ในวันนี้ทั้ง 20 สโมสรพรีเมียร์ลีกเตรียมเข้าประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อหารือในหลายประเด็นสำคัญ ก่อนตัดสินใจว่าจะกดปุ่มเปิดม่านฤดูกาล 2019-20 ให้กลับมาแข่งขันกันต่อในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ตามที่มีการประกาศออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่
หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่น่าจับตามองคือหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ไม่สามารถแข่งขันต่อจนจบฤดูกาลได้จะตัดสินอย่างไร
โดยสถานการณ์ไม่คาดฝันที่มีการละไว้ในฐานที่เข้าใจคือการระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 ที่หากเกิดขึ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถูกหยุดอีกครั้ง รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลที่ไม่สามารถจะดำเนินต่อไปได้อย่างแน่นอน
กรณีเช่นนั้น สิ่งที่ทุกสโมสรพรีเมียร์ลีกจะต้องหารือกันคือการหาวิธีปิดฉากฤดูกาลอย่างไร จะใช้เกณฑ์ใดในการตัดสินอันดับ และคำถามต่อมาที่เป็นคำถามแทงใจดำของหลายฝ่ายคือจะมีการตกชั้นหรือไม่
เพราะเวลานี้เริ่มมีกระแสในหลายสโมสรที่ไม่ต้องการให้การตกชั้นในฤดูกาลนี้ เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และการตกชั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมหาศาลต่อทุกสโมสรที่เผชิญชะตากรรมดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ทางด้านสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) เคยยืนกรานชัดเจนแล้วว่าจะขัดขวางแนวคิดนี้ และการจะผ่านมตินี้ได้ต้องใช้เสียงจำนวน 14 เสียง หรือ 2 ใน 3 ของจำนวนสโมสรทั้งหมด รวมถึงเสียงจาก FA ที่เป็นคะแนนโหวตพิเศษ
แต่คาดว่าในวันนี้จะยังไม่มีการโหวตในประเด็นนี้ทันที มีเพียงการหารือก่อน และจะมีการโหวตในการประชุมย่อยอีกครั้ง
ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่ยังต้องมีการพูดคุยกันยังมีเรื่องของการใช้สนามเป็นกลางที่มีการพูดถึงก่อนหน้านี้
ประเด็นนี้ตามรายงานข่าวของ BBC เชื่อว่าแผนการในเวลานี้คือการที่ทุกสโมสรจะได้เล่นเกมในบ้าน-เยือนตามปกติของระบบลีก เพียงแต่พรีเมียร์ลีกจะนำเสนอเรื่องของแผนการดำเนินงานในสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีที่หากเกิดการระบาดขึ้นสูงอีกครั้งในภูมิภาคของสโมสร
แบบนั้นก็จะต้องไปแข่งที่สนามเป็นกลาง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีการลงคะแนนโหวตด้วย เพราะจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ซึ่งต้องใช้ 14 เสียงเช่นกัน
อีกเรื่องที่จะต้องหารือกันคือเรื่องของการถ่ายทอดสด นอกจากจำนวนเกม ตารางแข่งขัน ยังมีรายละเอียดอื่นๆ เช่น การสัมภาษณ์ผู้จัดการทีมในระหว่างช่วงพักครึ่งเวลา หรือการติดตั้งกล้องในห้องแต่งตัว ซึ่งแม้จะแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับการยอมรับ แต่เป็นสิ่งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องนำเสนอความคิดเพื่อหาทางทำให้การถ่ายทอดสดมีสีสันขึ้น เพราะปัญหาใหญ่คือการที่แฟนบอลไม่สามารถเข้าสนามได้
ในประเด็นที่เกี่ยวกับแฟนบอลเอง พรีเมียร์ลีกมีการจัดเตรียมแผนต่างๆ ไว้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้โลกลูกหนังได้เห็นไอเดียดีๆ ของหลายลีก เช่น การพิมพ์ภาพแฟนบอลบนกระดาษแข็งแล้วแปะในสนาม หรือการถ่ายทอดสดผ่านระบบ Zoom ของทีม AGF Aarhus ในเดนมาร์ก หรือการชวนให้แฟนบอลมาชมการถ่ายทอดสดแบบ Drive-in ของทีม FC Midtjylland
เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าพรีเมียร์ลีกจะมีการเสนอไอเดียให้แต่ละสโมสรได้ปฏิบัติตามอย่างไร แต่เชื่อว่าแนวทางที่ง่ายและประหยัดงบประมาณที่สุดคือการใช้จอขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้วในการถ่ายทอดสดให้แฟนบอลชม ณ จุดใดจุดหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นปลีกย่อย เช่น จำนวนของคนที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาที่สนามได้ มาตรการ วิธีการปฏิบัติงานต่างๆ ในการจะกลับมาแข่งขัน และอื่นๆ ที่มีรายละเอียดเปิดเผยดังนี้
- จะมีแค่ 300 คนที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในสนามในวันแข่งขัน
- จะมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสนาม และจะมีการกำหนดเส้นทางปลอดเชื้อตั้งแต่จุดแรกที่เดินทางมาถึงสนามไปจนถึงห้องแต่งตัว
- ทีมจะถูกร้องขอให้พักในโรงแรมในคืนก่อนแข่ง อาจจะใช้การเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อลดเวลาในการเดินทาง ส่วนถ้าเดินทางด้วยรถ นอกจากรถโค้ชแล้วอาจจะเสริมด้วยรถอื่นๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและรักษาระยะห่าง
- จำนวนผู้เล่นในทีมจะถูกจำกัดที่ 20 คนต่อเกม แบ่งเป็นตัวจริง 11 คน ตัวสำรอง 7 และอีก 2 คนที่สแตนด์บายเผื่อกรณีที่มีคนป่วยหรือบาดเจ็บกะทันหัน
- จำนวนสตาฟฟ์ รวมถึงโค้ชและทีมแพทย์จะถูกจำกัดที่ 12 คน
- ทีมถ่ายทอดสดจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในสนาม 98 คน และอีก 75 คนนอกสนาม ส่วนสื่อมวลชนจะได้รับอนุญาตแค่ 25 คน
- VAR จะดำเนินการในศูนย์ที่ Stockley Park เท่านั้น ไม่มีที่สนาม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.thetimes.co.uk/edition/sport/fly-to-games-and-avoid-hotels-premier-league-clubs-told-mvf38sc9z
- https://www.bbc.com/sport/football/52913164
- ในการตรวจหาเชื้อรอบที่ 5 ของพรีเมียร์ลีก พบผู้เล่นสเปอร์สติดเชื้อ 1 ราย รวมติดเชื้อ 13 ราย จากจำนวนการตรวจ 5,079 ครั้ง
- พรีเมียร์ลีกอนุญาตให้แต่ละสโมสรจัดการแข่งกระชับมิตรได้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมแบบเข้มข้นก่อนจะกลับมาแข่งอีกครั้ง