารเฉลี่ยง่ายๆ แล้ว แต่ละสโมสรจะได้เงินส่วนแบ่งทีมละ 300 ล้านปอนด์
ตรงนี้เองทำให้สโมสรจากพรีเมียร์ลีกกล้าที่จะเคลื่อนไหว ในขณะที่ทั่วยุโรปแม้กระทั่งสโมสรใหญ่ ต่างก็ใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง
แม้กระทั่งในวันสุดท้ายก่อนตลาดการซื้อ-ขายผู้เล่น ซึ่งเปิดมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนจะปิดตัวลงในช่วงเวลา 23.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน ตามเวลาท้องถิ่น ก็ยังมี ‘บิ๊กดีล’ ให้เห็นสำหรับพรีเมียร์ลีก
โดยเฉพาะกับเชลซีที่คว้าตัว ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง และ เดนิส ซากาเรีย เข้ามาแก้ปัญหาในแดนหน้าและแดนกลาง ทำให้เป็นทีมที่ครองแชมป์การใช้จ่ายสูงที่สุดในช่วงซัมเมอร์นี้ ซึ่งค่าตัวของโอบาเมยองที่จ่ายให้กับบาร์เซโลนาแม้จะต่ำที่ 10.4 ล้านปอนด์ แต่ในภาพรวมแล้วพวกเขาใช้เงินมากกว่า 260 ล้านปอนด์ในรอบตลาดเดียว หลังจากที่ก่อนหน้านี้คว้าตัวท็อปอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง, คาลิดู คูลิบาลี, มาร์ก กูกูเรยา และ เวสลีย์ โฟฟานา มาเสริมทัพ
จำนวนเงินดังกล่าวถือเป็นสถิติใหม่ของสโมสรเช่นกัน และเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของ ทอดด์ โบห์ลี เจ้าของสโมสรใหม่ ที่เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการต่อจาก โรมัน อบราโมวิช เจ้าของเดิม ที่ถูกบังคับขายสโมสรอันเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน โดยที่ตัวเลขนั้นมีโอกาสจะเพิ่มสูงกว่านี้ด้วยซ้ำ หากสามารถคว้าตัว แฟรงกี เดอ ยอง, แอนโธนี กอร์ดอน หรือ เอ็ดสัน อัลวาเรซ มาเสริมทัพได้
ขณะที่ทีมที่ใช้จ่ายรองลงมาเป็นอันดับ 2 คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งได้ แอนโทนี ปีกทีมชาติบราซิล มาจากอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และก่อนหน้านั้นคือ คาเซมิโร ที่มีค่าตัวรวมกัน 150 ล้านปอนด์ (ไม่นับ มาร์ติน ดูบลาฟกา ผู้รักษาประตูมือสองที่ยืมจากนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด) เมื่อรวมกับ ไทเรลล์ มาลาเซีย จากเฟเยนูร์ด, ลิซานโดร มาร์ติเนซ และ คริสเตียน อีริกเซน ที่ทำให้ยอดใช้จ่ายรวมกันมากกว่า 210 ล้านปอนด์
นอกจากนี้ยังมีทีมอย่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซนอล, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่ใช้จ่ายเงินมากกว่า 100 ล้านปอนด์ รวมถึงทีมที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในช่วงตลาดปิดรอบนี้อย่างน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ทีมน้องใหม่ที่มีการเซ็นสัญญาคว้าตัวนักเตะเข้ามาถึง 22 ราย ใช้จ่ายเงินรวมแล้วมากกว่ายักษ์ใหญ่อย่างบาร์เซโลนาเสียอีก
