×

เจ็บ แต่จะจบอย่างไร? คาดการณ์สถานการณ์หลัง ‘ล็อกดาวน์’

15.07.2021
  • LOADING...
ล็อกดาวน์

กรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มเข้าสู่มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ มาตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลายมาตรการถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นห้ามออกนอกบ้านเวลา 21.00-04.00 น. หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามรวมตัวกันเกิน 5 คน ราชการและเอกชนทำงานที่บ้านให้มากที่สุด ปิดสถานที่เสี่ยง และเปิดให้บริการสถานที่ที่มีความจำเป็นไม่เกิน 20.00 น. 

 

คงไม่ต้องพูดถึงว่าการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน กิจกรรม/กิจการของแต่ละคนอย่างไร ทุกคนล้วน ‘เจ็บ’ จากมาตรการเหล่านี้ ซึ่งจะดำเนินไป ‘อย่างน้อย 14 วัน’ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) แต่คำถามที่หลายคนสงสัยคือการล็อกดาวน์ครั้งนี้เจ็บ แต่จะจบหรือไม่ จบอย่างไร หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรจะต้อง ‘เจ็บตัวฟรี’

 

ถ้าจะไม่ให้เจ็บตัวฟรี ในระดับบุคคลบางคนอาจหมายถึงเจ็บแล้วรัฐต้องช่วยเหลือ ‘เยียวยา’ แต่ในระดับประเทศนั้นจะขึ้นกับว่า ศบค. ตั้ง ‘เป้าหมาย’ ของการล็อกดาวน์ไว้ว่าอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ดูเหมือนจะยังไม่มีการถกเถียงกันจนตกผลึกมากนักว่า ‘จุดสมดุล’ ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน หรือจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจจะล็อกดาวน์ต่อหรือคลายล็อกเมื่อครบกำหนด 14 วัน

 

เป้าหมายของฝั่ง ‘สุขภาพ’ หรือสาธารณสุขอาจจับต้องได้ง่ายกว่า เพราะเป็นตัวเลขที่ได้ยินจากการแถลงของ ศบค. ทุกวัน เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ จำนวนเตียง หรือจำนวนผู้เสียชีวิต THE STANDARD ขอนำผลการคาดการณ์การระบาดหลังการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ของ ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ และคณะ มาเผยแพร่ว่าตัวเลขเหล่านี้จะมีแนวโน้มอย่างไร และเรามีทางเลือกอะไรบ้าง

 

อ้างอิง: แนวโน้มการระบาดหลังการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคระยะเข้มข้น ‘ล็อกดาวน์’ ของ ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ และคณะ ในนามคณะทำงานพัฒนาแบบจำลองระบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด (9 กรกฎาคม 2564)

 

ล็อกดาวน์

 

จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ตรวจพบรายวันระดับประเทศจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์หลังเริ่มล็อกดาวน์ หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง 

 

แต่จะลดลงมาก-น้อยขึ้นกับ ‘ความเข้มข้น’ ของมาตรการควบคุมโรคที่จะสามารถลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้ 20% (สีแดง), 30% (สีชมพู), 40% (สีเขียว), 50% (สีส้ม) และ 60% (สีม่วง) 

 

ความเข้มข้นของมาตรการนี้จะส่งผลต่อจำนวนผู้ป่วย ‘ภายหลัง’ จากครบกำหนดล็อกดาวน์ด้วย ซึ่งควรจะต้องลดการแพร่เชื้อในชุมชนให้ได้อย่างน้อย 50% จำนวนผู้ติดเชื้อถึงจะลดลงมาอยู่ภายในขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข เพื่อทำให้แนวโน้มลดลงต่อไปจนกลับสู่สถานการณ์เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ภายใน 4-5 สัปดาห์นับจากวันเริ่มล็อกดาวน์

 

ล็อกดาวน์

 

จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10-14 วันหลังเริ่มล็อกดาวน์ (ในกรณีมีขีดความสามารถในการตรวจโรคเท่าเดิม) หลังจากนั้นจะเริ่มลดลง 

 

ถ้าหากความเข้มข้นของมาตรการลดการแพร่เชื้อในชุมชนทำได้น้อยกว่า 50% (สีแดง สีชมพู สีเขียว) จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงจะชะลอตัวแล้วอาจเพิ่มขึ้นอีกหลังครบกำหนดล็อกดาวน์

 

ในขณะที่ถ้าลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้ 50% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงจะกลับสู่สถานการณ์เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ภายใน 7-8 สัปดาห์นับจากวันเริ่มล็อกดาวน์

 

ล็อกดาวน์

 

สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากมีผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในระบบบริการสุขภาพอยู่แล้ว และบางส่วนเริ่มอาการหนัก จึงต้องเตรียมใจว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในระยะ 8 สัปดาห์นับจากวันเริ่มล็อกดาวน์ ‘อาจจะ’ ยังไม่ลดลงมาเหมือนช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

ล็อกดาวน์

 

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศบค. ให้สัมภาษณ์ในรายการ Suthichai Live ดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น ว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้มี ‘เป้าหมาย’ ไม่ใช่การหยุดการระบาด แต่เป็นการชะลอการระบาด ซึ่งตั้งเป้าว่าใน 1 สัปดาห์ต้องมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 120,000-150,000 ราย (17,000-20,000 รายต่อวัน) และผู้เสียชีวิตไม่เกิน 100 รายต่อวัน 

 

“สิ่งที่ทางแพทย์ต้องการ เป้าหมายสูงสุดซึ่งอาจจะยังไม่เป็นความจริงตอนนี้ คือให้ตัวเลขผู้ป่วยไม่เกินกำลังความสามารถด้านสาธารณสุขทุกอย่าง ทั้งแพทย์ พยาบาล ยา อุปกรณ์ เตียงคนไข้ต่างๆ ซึ่งเราต้องการให้มีผู้ป่วยต่ำกว่า 1,000 รายต่อวัน แต่ผมเชื่อว่ายังไม่ถึง มันต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน…เพราะฉะนั้นผมว่าเราต้องเตรียมใจไว้นิด ไม่ใช่ว่าล็อกดาวน์ปุ๊บจะต้องดีขึ้นทันที”

 

ถึงแม้จะเจ็บ แต่ไม่จบ ซึ่งอาจจะเรียกว่าจบล็อกดาวน์ 14 วันแล้ว แต่จากการคาดการณ์ทั้งที่ปรึกษาของ ศบค. และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของ ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ และคณะ การระบาดจะยังยืดเยื้อต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน แต่จะอยู่ในระดับที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขยังรับได้ สิ่งที่ ‘รัฐ’ และ ‘เรา’ จะต้องช่วยกันคือลดการแพร่เชื้อการแพร่เชื้อในชุมชนให้ได้ 50% 

 

ซึ่งการแปลงตัวเลข 50% เป็นมาตรการควบคุมโรคนั้นค่อนข้างยาก อาจเทียบจากมาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ ที่บังคับใช้เมื่อวัน 28 มิถุนายน จำนวนผู้ติดเชื้อตรงกับเส้นแนวโน้มว่าลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้ประมาณเพียง 10-15% (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเดินทางข้ามจังหวัด ทำให้มีการแพร่เชื้อจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปยังต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น)

 

ที่สำคัญ การล็อกดาวน์จะต้องทำควบคู่กับมาตรการสาธารณสุข ซึ่งได้กำหนดออกมาแล้วเช่นกัน ได้แก่ การเพิ่มการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ ระบบการแยกกักที่บ้าน/ในชุมชน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม/ICUสนาม การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และต้องจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมด้วย

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X