×

เปิดผังเครือข่ายค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ ตอนที่ 2 (ตอนจบ)

โดย วยาส
23.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เท่ากับว่าคนไทยอยู่กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ มาแล้ว 4 ปี และไม่มีทีท่าจะยุติแค่นี้ จนถึงวันนี้ระบอบประยุทธ์เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมหลัก 4 เรื่อง 1. การทุจริตอย่างกว้างขวาง 2. การปฏิรูปประเทศที่เดินทางมาถึงจุดล้มเหลว 3. การเลื่อนเลือกตั้ง 4. ความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง
  • หนึ่งในคำถามสำคัญในวาระครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารคือ ‘เพราะเหตุใด รัฐบาลที่เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมถึงเพียงนี้จึงสามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ และยังอาจสืบทอดอำนาจไปได้อีกยาวไกล’
  • บทความชิ้นนี้เสนอว่า มีเครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ให้มั่นคงแข็งแรงอย่างน้อย 6 กลุ่ม 1. กลุ่มทุนหนุนหลัง 2. กองทัพที่เป็นปึกแผ่น 3. เนติบริกรชั้นครู อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ สภาตรายางและองค์กรอิสระสีเขียว 4. ดึง ‘ข้าราชการ’ มาเป็นคณะรัฐมนตรีท้องถิ่น 5. โฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ 6. ทีมวางแผนสืบทอดอำนาจ

 

คลิกอ่านตอนที่ 1

 

4. ดึง ‘ข้าราชการ’ มาเป็นคณะรัฐมนตรีท้องถิ่น – นัยยะของ ‘โครงการไทยนิยม ยั่งยืน’ มีอยู่ 3 เรื่อง หนึ่งคือ ตีฆ้องร้องป่าวสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทำมาตลอดหลายปี  โดยเฉพาะรื้อฟื้นความทรงจำว่ารัฐบาลนี้ได้ดูแลคนจนผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งได้อัดฉีดงบลงพื้นที่อย่างน้อยสองรอบคือ ในปี 2560 ราว 41,940 ล้านบาท และรอบที่สองในปี 2561 ราว 35,679.09 ล้านบาท

 

จะเรียกโครงการทำนองนี้ด้วยภาษาแบบไหนก็ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็คือ ‘ประชานิยม’ เพื่อ ‘คะแนนนิยม’​

 

 

สองคือ หว่านงบลงพื้นที่ครั้งสุดท้าย ก่อนเปิดเกมเลือกตั้ง อนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยกระจายงบผ่านโครงการไทยนิยม อ้างว่า ‘กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก’ ใน 82,474 หมู่บ้าน รับไปชุมชนละไม่เกิน 2 แสนบาท รวมหว่านเงินราว 16,474 ล้านบาท  

 

สามคือ ปรับทัศนคติ-เปลี่ยนผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบในคู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมฯ ซึ่งมีลักษณะคล้าย ‘บทละคร’ ที่ข้าราชการต้องอ่านและทำความเข้าใจก่อนจะลงพื้นที่ คู่มือนี้กำหนดให้วิทยากรต้องไปเทศนา บรรยายและถามตอบกับชาวบ้านถึงประเด็นเหล่านี้ เช่น ประชาธิปไตยคืออะไร ความเป็นไทยคืออะไร ประชาธิปไตยแบบไหนที่เหมาะสมกับสังคมไทย คนดีในหมู่บ้านเราเป็นอย่างไร นักการเมืองที่ให้เงินชาวบ้านถือเป็นคนดีหรือไม่ หรือนัยหนึ่งคือชี้ชวนให้ชาวบ้านเห็นว่า อย่าเลือกนักการเมืองเลวแบบเดิม ประเทศนี้ต้องการคนดีมาปกครองบ้านเมือง

 

ไทยนิยมฯ ถูกมั่นหมายจาก คสช. ให้เป็นการตีฆ้องร้องป่าวผลงานเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสนามเลือกตั้งจะถูกเปิดเป็นทางการ ตั้งใจให้เป็น ‘ครม. ท้องถิ่น’ ไปเยี่ยมชาวบ้านถึงศาลากลางชุมชน เพราะเวลาลงพื้นที่ ทีมวิทยากรไทยนิยมฯ จะไปครบทุกส่วนราชการในอำเภอ แต่บรรดาข้าราชการรู้ดีว่าโครงการนี้ ‘ล้มเหลว’ เพราะสายตาชาวบ้านไม่ได้ฟังอย่างเอาจริงเอาจัง หมดยุคสมัยของการเทศนาสั่งสอน ที่ใครจะมาล้างสมองได้ ขณะที่ประชาชนก็รู้ดี ใครเอางบมาให้ก็รับไว้ ไปโครงการไทยนิยมก็ไปร่วมพอเป็นพิธี…ได้ทานข้าวเย็นฟรีก็พอ

 

 

5. การโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ ทั้งโดยรัฐและเอกชนมืออาชีพ – ถ้าระบอบประยุทธ์ได้กลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปีหน้า ต้องปักหมุดไว้ว่าเดือนเมษายน 2561 เป็นเดือนที่สำคัญของปฏิทินการเมือง เพราะรัฐบาลประยุทธ์ โดย ‘PR Man’ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่นายกไว้ใจ พูดอะไรแล้วนายกเชื่อมากที่สุดขณะนี้ เดินเครื่องโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลอย่างหนักหน่วงตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา โดยยึดหลัก 4 ยุทธศาสตร์การ PR

 

 

ดึงคนดังเป็นกองหนุน ดึงนักแสดง นักร้องชื่อดัง ตั้งแต่ทีม บุพเพสันนิวาส ฟีเวอร์ ทีม BNK48 ไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็น ‘กองหนุน’ ใหม่ๆ สำหรับลุงตู่ กองหนุนกลุ่มนี้กำลังเป็นกระแสในสังคม ได้รับความนิยม มีฐานแฟนคลับมาก และช่วยลดทอนภาพลักษณ์การเป็น ‘ผู้นำเผด็จการ’ ของลุงตู่ให้ดูอ่อนโยนลงมา และชวนให้สังคมสนทนาถึงการพบปะแต่ละครั้ง ซึ่งสามารถกลบข่าวเสียหายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

 

 

เปิดเพจ เปิดตัวเพลง เปิดแฟนเพจ ‘สายตรงไทยนิยม’ (สายตรงลุงตู่) สื่อถึงความเข้าถึงง่ายของผู้นำประเทศ เป็นการลดลำดับชั้นการติดต่อทางราชการ การเกิดขึ้นของเพจโดยเฉพาะในเวลาที่ระบบข้าราชการกำลังเสื่อมด้วยข้อหาการทุจริต ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลมีความพยายามในการแก้ปัญหาการทุจริต ขณะที่การเปิดตัวเพลงใหม่ สู้เพื่อแผ่นดิน เป็นความพยายามในการสื่อสารถึงเหตุผลในการอยู่ต่อ-ขอเวลา เพลงดังกล่าวยังเป็นครั้งแรกที่นายกฯ เขียนถึงคนร้าย คนหลงทาง หรือนัยหนึ่งคือการวิจารณ์ขั้วตรงข้ามทางการเมืองผ่านเพลงแบบตรงๆ เป็นครั้งแรก

 

 

สร้างกระแสการันตี ผู้มีบารมี นักการเมือง ศิลปิน ดารา ออกมาการันตีนายกฯ ประยุทธ์แล้วหลายคน ทั้งรองนายกฯ สมคิด ที่มีข่าวว่าจะเป็นผู้นำพรรคนอมินีทหารในอนาคต ทั้ง ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศล่วงหน้าถึงการเดินเกมในสภา เพื่อให้นายกฯ คนต่อไปเป็น พล.อ. ​ประยุทธ์ แต่ไม่มีเสียงการันตีใดจะดังและทรงพลังไปกว่า พล.อ. เปรม ที่กลับมาเป็นกองหนุน เพื่อน และผู้สนับสนุนให้กับ พล.อ.​ ประยุทธ์

 

 

สงครามข่าว IO ขอเชิญไปส่องเพจเหล่านี้ แล้วจะรู้ว่าระบอบประยุทธ์รุกโลกออนไลน์อย่างหนักหน่วง เพจเดินตามลุงตู่หมาไม่กัด, จับผีการเมืองถ่วงหม้อ, ปรองดองเป็นของประชาชน, ซูฮกลุงตู่, มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคน สนับสนุนลุงตู่เป็นนายก, ไทยนิยม, ใต้โต๊ะ ครม., สายลับจับแหล, ลูงตู่มาแว้วๆๆๆ, กองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ, Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน, ทีมลุงตู่, ขอล้าน like สนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก, ไทยคู่ฟ้า, มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงตู่, สายตรงข่าวกรอง และอื่นๆ เพจเหล่านี้มีเป้าหมายอยู่ที่การโฆษณาชวนเชื่อและเร้าวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ ให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

 

 

6. ทีมวางแผนสืบทอดอำนาจ – ชัดแล้วว่า สูตรทางการที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกครั้งหน้าคือสูตรนายกฯ คนใน นายกฯ คนกลาง สูตรนี้ต้องอาศัยการสร้างกองหนุนแห่งชาติ กองหนุนลุงตู่ให้ใหญ่โตที่สุด จะสำเร็จได้ก็ด้วย ‘พลังดูดชั้นดี’ สำหรับนักการเมืองเก๋าเกม เมื่อดีลลับ-ผลประโยชน์ลงตัว ก็ยินดีเป็นกองหนุน หลายรายถูกมัดใจด้วยเงิน เก้าอี้สำคัญ บางรายถูกบีบด้วยข้อกฎหมาย และหลายรายได้รับ ‘เค้ก’ เป็นก้อนที่พอดีคำ ทั้งคำรับปากว่าถ้าอยู่ยาวไปด้วยกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะมีความสม่ำเสมอ

 

 

รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับหน้าที่เป็นศูนย์กลางของกองหนุนลุงตู่ ทั้งสร้างพรรค เป็นกระเป๋าสตางค์ของพรรค ชื่อชั้นของสมคิด คือชื่อชั้นของผู้ใหญ่ที่มีลูกน้องมาก จึงแตกเป็นชื่อลูกน้องได้อีก 3 ชื่อคือ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์, อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว. คุม 4.0 ชื่อของทีมสมคิดยังมีเทคโนแครตชั้นนำพร้อมมาช่วยงานอีกหลายชื่อ ‘ทีมสมคิด’ ในเวลานี้ ไม่ใช่แค่ทีมดูแลเศรษฐกิจ แต่คือทีมสืบทอดอำนาจ

 

เวลานี้เครือข่ายในทีมสืบทอดอำนาจแตกแขนงออกเป็นหลายรูปแบบ ใหญ่ๆ คือ จะเข้ามาช่วยตั้งพรรคทหารผ่านพรรคพลังประชารัฐ และจะเข้ามาเป็นกองหนุนเมื่อถึงเวลา มีความเป็นไปได้ว่าพรรคและกลุ่มการเมืองต่อไปนี้จะเข้ามาเป็นกองหนุนลุงตู่ ตั้งแต่ พรรคภูมิใจไทย​ (ประเมินเก้าอี้ 25 ที่นั่ง) พรรคชาติไทยพัฒนา (19 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนา (7 ที่นั่ง) พรรคพลังชล (7 ที่นั่ง) ยังมีซุ้มทางการเมืองอีกหลายซุ้ม เช่น กลุ่มมัชฌิมา แห่งตระกูลเทพสุทิน (9 ที่นั่ง) กลุ่มบ้านริมน้ำ แห่งตระกูลตันเจริญ (3-5 ที่นั่ง) กลุ่มบ้านใหญ่นครปฐม แห่งตระกูลสะสมทรัพย์ (5 ที่นั่ง) และพรรคลุงกำนัน (6 ที่นั่ง) รวมถึงพรรคตั้งขึ้นใหม่อย่าง พรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศชัดว่า “ให้เป็นพรรคของคนที่อยากหนุนลุงตู่อยู่ต่อ”

 

สูตรจับตาการดูดคือ ถือเอาว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีไปสัญจรที่ไหน ก็จะไม่ยอมกลับมามือเปล่า ประชาชาติธุรกิจเคาะตัวเลขมาว่า ตลอด 4 ปีมี ครม. สัญจรไปแล้ว 9 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีพลังดูดหมุนเวียน วางมัดจำแล้ว เป็นกรอบวงเงินงบประมาณกว่า 1,847,000 ล้านบาท

 

 

ยิ่งเมื่อระบอบประยุทธ์มีกลไก ‘อำนาจยุบพรรค-ห้ามวิจารณ์’ อยู่ในมือ เกมสังหาร พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เกมเลือกตั้งยังไม่เปิดก็อาจเป็นไปได้ เพราะโพลนายใหญ่ตราดูไบดันไปสอดคล้องกับโพลทหารที่บอกว่า เลือกตั้งครั้งนี้อาจได้ไปถึง 220 ที่นั่ง อันเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์สะสมความโกรธของประชาชน ที่จะสะท้อนผ่านผลเลือกตั้ง ตัวเลข 220 เมื่อรวมกับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเล็กพรรคน้อยที่พอมีอุดมการณ์ จึงอาจได้นายกฯ เป็นชื่อ สุดารัตน์​ ชัชชาติ หรือธนาธร (บวรศักดิ์เนมชื่อเหล่านี้ด้วยตัวเอง) สูตรทางการเมืองแบบนี้เป็นไปได้หมด อย่ารีบปิดความเป็นไปได้ไวเกินไป สำคัญคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องทำงานหนักในทางยุทธศาสตร์

 

4 ปีมานี้เครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจของระบอบนี้ไม่ได้ลดลงเลย อีก 2 คำถามที่ทิ้งไว้อย่างกว้างๆ และอาจต้องใช้เวลาเพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมกันอีกสักระยะคือ หนึ่ง เครือข่ายทั้งหมดนี้ดำเนินไปได้ด้วยการแบ่งสรรปันผลประโยชน์แบบใด สอง เครือข่ายทั้งหมดนี้จะมีจุดจบแบบใด จะอยู่ได้มั่นคงแข็งแรงแบบ ‘เปรมาธิปไตย’ หรือ จะนำไปสู่ฉันทามติร่วมกันของสังคมนี้ว่า ‘ถึงเวลาต้องนำทหารออกจากการเมืองไทยเสียที’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X