โดยหนึ่งในนักเตะที่ฟอเรสต์ทุ่มทุนซื้อมาคือ มอร์แกน กิบส์-ไวท์ กองกลางดาวรุ่งวัย 22 ปีจากวูล์ฟส์ ที่มีค่าตัวรวมถึง 42.5 ล้านปอนด์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกระจกสะท้อนถึงสภาพเงินเฟ้อในตลาดนักเตะของพรีเมียร์ลีก เพราะถึงจะทำผลงานได้ดีในระดับเดอะแชมเปียนชิปในฤดูกาลที่แล้ว ดาวเตะรายนี้ก็ไม่เคยแจ้งเกิดในระดับลีกสูงสุดได้มาก่อน
กลุ่มนักเตะดาวรุ่งอนาคตไกลยังมีค่าตัวที่แพงขึ้นมาก จนทำให้เซาแธมป์ตันจ่ายเงินไปมากกว่า 40 ล้านปอนด์สำหรับการซื้อตัวกลุ่ม 4 นักเตะดาวรุ่งจากอะคาเดมีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
อย่างไรก็ดี มีบางสโมสรที่แทบไม่ใช้จ่ายเลยเช่นกัน เช่น เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ อเล็กซ์ สมิทธีส์ ผู้รักษาประตูที่ได้มาจากคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ฟรีๆ และ วูต์ เฟส์ กองหลังจากแร็งส์ ในราคา 15 ล้านปอนด์ ที่มาทดแทน เวสลีย์ โฟฟานา ที่ย้ายไปเชลซี หรือบอร์นมัธที่แทบไม่ลงทุนหลังการขึ้นชั้นมาพรีเมียร์ลีก จน สกอตต์ ปาร์กเกอร์ ผู้จัดการทีมที่พาทีมเลื่อนชั้นได้โอดครวญ หลังพ่ายลิเวอร์พูลย่อยยับ 0-9 และนำไปสู่การถูกปลดจากตำแหน่งทันที
ตอนนี้เมื่อตลาดปิดแล้ว ถึงเวลาที่ทุกทีมรวมถึงแฟนๆ จะต้องกลับมาโฟกัสกับผลงานในสนามอีกครั้ง มากกว่าติดตามข่าวการซื้อ-ขายย้ายทีม
อย่างน้อยก็เป็นเวลาอีก 4 เดือนก่อนที่ตลาดนักเตะรอบใหม่จะเปิดอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว
10 นักเตะที่มีค่าตัวย้ายทีมสูงสุดของพรีเมียร์ลีกในตลาดฤดูร้อน 2022
- แอนโทนี: แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม (85.6 ล้านปอนด์)
- เวสลีย์ โฟฟานา: เชลซี จากเลสเตอร์ ซิตี้ (70 ล้านปอนด์)
- ดาร์วิน นูนเญซ: ลิเวอร์พูล จากเบนฟิกา (64.3 ล้านปอนด์)
- คาเซมิโร: แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากเรอัล มาดริด (60 ล้านปอนด์)
- อเล็กซานเดอร์ อิซัค: นิวคาสเซิล จากเรอัล โซเซียดาด (59 ล้านปอนด์)
- มาร์ก กูกูเรยา: เชลซี จากไบรท์ตัน (55 ล้านปอนด์)
- เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์: แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (51.5 ล้านปอนด์)
- ลูคัส ปาเกตา: เวสต์แฮม ยูไนเต็ด จากโอลิมปิก ลียง (51.3 ล้านปอนด์)
- ริชาร์ลิสัน: ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ จากเอฟเวอร์ตัน (50 ล้านปอนด์)
- ลิซานโดร มาร์ติเนซ: แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม (48.3 ล้านปอนด์)
อ้างอิง:
- https://www.thetimes.co.uk/article/from-chelsea-to-nottingham-forest-how-premier-league-went-on-2bn-splurge-hj9x9783m
- https://www.telegraph.co.uk/football/2022/09/01/transfer-deadline-day-2022-live-latest-rumours-loans-signings/
- https://news.sky.com/story/premier-league-clubs-spent-record-levels-during-the-transfer-window-12687255?dcmp=snt-sf-twitter