×

‘ประยุทธ์’ ประกาศวันเลือกตั้งปีหน้า แล้วที่ไทยคิดเห็นอย่างไร

05.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การพบปะหารือของนายกรัฐมนตรีไทยและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเยือนอย่างเป็นทางการของไทย พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศว่าจะมีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในปีหน้า ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะสมาชิกคณะรัฐมนตรี ชี้ว่า เป็นเพียงการประกาศว่าจะเลือกตั้งวันใดในปีหน้า ไม่ใช่บอกว่าจะเลือกตั้งปีหน้า
  • ท่ามกลางความคลุมเครือ แม้ว่าการแสดงท่าทีจะมีการเลือกตั้งดูจะแจ่มชัดขึ้นบ้าง แต่ยังมีข้อกังวลอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขการจัดทำกฎหมายลูกตามกรอบรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่ชัดว่าจะแล้วเสร็จทันกรอบหรือไม่

     พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พร้อมคณะ เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางไปเยือนในระดับนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของไทยในรอบ 12 ปี และเป็นท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ที่ถือว่าเป็นพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ที่ชัดเจนมากที่สุด หลังมีรัฐประหารราว 3 ปี

 

 

     ไฮไลต์สำคัญที่สื่อติดตามรายงานข่าว นอกจากรายละเอียดในมิติความสัมพันธ์ ด้านการค้า การลงทุน แล้วยังโฟกัสไปที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ประกาศจะให้มีการจัดการเลือกตั้งของไทยในปีหน้า ระหว่างการหารือร่วมกับ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

     “ในการเดินหน้าตามหลักประชาธิปไตยสากลนั้นจะเป็นไปตามโรดแมป ในปีหน้าเราจะประกาศวันเลือกตั้งออกมา โดยไม่มีการเลื่อนใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อประกาศแล้วก็จะมีกรรมวิธีของการเลือกตั้งนับไปอีก 150 วันตามกฎหมายหลังจากประกาศ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

     และนั่นเป็นการยืนยันต่อผู้นำที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีอิทธิพลเบอร์ต้นๆ ของโลก และถือว่ามีกติกาประชาธิปไตยที่เข้มแข็งลำดับต้นๆ ของโลกด้วย

 

 

     ตัดสลับกลับมาที่ประเทศไทย บรรยากาศการเมืองที่ผ่านมาล้วนตั้งคำถามต่อ ‘การเลือกตั้ง’ มาโดยตลอด และหลายครั้ง พล.อ. ประยุทธ์ ก็ได้ประกาศโรดแมปว่า จะให้มีการจัดการเลือกตั้งในช่วงใด แต่ก็ดูเหมือนว่า จะถูกยักเข้ายืดออกอยู่ตลอดเวลา จนหลายฝ่ายหวั่นใจ เกิดคำถามตรงๆ แรงๆ ในหลายครั้งจากฝ่ายการเมืองว่า “จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่”

     ปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ ต่อการที่ผู้นำของประเทศ ได้แสดงท่าทีที่จะให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า หากแต่ไม่ใช่การประกาศในประเทศ กลับกลายเป็นการประกาศยืนยันต่อหน้าผู้นำสหรัฐอเมริกา ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวต่างๆ เป็นสัญญาณที่ดูเหมือนจะแจ่มชัดขึ้นในม่านหมอกที่คลุมเครือมานาน แต่ก็ยังต้องจับตาถึงกลไก และกรรมวิธีที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง เพราะยังมีเงื่อนไขตามกรอบรัฐธรรมนูญ พร้อมๆ กับที่เงื่อนไขเหล่านั้น จะกลายเป็นปมเงื่อนที่ผูกรั้งให้การเลือกตั้งเนิ่นช้า ออกไปจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศหรือไม่ด้วย เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายก็วิเคราะห์แง่มุมที่น่าหวั่นใจนี้ไว้ไม่น้อยเหมือนกัน

     ท่าทีแรกจากคนในของรัฐบาลเอง หลังการประกาศ สื่อมวลชนถาม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งรักษาการเป็นนายกฯ ในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไปสหรัฐเมริกา ได้รับคำตอบว่า

     “นายกฯ ไม่ได้บอกว่าจะเลือกตั้งปีหน้า แต่บอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งปีหน้า หลังจากกฎหมายลูกเสร็จให้นับไปอีก 150 วัน เพราะฉะนั้นอย่าไปพูดอย่างนั้น ต้องพูดว่านายกฯ ประกาศว่า เลือกตั้งวันใดหลังกฎหมายลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว”

 

เงื่อนไขสำคัญคือการทำกฎหมายลูก

     อาจจะดูพูดไม่ตรงกันเสียทีเดียว แต่ตรงกันในความหมายของการมีการเลือกตั้ง มีวันเลือกตั้งและประกาศแน่ๆ ในปีหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องจัดเลือกตั้งปีหน้าแต่อย่างใด เพราะต้องรอเงื่อนไขการจัดทำกฎหมายลูก พล.อ. ประวิตร เหมือนทำหน้าที่ขยายความสิ่งที่นายกฯ ต้องการสื่อให้ชัดขึ้น (หรือไม่?) แต่ที่แน่ๆ ปฏิกิริยานี้วนกลับมาสู่จุดคลุมเครือ และไม่ชัดเจนอีกวาระหนึ่งแล้ว

