ในที่สุดเชลซีก็กลับมาเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก…เดี๋ยว ไม่ใช่ แชมป์นี้มันคือรายการพรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ (Premier League Summer Series) ต่างหาก
แต่ก็เอาเถิด สำหรับทีมที่ประสบปัญหามากมายตลอดฤดูกาลที่แล้ว การเริ่มต้นใหม่ด้วยโทรฟีสักใบภายใต้การนำของ เมาริซิโอ โปเชตติโน กับขุมกำลังคนรุ่นใหม่เกือบยกทีม ก็ถือเป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ใช้เป็นต้นทุนสำหรับฤดูกาลหน้าได้
เช่นเดียวกับพรีเมียร์ลีกที่เก็บเกี่ยวความสำเร็จและประสบการณ์จากพรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของทัวร์นาเมนต์เล็กๆ สำหรับช่วงพรีซีซัน ที่เปรียบแล้วก็เหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลก
ผลการทดลองออกมาเป็นอย่างไร และรายการนี้จะนำไปสู่อะไรต่อไปในวันข้างหน้า?
Christopher Nkunku has doubled @ChelseaFC‘s advantage before half time! 🎈
🇺🇸 #PLSummerSeries
📺 https://t.co/8VoNPCC9ho pic.twitter.com/zq00RLuFGN— Premier League (@premierleague) July 30, 2023
พรีเมียร์ลีกฤดูร้อน
สำหรับรายการพรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ ในปีปฐมฤกษ์นั้น จะไปแข่งขันกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่สำหรับสโมสรฟุตบอลจากยุโรปในช่วงพรีซีซัน
โดยมีทีมตกลงเข้าร่วมรายการทั้งหมด 6 ทีมด้วยกัน ประกอบไปด้วย เชลซี, เบรนท์ฟอร์ด, ไบรท์ตันแอนด์โฮฟอัลเบียน, ฟูแลม, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และ แอสตัน วิลลา ซึ่งทั้งหมดลงแข่งขันทีมละ 3 นัด
รวมแล้วจะมีเกมทั้งหมด 9 นัดด้วยกันใน 5 เมืองของสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ แอตแลนตา (จอร์เจีย), แฮร์ริสัน (นิวเจอร์ซีย์), ออร์แลนโด (ฟลอริดา), ฟิลาเดลเฟีย (เพนซิลเวเนีย) และ แลนโดเวอร์ (แมริแลนด์)
ระยะเวลาในการแข่งขันคือตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม จนจบเกมสุดท้ายเมื่อคืนวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ผลการแข่งขันมีดังนี้
22 กรกฎาคม (ลินคอล์น ไฟแนนเชียล ฟิลด์, ฟิลาเดลเฟีย)
- แมตช์ที่ 1: เชลซี 4-3 ไบรท์ตัน
23 กรกฎาคม (ลินคอล์น ไฟแนนเชียล ฟิลด์, ฟิลาเดลเฟีย)
- แมตช์ที่ 2: ฟูแลม 3-2 เบรนท์ฟอร์ด
- แมตช์ที่ 3: นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด 3-3 แอสตัน วิลลา
26 กรกฎาคม (เมอร์เซเดส-เบนซ์ สเตเดียม, แอตแลนตา)
- แมตช์ที่ 4: เบรนท์ฟอร์ด 0-2 ไบรท์ตัน
- แมตช์ที่ 6: นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด 1-1 เชลซี
26 กรกฎาคม (เอ็กซ์โพลเรีย สเตเดียม, ออร์แลนโด)
- แมตช์ที่ 5: ฟูแลม 0-2 แอสตัน วิลลา
28 กรกฎาคม (เรดบูลอารีนา, นิวเจอร์ซีย์)
- แมตช์ที่ 7: ไบรท์ตัน 1-2 นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
30 กรกฎาคม (เฟดเอ็กซ์ฟิลด์, แมริแลนด์)
- แมตช์ที่ 8: แอสตัน วิลลา 3-3 เบรนท์ฟอร์ด
- แมตช์ที่ 9: เชลซี 2-0 ฟูแลม
จากผลการแข่งขันทั้งหมด เชลซีซึ่งชนะ 2 เสมอ 1 จึงได้แชมป์พรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ ครั้งแรกไปครอง เป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเริ่มฤดูกาลใหม่
โดยมีนักเตะที่ทำผลงานในรายการนี้ได้ดีหลายคน ซึ่งรวมถึง คริสโตเฟอร์ เอ็นคุนคู และ นิโคลัส แจ็คสัน (หวัง?) สองตัวรุกหน้าใหม่ของเชลซีที่ผลงานสะดุดใจอย่างมาก
ทำไมต้องมาประเดิมที่สหรัฐฯ?
