×

พรีเมียร์ลีกเตรียมตีตรวน 6 สโมสรกบฏ และกฎ ‘50+1’ ที่แฟนบอลอังกฤษเรียกร้องคืออะไร

23.04.2021
  • LOADING...
พรีเมียร์ลีกเตรียมตีตรวน 6 สโมสรกบฏ และกฎ ‘50+1’ ที่แฟนบอลอังกฤษเรียกร้องคืออะไร

เหตุการณ์การก่อกบฏของ 12 สโมสรระดับชั้นนำของยุโรปที่เรียกว่าเหตุการณ์ ‘ยูโรเปียนซูเปอร์ลีก’ จบลงและผ่านมาได้ราว 3 วันแล้ว โดยที่วงการฟุตบอลต่างจับตามองว่าสโมสรเหล่านี้จะได้รับบทเรียนหรือบทลงโทษอย่างไรให้หลาบจำต่อการกระทำครั้งนี้บ้าง

 

จะโดนจับขึ้นลานประหารให้เพชฌฆาตเอาดาบฟาดฟันผ่านลำคอเหมือนนางวันทองหรือไม่?

 

อย่างไรก็ดี ตามทิศทางข่าวที่ปรากฏยังไม่มีความชัดเจนมากนัก และการตัดสินเรื่องนี้ก็แยกออกเป็น 2 ระดับคือ ในระดับภายในประเทศ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสมาคมฟุตบอลของ 3 ชาติ อังกฤษ, สเปน และอิตาลี และในอีกระดับคือระดับทวีป ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ในการดำเนินการ

 

ที่พอจะมีสัญญาณมากหน่อยเป็นทางอังกฤษ ซึ่งมีรายงานข่าวปรากฏว่าพรีเมียร์ลีกเตรียมที่จะดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับ ‘Big Six’ 6 สโมสรจอมกบฏไม่รักดีที่ไปเข้าร่วมกับอีก 6 สโมสรระดับท็อปของยุโรปเพื่อก่อตั้ง ‘ยูโรเปียนซูเปอร์ลีก’ (ESL)

 

เพียงแต่คงจะไม่ถึงขั้นตัดแต้ม ปรับตกชั้น หรือริบแชมป์ในอดีตอย่างที่มีการเรียกร้องกัน

 

ในเบื้องต้นทางด้าน ริชาร์ด มาสเตอร์ส ในฐานะซีอีโอของพรีเมียร์ลีกได้เชิญ 3 ผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาทในพรีเมียร์ลีกด้วยอย่าง บรูซ บัค ประธานสโมสรเชลซี, เอ็ด วูดเวิร์ด รองประธานบริหารแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ทอม เวอร์เนอร์ ประธานสโมสรลิเวอร์พูล ให้ลงจากตำแหน่งไปก่อน

 

การพ้นจากตำแหน่งของทั้งสาม หากให้เปรียบก็ถือเป็นการ ‘ตบหน้า’ เบาๆ ของพรีเมียร์ลีกที่ได้อำนาจในการต่อรองกลับมา

 

แต่สิ่งที่พรีเมียร์ลีกวางแผนจะทำเพื่อหลักประกันความยั่งยืนของพวกเขาในอนาคตไม่ให้สโมสรเหล่านี้กระทำแบบเดิมอีก ซึ่งยังมีโอกาสจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อ ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าซูเปอร์ลีกยังไม่ตาย

 

สิ่งที่พรีเมียร์ลีกได้เรียนรู้คือกฎระเบียบบางข้อนั้นมีความหละหลวมและไม่ทันสมัย

 

โดยเฉพาะกฎข้อสำคัญอย่างข้อ L9 ซึ่งในกฎมีการระบุชื่อรายการต่างๆ ที่สโมสรซึ่งเป็นสมาชิกได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมได้ (เช่น ลีกคัพ, เอฟเอคัพ, สองรายการของยูฟ่า) ซึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นกฎข้อดังกล่าวไม่ต่างอะไรจากเสือกระดาษ เพราะมีการระบุในนั้นว่า สโมสรที่เป็นสมาชิกของพรีเมียร์ลีกจำเป็นจะต้องเขียนคำร้องขอ และได้รับการอนุมัติจากบอร์ดก่อน แค่หนึ่งลายเซ็นก็ได้

 

ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะในกลุ่มคณะผู้ก่อการ 6 สโมสรมีผู้บริหาร 3 คนที่บอก

 

พรีเมียร์ลีกจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของกฎข้อนี้ โดยทางด้าน ริชาร์ด มาสเตอร์ส จะหารือร่วมกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ในการที่จะอุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดการก่อกบฏแบบนี้อีก

 

อย่างน้อยการปลดบัค, วูดเวิร์ด และเวอร์เนอร์ ทำให้สโมสรเหล่านี้มีตำแหน่งในบอร์ดบริหารอีก ไม่มีใครจะเซ็นอนุมัติให้ โดยที่สโมสรอื่นๆ เองก็จะร่วมกันทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการออกนอกลู่นอกทางอีกครั้ง

 

เป็นการจับนักโทษทั้ง 6 ตีตรวนเอาไว้ก่อน 

 

อย่างไรก็ดี สำหรับแฟนๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการแค่นี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น การที่สโมสรที่พวกเขารักถูกเจ้าของสโมสรนายทุนเอาไปปู้ยี้ปู้ยำทำอะไรก็ได้ตามใจชอบตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แฟนบอลเหล่านี้ไม่สามารถทนรับไหวอีกต่อไป

 

สิ่งที่พวกเขาต้องการและเริ่มมีการเรียกร้องหนักขึ้นคือ การให้มีกฎ ‘50+1’ เพื่อคานอำนาจระหว่างแฟนบอลกับนายทุน

 

 

กฎ 50+1 คืออะไร?

 

สำหรับกฎ 50+1 นั้นเป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการของเงื่อนไขที่มีการระบุเอาไว้ของ Deutsche Fußball-Liga หรือ DFL (เดเอฟแอล-ฟุตบอลลีกเยอรมัน) ซึ่งเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือพรีเมียร์ลีกของประเทศเยอรมนี

 

กฎข้อนี้ระบุเอาไว้ว่า หากสโมสรฟุตบอลอยากจะเข้าร่วมแข่งในบุนเดสลีกา สโมสรจะต้องได้เสียงส่วนใหญ่จากการโหวตภายในสโมสร โดยแนวคิดคือการที่สมาชิกของสโมสรจะเป็นฝ่ายควบคุมสโมสร โดยถือครองหุ้นของสโมสรจำนวน 50%

 

และบวกกับอีก 1 หุ้น เพื่อให้ได้เสียงส่วนใหญ่ ป้องกันไม่ให้สโมสรตกอยู่ใต้อิทธิพลของนายทุน

 

ที่มาของกฎนี้เริ่มจากการที่เดิมสโมสรในเยอรมนีนั้นมีสมาชิกเป็นเจ้าของสโมสรอยู่แล้ว นั่นหมายถึงสโมสรทั้งหมดจะบริหารแบบ ‘องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร’ และจะไม่มีการอนุญาตให้ใครถือครองสโมสรได้แต่เพียงผู้เดียว (แตกต่างจากในอังกฤษที่นายทุนจะเป็นเจ้าของสโมสร)

 

แต่เพื่อให้สโมสรสามารถแข่งขันกับโลกฟุตบอลที่เข้าสู่ยุคทุนนิยม ทางด้านสมาคมฟุตบอลเยอรมัน (เดเอฟเบ-DFB) ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎในเดือนตุลาคมปี 1998 เพื่ออนุญาตให้สโมสรเปลี่ยนสถานะเป็นการจดทะเบียนในนามบริษัทได้ เพียงแต่เพื่อไม่ให้นายทุนมีอิทธิพลมากเกินไป จึงมีการตรากฎ ‘ 50+1’ เอาไว้ 

 

โดยสโมสรฟุตบอล (Parent Club) หรือพูดง่ายๆ คือกลุ่มสมาชิกที่ถือหุ้นสโมสรเดิมทั้งหมด จะเป็นเจ้าของหุ้น 50% ในบริษัท และต้องมีอีก 1 หุ้นในบริษัทนั้น

 

ทั้งนี้ แม้ว่าจะดูเป็นกฎที่ดีสำหรับสโมสรและวงการฟุตบอล แต่ก็เคยมีกรณีขัดแย้งเพราะกฎนี้ โดยในปี 2009 สโมสรฮันโนเวอร์ 96 เคยพยายามผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลงกฎ 50+1 โดยชี้ว่าผิดต่อกฎหมายของสหภาพยุโรป แต่ในการโหวตลงคะแนนแล้วเป็นฝ่ายแพ้ขาด 32 ต่อ 36 เสียงของสโมสรทั้งหมดในบุนเดสลีกา 1 และ 2

 

แต่กฎข้อนี้ก็มีช่องว่าง และมีนายทุนหรือกลุ่มทุนที่ถือครองหุ้นอยู่ อาทิ ไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซน ซึ่งเป็นของบริษัทยา Bayer, เอา เอฟแอล โวล์ฟสบวร์ก ซึ่งเป็นของ Volkswagen บริษัทผลิตรถยนต์ระดับโลก และ ดีเตอร์ ฮอปป์ ที่ได้ถือครองสโมสร 1899 ฮอฟเฟนไฮม์ 

 

อย่างไรก็ดี กรณีที่คนเยอรมันไม่โอเคที่สุดคือ แอร์เบ ไลป์ซิก สโมสรที่ใช้ช่องว่างของกฎ 50+1 เพราะคนที่เป็น ‘สมาชิก’ ของสโมสรที่ถือหุ้น 50+1 นั้นเป็นคนจากกลุ่ม Red Bull GmbH ไม่ใช่แฟนฟุตบอลที่แท้จริง เพียงแต่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ นอกจากการที่ไลป์ซิกเป็นสโมสรที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสโมสรทั่วไป

 

ส่วนในประเทศอื่นที่มีกฎคล้ายคลึงกันนั้น มีประเทศสวีเดน ที่มีกฎ ‘51%’ ที่ระบุว่าสโมสรที่ไม่แสวงผลกำไรเท่านั้นที่จะสามารถแข่งในระบบลีกของสวีเดนได้ และหากจะจัดตั้งเป็นบริษัทแล้ว สโมสรจะต้องมีหุ้นในบริษัทดังกล่าว 51% เท่านั้น

 

ขณะที่ในสเปน สโมสรอย่าง บาร์เซโลนา และ เรอัล มาดริด ก็ใช้ระบบสมาชิกที่แฟนฟุตบอลทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการโหวตคณะผู้บริหารของสโมสร ตั้งแต่ประธานสโมสรลงมา เพื่อให้ทำงานแทนพวกเขาในการพาสโมสรประสบความสำเร็จ ถ้าทำงานไม่ถูกใจก็จะไม่ได้รับโอกาสในการทำงานอีก

 

ทั้งนี้ แม้ว่ากฎดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อแฟนฟุตบอลในการปกป้องสโมสรของตัวเอง แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ง่ายนักเมื่อสโมสรฟุตบอลของอังกฤษอยู่ในระบบนายทุนมาโดยตลอด มีเพียงสโมสรในระดับลีกล่างไม่กี่แห่งเท่านั้นที่บริหารภายใต้แฟนฟุตบอลเอง

 

และผลกระทบดังกล่าวนั้นจะสะเทือนไปทั้งวงการฟุตบอลอังกฤษ ไม่ใช่แค่เฉพาะ 6 สโมสรเท่านั้น

 

เพียงแต่จากสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดเชื่อได้ว่าจะมีความพยายามในการที่จะต่อสู้จากแฟนบอลเพื่อนำสโมสรของพวกเขากลับมา โดยรัฐบาลอังกฤษจะร่วมด้วยเนื่องจากคนที่ให้ความเห็นเรื่องนี้มาจาก โอลิเวอร์ ดาวเดน เลขาธิการ DCMS (กระทรวงที่กำกับดูแลเกมกีฬา) เอง

 

อาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยไม่ให้ถูกเอาไปทำอะไรให้เสื่อมเสียในอนาคตก็ยังดี

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X