     ส่วนท่าทีของการจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งอยู่ในมือและความรับผิดชอบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ต่อการจัดทำกฎหมายดังกล่าว และข้อกังวลต่ออุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่การคว่ำการจัดทำกฎหมายลูกว่า

     “กรธ. ไม่ได้ชุ่ย ระหว่างนี้ได้ประสานกับ สนช. ที่ศึกษาร่างกฎหมายลูกควบคู่กันตลอด ถ้าจะมีอุบัติเหตุที่ สนช. ต้องไปถาม สนช. ไปเดาใจคนอื่นไม่ได้ แต่ขอเดาว่าไม่คว่ำ กรธ. ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะไปทำอะไรกับ สนช. ได้”

 

 

ปฏิกิริยาจากพรรคการเมือง

     ข้ามมาที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ได้ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ บอกเรื่องวันเลือกตั้งกับประชาชนไทยก่อนจะนำความเรื่องนี้ไปบอกแก่สหรัฐฯ ในระหว่างที่จะเดินทางไปพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ก็เป็นเพียงการโยนหินถามทางก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะประกาศต่อหน้าผู้นำสหรัฐฯ ว่า ในปีหน้าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง ถึงตอนนี้ยังไม่มีปฏิกิริยาของนายอภิสิทธิ์

     ด้านพรรคเพื่อไทย ต่างพาเหรดออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้หลายคน อาทิ

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย มองว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะมีความน่าเชื่อถือเพียงใด เพราะที่ผ่านมาก็ไปประกาศหลายประเทศ ไม่แน่ใจว่าจะให้ยึดเอาตามประกาศที่ประเทศไหน และอาจมีการใช้แท็กติกทางการเมือง ที่บอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งปี 2561 หมายถึงว่าปี 2561 จะประกาศเพื่อเลือกตั้งในปี 2561 หรือประกาศปี 2561 เพื่อจะเลือกตั้งในปี 2562

     ส่วน นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย มองว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อการเมืองมีความชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยตามหลักสากล และจะประกาศวันเลือกที่ชัดเจนว่าเป็นเมื่อใด จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ

     ขณะที่ ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่า ทำไม พล.อ. ประยุทธ์ จึงทำเหมือนไม่เห็นหัวคนไทย โดยการไปป่าวประกาศเรื่องกำหนดการเลือกตั้งบนแผ่นดินสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ทรัมป์เองก็ไม่ได้ถาม เพราะเขาย่อมสนใจแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ทีเวลาคนไทยและนักข่าวทวงถามเรื่องโรดแมปจากท่านทีไรกลับไม่แสดงท่าทีให้ชัดเจน

     ข้ามฟากมาที่นักวิชาการ ศ. กิตติคุณ ดร. ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยต่อเรื่องนี้ว่า นายกฯ ไทยย่อมตระหนักดีว่าหากยังไม่มีความแน่นอนเรื่องเลือกตั้ง ไทยก็จะถูกกดดันอีก ความน่าเชื่อถือลดลงไปอีก สรุปแล้วเป็นการประสานผลประโยชน์ร่วมกันของ 2 ประเทศ เราอยากไปเพราะต้องการความรู้สึกชอบธรรม ได้รับการยอมรับจากมหาอำนาจ

     ล่าสุดวันนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แถลงกับสื่อมวลชนต่อเรื่องนี้เช่นกันว่า เชื่อว่าการที่นายกรัฐมนตรี สัญญากับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เตรียมประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 นั้น เป็นการส่งสัญญาณมาถึง สนช. ว่า จะต้องรีบพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้เสร็จภายในปี 2561 เพื่อประกาศวันเลือกตั้ง พร้อมขอให้อย่ากังวลกระแสการคว่ำร่างกฎหมาย เพราะจะดำเนินการให้ดีที่สุด

     ก่อนหน้านี้ ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พล.อ. ประยุทธ์ เคยตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการประกาศวันเลือกตั้งว่า

     “ทำไมต้องให้ผมมาบอกว่าเลือกตั้งวันที่เท่าไร พอผมบอกไปวันนี้วันนั้น แล้วเวลาทำไม่ได้ก็ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจ ยื้อเอาไว้ ปัดโธ่ ขอให้เชื่อผม ผมพูดขนาดนี้แล้ว พอได้แล้ว”

     ปีหน้าคงเป็นคำตอบว่า ‘วันใด’ คือวันเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายต่างรอคอยคำตอบที่ชัดเจนจริงๆ นับแต่นี้ เพราะนายกฯ ประกาศไว้แล้วด้วยตัวเองว่าจะบอก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising