หนึ่งในปัจจัย 4 ที่ยังคงมีความสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางความ ‘เปลี่ยนแปลง’ อันรวดเร็วของเทคโนโลยีในโลกนั้น ก็คือยารักษาโรค วิกฤตโควิดได้ให้บทเรียนทุกคนในการฉุกคิดและตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านสาธารณสุข ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่เป็นปัจจัยหลักที่กำหนดชะตาอนาคตของระบบเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะเมื่อกิจกรรมทางธุรกิจและการค้าขายต้องหยุดชะงัก ธุรกิจก็จำเป็นต้องลดรายจ่าย ผู้คนต่างขาดรายได้ ทำให้การหมุนของวงล้อเศรษฐกิจไม่ทำงาน อย่างที่ทุกคนได้เผชิญมาแล้วเมื่อช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ในประเทศที่ความมั่นคงทางสาธารณสุขสูงและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี เศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านั้นก็กลับฟื้นตัวได้เร็ว ด้วยผลกระทบเชิงลบที่น้อยกว่า
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกจัดให้อยู่ในวาระสำคัญอันดับต้นๆ คือเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ หมายความว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสังคมจะเพิ่มขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยในวันนี้กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในอดีต ประเทศไทยอาจเน้นไปที่การผลิตยาสามัญให้ผู้คนเข้าถึงได้ในวงกว้างด้วยราคาย่อมเยา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อโครงสร้างประชากรทั่วโลกเปลี่ยน ไทยจึงจำเป็นต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า “สิ่งที่เราทำอยู่มันเพียงพอต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในระยะยาวหรือไม่?”
จากความท้าทายทางสุขภาพที่จะนำไปสู่ความท้าทายต่างๆ THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ นันทิวัต ธรรมหทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) องค์กรกลางที่มีสมาชิกเป็นบริษัทยาต่างๆ กว่า 33 ราย เช่น Pfizer, AstraZeneca และ GSK โดยสมาชิกกลุ่มนี้จะเน้นความสำคัญไปกับการลงทุนวิจัย คิดค้น และพัฒนายาใหม่ๆ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมยาให้มีประสิทธิผลและความปลอดภัยในการรักษามากยิ่งขึ้น ผ่านการสนทนาเพื่อค้นหาคำตอบทั้งโอกาสและความท้าทายที่ซ่อนอยู่ในโลกของยา รวมถึงทิศทางอนาคตประเทศไทยในเรื่องนี้
บทบาทของยานวัตกรรมในยุคที่ ‘โลก’ และ ‘โรค’ เปลี่ยน
นันทิวัตกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ในรายการ WEALTH IN DEPTH ว่าในมุมมองของอุตสาหกรรมยา ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือการใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องของอาหารการกิน หรือการออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยง แต่หลายครั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะกับคนส่วนใหญ่
ในกรณีเช่นนี้ยาจึงเข้ามามีบทบาทช่วยผ่อนหนักเป็นเบา และสามารถตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตกับการรักษาผลิตภาพโดยป้องกันให้คนไม่ป่วยหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย ทำให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตเพื่อสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่เมื่อพวกเขาปราศจากโรคต่างๆ
“โลกเราพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ‘โรค’ ก็พัฒนาเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการผลิตยานวัตกรรมคือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ที่ยังขาดยารักษาในปัจจุบัน ถึงแม้การผลิตยาประเภทนี้จะใช้เวลานานและมีต้นทุนที่สูงมาก แต่การรักษาโรคใหม่ๆ ก็จะเป็นไปไม่ได้ต่อไปในอนาคต หากไม่ลงมือทำในส่วนนี้ตั้งแต่วันนี้” นันทิวัตกล่าว
PReMA ได้ยกตัวอย่างโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคที่เรียกว่า NCDs (Non-Communicable Diseases) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุลและขาดการเอาใจใส่ดูแลตัวเอง โดยโรคที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นกันในกลุ่มนี้ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต หรือไขมันในเลือดสูง ในกรณีเช่นนี้ หากมีอาการยังไม่มากก็อาจใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยให้หายหรือมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงคนปกติได้ และในรายที่มีอาการมากแล้ว ยาก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ เพราะอาการที่มากขึ้นย่อมหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย และรัฐก็จะสูงขึ้นด้วย
“การตั้งต้นด้วยความใส่ใจรักสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่เมื่อเจ็บป่วย ยาก็จำเป็นเช่นเดียวกัน ถ้าหากมองในมุมผู้ป่วย ยาคือความหวังของพวกเขา เพราะมันสามารถลดระดับความรุนแรงของอาการหรือกระทั่งรักษา ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนไม่บานปลาย”
ผลตอบแทนที่มากกว่าความมั่นคงทางสุขภาพของยานวัตกรรม
จากข้อมูลบริษัท IQVIA มูลค่าอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 2021 กว่า 12% แต่ในส่วนของยานวัตกรรมนั้นประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาผู้ผลิตจากต่างประเทศอยู่
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ผลิตยาไทยจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับการผลิตยาทั่วไป (Generic Medicine) เป็นหลัก หรือยาที่เคยเป็นนวัตกรรมแต่หมดอายุสิทธิบัตรคุ้มครองไปแล้ว ซึ่งมีความสำคัญกับระบบความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยเช่นกัน เพราะสามารถทำให้ยาถูกลงจนคนเข้าถึงได้มากขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และอีกส่วนที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือเรื่องของยานวัตกรรมที่เป็นการ ‘Push Boundaries’ หรือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการป้องกันและรักษาโรค
สำหรับความคืบหน้าด้านยานวัตกรรมในประเทศไทย นันทิวัตกล่าวว่า “เรามีเครือข่ายสาธารณสุขที่เข้มแข็งไม่แพ้ในหลายๆ ประเทศ ด้วยบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ ถือว่าอยู่ในแนวหน้า” ประเทศไทยจึงได้รับการลงทุน การวิจัยทางคลินิกอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เพียงแต่ว่าจุดที่เราอยู่ในปัจจุบันน่าจะสามารถพัฒนาให้ดีได้กว่านี้อีก
หากจะมองให้ไกลกว่าผลประโยชน์ทางสุขภาพที่สาธารณะของไทยจะได้จากยานวัตกรรม ทาง PReMA ชี้ว่าเศรษฐกิจก็เป็นอีกผลประโยชน์หนึ่งที่อาจถูกมองข้ามไป หนึ่งในงานวิจัยที่องค์กรได้เคยทำไว้ พบว่าทุกๆ การลงทุน 1 บาทในการวิจัยยานวัตกรรมจะให้ผลผลิตกลับมาเป็นมูลค่าเท่ากับ 2.9 บาท
อย่างไรก็ตาม การจะผลิตยานวัตกรรมหนึ่งตัวจำเป็นต้องใช้เวลาหลายสิบปีด้วยเงินลงทุนระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะผู้วิจัยต้องทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นร้อยเป็นพันตัว กว่าจะคัดเหลือเพียงหนึ่งหรือสองตัวที่มีโอกาสสำเร็จสูงสุด จากนั้นจึงนำมาทดลองต่อเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยกับมนุษย์ แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากความทุ่มเทนี้คือผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในยานวัตกรรม
อนาคตของการเติบโตในยานวัตกรรมไทย
แน่นอนว่าเป้าหมายที่จะมุ่งเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในชั่วข้ามคืน การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จและเติบโตได้นั้นจำเป็นจะต้องมีระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยและให้คุณค่ากับยานวัตกรรม โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมเหล่านี้ได้เมื่อยาถูกพัฒนาขึ้น พูดง่ายๆ คือหลังจากพัฒนามาแล้วแพทย์ต้องสั่งจ่ายให้คนไข้ได้ในวงกว้างมากพอ นั่นจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยานวัตกรรมเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ นันทิวัตมองว่าก้าวแรกที่สำคัญของประเทศไทยคือการพยายามหาความเชื่อมโยงของผู้ผลิตยาไทยเข้ากับ Value Chain ของอุตสาหกรรมยาโลก ซึ่งในวันนี้ประเทศไทยมาถูกทางแล้ว เพราะเรามีเครือข่ายวิจัยทางคลินิกที่ทำการวิจัยยาค่อยๆ เติบโตขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ก็จะมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้น ประชาชนบางกลุ่มก็สามารถเข้าถึงยานวัตกรรมใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นจากการเข้าร่วมวิจัย แล้ววันหนึ่งเมื่อโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สมบูรณ์ ผู้ประกอบการในประเทศก็จะเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในส่วนของสิ่งที่ PReMA อยากชวนคิดคือการสร้างระบบสุขภาพที่ให้คุณค่าของยานวัตกรรม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการเริ่มก็จำเป็นจะต้องมาจากการที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ยานวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็น
“Lifespan ยาวอย่างเดียวไม่พอ แต่ Healthspan ต้องยาวด้วย” คือโจทย์ที่ควรตั้งกับระบบสาธารณสุขในวันนี้ที่ผู้คนมีแนวโน้มจะมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น ฉะนั้นทำอย่างไรที่คุณภาพชีวิตจะยืนยาวควบคู่กันไปกับระยะเวลาการใช้ชีวิต ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการผลักดันความคาดหวังนี้ให้เป็นจริง