เหตุผลนั้นเป็นเพราะขนาดของตลาดที่ใหญ่จนไม่สามารถมองข้ามได้ในความบ้ากีฬาของชาวอเมริกัน ที่นับวันก็ยิ่งปันใจรักกีฬา ‘ซอกเกอร์’ มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ชาวอเมริกันเครซีเกมลูกหนังมากขึ้นไปอีกหลังจากที่ ลิโอเนล เมสซี มาเปิดตำนานบทสุดท้ายของเขากับอินเตอร์ ไมอามี
ที่ผ่านมาพรีเมียร์ลีกเองพยายามจะเปิดตลาดที่สหรัฐอเมริกาผ่านการมาทัวร์ของสโมสรต่างๆ แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่พวกเขาเดินหน้าลุยอย่างเต็มตัว
แต่อีกเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เรื่องของความเพียบพร้อมและความเป็นส่วนตัวของทีมที่จะใช้สำหรับการตระเตรียมทีมเพื่อสู้ศึกก่อนฤดูกาลใหม่ ก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งสหรัฐอเมริกามีความพร้อมครบทุกด้าน แต่ละสโมสรสามารถวางแผนได้ล่วงหน้าว่าจะเลือกเก็บตัวที่ไหน เพราะทุกรัฐ ทุกเมืองมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมมาก บางแห่งอยู่ในมาตรฐานระดับโลกเลยด้วย
พูดกันตรงไปตรงมา ให้เลือกระหว่างการมาทัวร์สหรัฐฯ กับการมาทัวร์เอเชีย ถ้าเลือกได้ ตัวเลือกแรกเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในแง่ของการเตรียมทีม
อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นจริงๆ ของทัวร์นาเมนต์นี้เกิดขึ้นในเอเชีย และเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
เชลซี แชมป์พรีเมียร์ลีก เอเชีย โทรฟี ครั้งแรก
พรีเมียร์ลีก เอเชีย โทรฟี สารตั้งต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
จุดเริ่มต้นของการออกทัวร์ของพรีเมียร์ลีกที่เป็นการนำจากพรีเมียร์ลีกจริงๆ ต้องย้อนกลับไปไกลถึงปี 2003 เลยทีเดียว
จากกระแสความคลั่งไคล้ของแฟนฟุตบอลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พรีเมียร์ลีกตัดสินใจนำทีมฟุตบอลเดินสายทัวร์เพื่อสร้างฐานแฟนฟุตบอล ซึ่งการมาทัวร์ครั้งแรกเกิดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย โดยมี 3 ทีมจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (ในฤดูกาลนั้น) ที่เข้าร่วม ได้แก่ เชลซี, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และเบอร์มิงแฮม และทีมชาติมาเลเซีย
ปรากฏว่ารายการครั้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ทำให้มีการสานต่ออีกครั้ง ซึ่งครั้งที่ 2 จัดขึ้นในอีก 2 ปีต่อมาที่ประเทศไทยของเรา โดยมี โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เอฟเวอร์ตัน และทีมชาติไทย ชุด U-23 เข้าร่วม
เพียงแต่ครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จนักเพราะทีมที่มาไม่ใช่แม่เหล็กมากพอ ทำให้พรีเมียร์ลีกต้องปรับกลยุทธ์บ้าง โดยจะต้องมีทีมใหญ่ที่มีฐานแฟนฟุตบอลมาเรียกแขกหน่อย ซึ่งก็ทำได้ดีในปี 2007 ที่ฮ่องกง ซึ่งมีทีมท็อปสุดอย่างลิเวอร์พูลนำทัพ มาพร้อมกับปอร์ทสมัธ, ฟูแลม และทีมสโมสรท้องถิ่นเซาท์ไชนาของฮ่องกง
รายการในปี 2007 ผมเองมีประสบการณ์ตรงเพราะได้ไปทำข่าวในรายการนี้ด้วย และต้องบอกว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แฟนบอลเข้ามาชมกันเต็มความจุสนามเลยทีเดียว ในบรรยากาศที่ถือว่าดีมาก
หลังจากนั้นก็มีการเดินทางมาอีกทุก 2 ปี แต่จะไปทางฮ่องกงเป็นหลัก ซึ่งได้เป็นเจ้าภาพอีกถึง 3 ครั้ง (รวม 4 ครั้ง) ในปี 2011, 2013 และ 2017 มีไปที่จีน 2 ครั้งคือปี 2009 ที่ปักกิ่ง และในปี 2019 ที่เซี่ยงไฮ้ ส่วนที่สิงคโปร์ที่เป็น ‘ฮับ’ ของอาเซียนได้เป็นเจ้าภาพ 1 ครั้งในปี 2015
ทั้งนี้ จากการเป็นภูมิภาคที่พรีเมียร์ลีกให้ความสำคัญมาโดยตลอด แน่นอนว่ามีโอกาสที่พรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ จะกลับมาเอเชียอีกครั้ง ซึ่งอาจจะไม่ได้วนเวียนอยู่แค่ในอาเซียน หรือฮ่องกงและจีน แต่อาจได้ออกไปโซนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไปไกลกว่านั้นที่อินโดนีเซีย
หรืออาจจะเป็นการ ‘ทัวร์’ ไปเรื่อยในหลายประเทศติดต่อกันก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน
พรีเมียร์ลีกอยากทำได้แบบ NFL ที่เดินสายทัวร์ทุกปี
เกมที่ 39 ที่กลับมาเกิดใหม่?
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับรายการพรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ อยู่ที่การมองไปยังอนาคตข้างหน้า
โมเดลของรายการนี้มีความคล้ายคลึงกับการออกเดินสายของศึกอเมริกันฟุตบอล NFL ที่มีการมาแข่งขันที่ลอนดอนในประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก ซึ่งนอกจาก NFL ก็มี NBA ที่เคยออกมาทัวร์ที่ประเทศจีนแบบเป็นเรื่องเป็นราว
ความจริงพรีเมียร์ลีกเองเคยคิดการใหญ่ที่จะทำอะไรแบบนี้มานาน ภายใต้โปรเจกต์ที่เรียกว่า ‘เกมที่ 39’ (Game 39) ซึ่งมีการเสนอแนวคิดนี้มาตั้งแต่ปี 2008 โดยนอกเหนือจากการแข่งขันลีกปกติแบบเหย้า-เยือน 38 นัดแล้ว จะให้มีเกมที่ 39 ซึ่งจะจัดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยจะให้ผลการแข่งขันมีผลต่อคะแนนในฤดูกาลด้วย
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องของหลักการ (Integrity) ของเกมที่ 39 ที่ขัดต่อหลักการแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรมของฟุตบอลลีก ซึ่งมีคำถามที่ตอบไม่ได้ เช่น ใครจะเจอใคร ใครจะเป็นทีมเหย้า-เยือน แล้วมันจะยุติธรรมได้อย่างไร จะมีการเอื้อประโยชน์ทีมใหญ่หรือไม่ ฯลฯ ทำให้เรื่องนี้ถูกชะลอไว้และค่อยๆ เงียบหายไป
แต่การเกิดขึ้นของพรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ อาจเรียกได้ว่าเป็นการกลับมาเกิดใหม่ของเกมที่ 39 ได้เช่นเดียวกัน แต่เป็นรูปแบบที่แตกต่าง และอาจเรียกได้ว่าเป็น Lite Version ของเกมที่ 39 เพื่อชิมลางและ ‘ทดลองให้ดู’ ก่อนว่า การออกมาทัวร์ต่างประเทศพร้อมๆ กันหลายๆ ทีมนั้นสามารถประสบความสำเร็จได้มากแค่ไหน และส่งผลดีต่อการขยายฐานแฟนฟุตบอลใหม่ๆ ได้อย่างไร
เพราะแม้ทุกทีมจะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่แฟนฟุตบอลทั่วโลกมีอีกจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน และด้วยพลานุภาพของสื่อยุคใหม่ โซเชียลมีเดียทำให้กระชากใจแฟนบอลได้อย่างง่ายดาย ซึ่งก็มีตัวอย่างทีมอย่าง เร็กซ์แฮม สโมสรเล็กๆ ในลีกล่างๆ ที่มีการสร้างสตอรีจากเจ้าของที่เป็นดาราฮอลลีวูดอย่าง ไรอัน เรย์โนลด์ส ที่ต่อยอดจากโซเชียลมีเดียมาสู่การทัวร์สหรัฐฯ เช่นกันในช่วงฤดูร้อนนี้
รายการพรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์ ที่เพิ่งจบลงไปจึงเป็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่พอจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ได้ผลดีและมีโอกาสที่จะต่อยอดทำอะไรได้อีกมาก
และพอจะบอกปิดท้ายได้ว่า กู๊ดบายซัมเมอร์ เอ้อเหอไม่ได้มีแค่เทอมเดียวแน่นอน (ใครทันมุกนี้ถือว่ามีอายุแล้วนะครับ!)
อ้างอิง: