“ผมอยากเห็นพรีเมียร์ลีกมาแข่งกันในสหรัฐอเมริกาบ้าง”
คำพูดดังกล่าวไม่ใช่คำพูดของแฟนบอลธรรมดาๆ ทั่วไป แต่เป็นคำพูดของ จอห์น มิลเลอร์ บิ๊กบอสแห่งสถานีโทรทัศน์ NBC Sports ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของโลกด้วยมูลค่ากว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ ในสัญญาระยะเวลา 6 ปีด้วยกัน (ตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23-2027/28)
เรื่องนี้ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เคยมีการพูดคุยกันมานานแล้ว สำหรับการ ‘ออนทัวร์’ ของพรีเมียร์ลีก ที่จะเดินสายไปแข่งกันตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในเกมที่เป็นการแข่งขันจริงๆ ไม่ใช่แค่การทัวร์ช่วงหลังจบฤดูกาล หรือช่วงพรีซีซันที่เป็นการอุ่นเครื่องอย่างที่ทำกันมานาน
การออกมาย้ำของ NBC Sports จุดประกายเรื่องนี้ให้กลับมาเป็นประเด็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้ ฮาเวียร์ เตวาส ประธานลาลีกา ประกาศนโยบายว่ามีแนวคิดที่จะพาฟุตบอลสเปนไปแนะนำให้คนอเมริกันได้รู้จักกันถึงบ้าน
ขณะที่กีฬาของชาวอเมริกันอย่าง NFL ก็บุกอังกฤษมาตั้งนานแล้ว
พรีเมียร์ลีกจะมีโอกาสแบบนั้นบ้างไหม?
ประเด็นเรื่องการนำพรีเมียร์ลีกไปแข่งขันยังต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตเกือบ 20 ปีที่แล้ว และเป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างความเดือดดาลอย่างมากในหมู่แฟนฟุตบอล
โดยในปี 2008 ได้มีการ ‘โยนหินถามทาง’ ครั้งใหญ่ ถึงการจัดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในต่างแดน โดยที่จะไม่ใช่เกมลีกทั่วไป แต่เป็นเกมนัดพิเศษที่เพิ่มขึ้นมา
คอนเซปต์นั้นถูกเรียกว่า “เกมที่ 39” (Game 39) ที่มีแนวคิดจะพาพรีเมียร์ลีกไปอวดโฉมในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีฐานแฟนฟุตบอลของพวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะในเอเชียซึ่งเป็นฐานแฟนบอลใหญ่ ตะวันออกกลาง สแกนดิเนเวีย หรือแม้แต่ในอเมริกาใต้และแอฟริกา
แต่ยังไม่ทันไรแนวคิดดังกล่าวก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแฟนฟุตบอลที่ยอมรับไม่ได้กับเรื่องที่จะเอา ‘สมบัติ’ ของพวกเขาไปหาเงินเข้ากระเป๋าแบบนี้ หรือสื่อมวลชนที่ตั้งคำถามหลายอย่างถึงหลักการและความเหมาะสม
เอาแค่เรื่องแรกก่อนคือ เกมที่ 39 ใครจะจับเจอกับใคร? แล้วจะมีการนำผลการแข่งขันมาคิดเป็นคะแนนพิเศษหรือไม่?
และที่สำคัญมันจะยุติธรรมอย่างไร?
คำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบ โปรเจกต์เกมที่ 39 ถูกพับกลับเข้าเก๊ะปิดตายนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยไม่มีการหยิบมาพูดถึงอีกเลย
อย่างไรก็ดี โลกในปี 2024 มีความแตกต่างจากปี 2008 มาก หลายสิ่งหลายอย่างในเกมฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และนั่นรวมถึงเรื่องของการแสวงหารายได้ ที่แม้พรีเมียร์ลีกจะเป็นลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล แต่พวกเขายังไม่เคยพอสำหรับการหาเงิน
การประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดซึ่งเป็นรายได้หลักมีการมองว่าเริ่มถึงจุดอิ่มตัว มูลค่าลิขสิทธิ์ในหลายประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับลดลงบ้าง และการเติบโตในรายได้ส่วนนี้เริ่มชะงัก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะรายรับที่ไม่ได้เติบโตสวนทางกับรายจ่ายของสโมสรต่างๆ ที่พุ่งพรวดอย่างน่าตกใจ (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เริ่มมีความเข้มงวดในเรื่องของรายจ่ายสโมสรฟุตบอล)
ดังนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการหารายได้เพิ่มเข้ามา
หนึ่งในแนวทางที่พรีเมียร์ลีกฝันไว้คือการนำ ‘The Greatest Show on Earth’ ไปปรากฏตัวในต่างประเทศให้ได้ โดยเฉพาะในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยโอกาสและศักยภาพ ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีความพยายามทั้งจากพรีเมียร์ลีกเองและสโมสรเองที่จะเจาะตลาดนี้ให้ได้
ความพยายามล่าสุดที่น่าสนใจอย่างมากคือการจัดรายการ ‘พรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์ ซีรีส์’ (Premier League Summer Series) ในช่วงพรีซีซันที่ผ่านมา โดยมีการนำทีมในลีกสูงสุดทั้งหมด 6 ทีมลงแข่งขัน 9 นัดใน 5 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ
ปรากฏว่ารายการนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ตั๋วเข้าชมถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็วในเวลาไม่นาน มีจำนวนผู้ชมเข้ามาชมเกมในสนามรวมทั้ง 9 นัดมากกว่า 265,000 คน โดยที่มีการนำเสนอข่าวและเรื่องราวจากรายการอย่างมากมาย ทั้งคอนเทนต์จากพรีเมียร์ลีก จากสถานี หรือแม้แต่จากผู้ชมที่สร้างคอนเทนต์ส่งต่อกันบนโซเชียลมีเดีย
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีความพยายามจับกระแสต่อเนื่อง NBC ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์มีอีเวนต์ชมเกมฟุตบอลร่วมกันที่เรียกว่า ‘พรีเมียร์ลีก มอร์นิง ไลฟ์’ (Premier League Mornings Live) ซึ่งเป็นแฟนเฟสติวัลที่จัดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างวอชิงตัน ดี.ซี., นิวยอร์ก (2 ครั้ง), บอสตัน, ออสติน, หาดไมอามี, ลอสแอนเจลิส, ฟิลาเดลเฟีย และออร์แลนโด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรวมกันมากกว่า 60,000 คน (ปกติแล้วงานชมฟุตบอลใหญ่ในไทยจะมีผู้ชมหลักพันคน)
เรียกว่ามองเห็นโอกาสของความสำเร็จที่จะนำเกมแข่งขันของจริงที่มีมูลค่าสูงสุดมาจุดกระแสอยู่รำไร
นอกจากพรีเมียร์ลีกแล้ว ลีกในกลุ่ม ‘ท็อปไฟว์’ อื่นเช่น ลาลีกา สเปน, เซเรีย อา อิตาลี หรือลีกเอิง ฝรั่งเศส ก็มองโอกาสนี้เช่นกัน หรือแม้แต่พี่ใหญ่อย่างยูฟ่าเองก็คิดถึงการจัดนัดชิงแชมเปียนส์ลีกในสหรัฐฯ ด้วย
ปัญหาและอุปสรรคคือความเป็น ‘ฟุตบอลอังกฤษ’ ที่มีขนบธรรมเนียมยาวนาน การเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจแบบนี้เป็นเรื่องไม่ง่ายที่สังคมจะยอมรับ
ทั้งๆ ที่ในทางกลับกัน การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL รวมถึงบาสเกตบอล NBA หรือแม้แต่เบสบอล MLB ต่างเคยมาจัดการแข่งขันในลอนดอนจนเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะ NFL ที่เริ่มจุดกระแสตั้งแต่การนำ ไมอามี ดอลฟินส์ มาแข่งกับ นิวยอร์ก ไจแอนท์ส ที่เวมบลีย์ในปี 2007 และเดินทางมาแข่งโชว์ทุกปี มีทีมที่เดินทางมาแข่งในลอนดอนแล้วกว่า 32 ทีม โดยมีกรีน เบย์ แพ็คเกอร์ส เป็นทีมสุดท้ายที่จะเดินทางมา
คนอังกฤษก็ตื่นเต้นและสนุกไปกับกีฬาที่ไม่ได้มีให้ดูในบ้านเหมือนกัน
NFL ไม่ได้จัดการแข่งขันเฉพาะที่อังกฤษด้วย พวกเขาขยายฐานไปถึงเยอรมนีและบราซิล โดยในปี 2025 จะมีการแข่งขัน ‘นอกประเทศ’ ทั้งหมด 8 นัดด้วยกัน
ไอเดียของ NFL ก็เป็นสิ่งเดียวกับที่พรีเมียร์ลีกหวังใจจะทำตั้งแต่ปี 2008 เหมือนกัน แต่ก็ติดขัดมาโดยตลอด
โดยที่เรายังไม่ได้พูดถึงประเด็นละเอียดอ่อนอย่างเรื่องสวัสดิภาพของนักฟุตบอลที่ปัจจุบันเริ่มกรอบเป็นข้าวเกรียบ ไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องของสภาพร่างกาย แต่ลามไปถึงสภาพจิตใจของผู้เล่นหลายๆ คนที่ออกมายอมรับว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและต้องการความช่วยเหลือ
การเดินทางไปแข่งต่างประเทศ หากมีขึ้นจริงก็จะสร้างความลำบากเพิ่มขึ้นในตารางการแข่งขันที่เดิมก็อัดแน่นเป็นปลากระป๋องอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี ในมุมของนักการตลาดแล้ว พวกเขาเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งพรีเมียร์ลีกย่อมหนีไม่พ้นสำหรับการจัดแมตช์ในต่างแดน
การเริ่มต้นในสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงที่สุด โดยอาจจัดเป็น MATCHWEEK พิเศษ ที่จะพาทั้ง 20 ทีมไปปรากฏตัวในดินแดนแห่งเสรีภาพ (หรือแบ่งไปครั้งละ 10 ทีม สัปดาห์ละ 5 แมตช์) ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ดี
เรื่องการต่อต้านของแฟนฟุตบอลเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพียงแต่ความจำเป็นของสโมสรที่จะต้องแข่งขันและอยู่รอดก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เหมือนกัน
และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เชื่อว่าแฟนบอลอังกฤษไม่มีทางเลือกนอกจากการยอมรับและทำใจในเรื่องนี้
อ้างอิง: