×

ย้อนที่มา หาความหมาย ทำไมใครๆ ต่างตบเท้าเข้าอวยพร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในวันสำคัญต่างๆ

02.04.2019
  • LOADING...
เปรม ติณสูลานนท์

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การเข้าอวยพร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ณ บ้านสี่เสาเทเวศร์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2525 เพื่อแสดงพลังของกองทัพบกที่พร้อมสนับสนุนพลเอก เปรม (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น)
  • คนแรกที่นำทหารตบเท้าเข้าอวยพรคือ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ซึ่งหลังเข้าอวยพรในวันคล้ายวันเกิด ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เริ่มมีรอยร้าว

การเข้าอวยพร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในวันสำคัญต่างๆ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมาจากการทำรัฐประหารต่างก็เข้าอวยพร บางปีเปิดให้หลายคณะ บางปีเปิดให้คณะเดียว

 

จุดเริ่มต้นการเข้าอวยพร พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ณ บ้านสี่เสาเทเวศร์

สำหรับการเข้าอวยพรพลเอก เปรม ณ บ้านสี่เสาเทเวศร์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2525 โดยเป็นการเข้าอวยพรในวันคล้ายวันเกิด (26 สิงหาคม) ภายหลังพลเอก เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประมาณ 2 ปี (3 มีนาคม 2523) บุคคลแรกที่เข้าอวยพรคือ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก (ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งในปี 2526) นำคณะนายทหารจากกองทัพบกเข้าอวยพรพลเอก เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ (กองบรรณาธิการมติชน, 2528, 21-22)

 

เปรม ติณสูลานนท์

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ภาพ: เสถียร จันทิมาธร, 2549, 170

 

การเข้าอวยพรพลเอก เปรม ในวันคล้ายวันเกิด 26 สิงหาคม 2525 เกิดจากเหตุทางการเมืองสองประการ (กองบรรณาธิการมติชน, 2528, 35-39 : วิเชียร ตันศิริคงคล, 2537, 105-107)

 

1. ภายหลังเหตุการณ์ก่อการรัฐประหารพลเอก เปรม ในเดือนเมษายน 2524 กลุ่มทหาร จปร.7 (ยังเติร์ก) ซึ่งคุมกำลังรบ 13 กรม 42 กองพัน นำโดย พันเอก มนูญ รูปขจร (ปัจจุบันคือ พลตรี มนูญกฤต รูปขจร) ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ร่วมกับ พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก, พลโท วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา แม่ทัพภาคที่ 1 และพลตรี สุจินต์ อารยะกุล ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ทำการรัฐประหารพลเอก เปรม แต่ไม่สำเร็จ

 

2. พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชากรไทยจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอก เปรม ในปี 2525 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งพลเอก เปรม ยืนยันว่าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาสายทหารจากกองทัพบก

 

เปรม ติณสูลานนท์

เหตุการณ์ก่อการรัฐประหารพลเอก เปรม ในเดือนเมษายน 2524

ภาพ: ทีมงานไทยรัฐ, 2524, 4-5, 20

 

ดังนั้นการเข้าอวยพรพลเอก เปรม ในปี 2525 เป็นการแสดงพลังของกองทัพบกที่พร้อมสนับสนุนและให้กำลังใจ ทั้งยังเป็นส่งสัญญาณถึงพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชากรไทย ซึ่งจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อพลเอก เปรม ให้เห็นว่าถ้าจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ต้องผ่านด่านกองทัพบกให้ได้เสียก่อน


ภายหลังการเข้าอวยพรในปี 2525 เริ่มเห็นรอยปริแห่งความขัดแย้งระหว่างพลเอก เปรม กับพลเอก อาทิตย์ และมาขัดแย้งอย่างรุนแรงกรณีลดค่าเงินบาทในปี 2527 ซึ่งพลเอก อาทิตย์ ออกช่อง 5 วิพากษ์วิจารณ์การลดค่าเงินบาทของพลเอก เปรม อย่างรุนแรง (เสถียร จันทิมาธร, 2549, 142-145)

 

และในวันที่ 9 กันยายน 2528 เกิดเหตุการณ์ก่อรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง นำโดย พันเอก มนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโท มนัส รูปขจร (ปัจจุบันคือ พลอากาศเอก มนัส รูปขจร) นำเอากำลังทหารจากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ และกรมทหารอากาศโยธินจำนวน 500 คน ทำการรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งการก่อรัฐประหารวันที่ 9 กันยายน 2528 มีอดีตนายทหารระดับสูงเกี่ยวข้อง ได้แก่ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พลเอก เสริม ณ นคร, พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอก กระแสร์ อินทรัตน์ ต่อมาอดีตนายทหารระดับสูงออกมาปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีกระแสข่าวออกมาว่าพลเอก อาทิตย์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหาร แต่พลเอก เปรม ได้ออกมาแถลงข่าวด้วยตัวเองว่าพลเอก อาทิตย์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Yoshifumi Tamada, 2008 46-47 : Surachart Bamrungsuk, 1999, 44-46 : วิเชียร ตันศิริคงคล, 2537, 127)

 

เปรม ติณสูลานนท์

เหตุการณ์ก่อการรัฐประหารพลเอก เปรม วันที่ 9 กันยายน 2528

ภาพ: www.silpa-mag.com

 

เหตุการณ์ก่อรัฐประหารวันที่ 9 กันยายน 2528 เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างพลเอก เปรม กับพลเอก อาทิตย์ ต้องสิ้นสุดลง ประกอบกับพลเอก อาทิตย์ เริ่มมีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ทำให้พลเอก เปรม ไม่ไว้ใจพลเอก อาทิตย์ นำมาสู่การปลดพลเอก อาทิตย์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2529 เหลือเพียงผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว โดย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เสนาธิการทหารบก เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทน (วิเชียร ตันศิริคงคล, 2537, 126 : พลวุฒิ สงสกุล, 2562, 1 : ไทยรัฐออนไลน์, 2562, 1 : คมชัดลึก, 2562, 1)

 

เปรม ติณสูลานนท์

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2529 พาดหัวข่าว สั่งปลด…อาทิตย์

ภาพ: www.thairath.co.th

 

อย่างไรก็ตาม การเข้าอวยพรพลเอก เปรม ที่เริ่มขึ้นในปี 2525 ซึ่งเป็นการเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดที่นำโดยพลเอก อาทิตย์ และคณะนายทหารจากกองทัพบก กลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา

 

ภายหลังมีการเข้าอวยพรในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งจากเดิมการเข้าอวยพรพลเอก เปรม จะทำเฉพาะนายทหารจากกองทัพบก ภายหลังนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ได้เข้าร่วมอวยพรพลเอก เปรม เนื่องในวันสำคัญต่างๆ ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันคล้ายวันเกิดจนถึงปัจจุบัน

 

เปรม ติณสูลานนท์

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • กองบรรณาธิการมติชน. (2528). นี่คือประเทศไทย ประมวลตำนานและวิกฤตรัฐธรรมนูญอันสะท้อนสภาพการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ข่าวการเมือง คมชัดลึก. (2562). ‘ปู’ นำผบ.เหล่าทัพอวยพรวันเกิดป๋าเปรม. www.komchadluek.net/news/politic/166608
  • ข่าวการเมือง ผู้จัดการออนไลน์. (2562). “ป๋าเปรม” ชม “มาร์ค” นำ ครม. อวยพรวันเกิด “นายกฯ ยังหนุ่มยังแน่น” เชื่อแก้ปัญหาชาติได้. mgronline.com/politics/detail/9520000096828
  • คมชัดลึก. (2562). วันนี้ในอดีต 27 พ.ค. 2529 ปลด!! พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก. www.komchadluek.net/news/ today-in-history/279384
  • ทีมข่าวเฉพาะกิจ ไทยรัฐออนไลน์. (2562). ย้อนรำลึก ‘บิ๊กซัน’ จากเจิดจรัสสู่อาทิตย์อัสดง. www.thairath.co.th/content/475909
  • ทีมงานไทยรัฐ. (2524). ขบถ 1 เมษา. กรุงเทพฯ: ไทยรัฐ.
  • ไทยโพสต์. (2562). ‘ป๋าเปรม’ แนะ ‘นายกฯบิ๊กตู่’ ทำเป็นตัวอย่าง เห็นต่างคือมิตร ไม่ใช่ศัตรู. www.thaipost.net/main/detail/25210
  • ไทยรัฐออนไลน์. (2562). นายกฯ นำคณะเข้ารดน้ำขอพร ‘ป๋าเปรม’ โอกาสวันสงกรานต์ ขอสุขภาพแข็งแรง www.thairath.co.th/content/1253601
  • ไทยรัฐออนไลน์. (2562). นายกฯ นำคณะเข้าอวยพรวันเกิด ‘ป๋าเปรม’ ครบรอบ 97 ปี. www.thairath.co.th/gallery/22164
  • ไทยรัฐออนไลน์. (2562). ป๋าเปรมเปิดบ้านให้บิ๊กตู่นำคณะอวยพรปีใหม่ ย้ำยึดเห็นต่างแบบมิตร. www.thairath.co.th/content/1455930
  • พลวุฒิ สงสกุล. (2562). เปิดตำนาน ‘ป๋าเปรม’ ทำไมผู้นำประเทศ-ทหารต้องเข้าอวยพรวันเกิด. thestandard.co/prem-tinsulanonda-the-legend
  • โพสต์ทูเดย์. (2562). “ยิ่งลักษณ์” นำผบ.เหล่าทัพอวยพรปีใหม่ “ป๋าเปรม.” www.posttoday.com/politic/news/268103
  • มติชนออนไลน์. (2562). ใคร ใคร๊ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องเข้าพบ “ป๋าเปรม” กันทั้งน้านนนน. matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310529538&grpid=01&catid=&subcatid=
  • วิเชียร ตันศิริคงคล. (2537). ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมีผลยับยั้งการรัฐประหารโดยคณะทหารหรือไม่: ศึกษาเฉพาะกรณีการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534. ภาคนิพนธ์รายวิชา ร.702 การศึกษาเฉพาะเรื่องทางการปกครองและการเมือง 2 หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • เสถียร จันธิมาธร. (2549). เส้นทางสู่อำนาจ มนูญ รูปขจร อาทิตย์ กำลังเอก ใต้เงาเปรม ติณสูลานนท์. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ศิลปวัฒนธรรม. (2562). 9 กันยายน 2528: กลุ่ม “ทหารนอกราชการ” ก่อกบฏ อ้าง “เศรษฐกิจแย่-ว่างงานเยอะ-อาชญากรรมสูง.” www.silpa-mag.com/featured/article_2356
  • Surachart Bamrungsuk. (1999). From Dominance to Power Sharing: The Military and Politics in Thailand, 1973-1992. Ph.D. diss., Columbia University.
  • Tamada, Yoshifumi. (2008). Myths and Realities: The Democratization of Thai Politics. Kyoto, Japan: Kyoto University Press.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X