วันนี้ (31 พฤษภาคม) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอสาระสำคัญของ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 ไม่เกิน 3.1 ล้านล้านบาท ได้จัดสรรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงของชาติ เพิ่มศักยภาพขององค์กรปกครองท้องถิ่น และเป็นไปตามสถานการณ์ของการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้การจัดสรรงบจะเป็นแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2.4 ล้านล้านบาท ต้องกู้เงินจำนวน 7 แสนล้านบาทเพื่อชดเชย ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลที่สำคัญคือชำระหนี้ภาครัฐ, ชดเชยเงินคงคลัง, จัดสวัสดิการทางสังคมและบริการสาธารณะ, ดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง และรายจ่ายเพื่อขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ จึงต้องจัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ 6.24 แสนล้านบาท
“รัฐบาลเตรียมเพิ่มแหล่งเงินทุนของประเทศ เช่น ให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่จะลงทุนในปี 2565 เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย เพื่อแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าเงินส่วนที่ขาดดุล ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้การระบาดของโควิด-19 ได้ ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 เชื่อว่าจะรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและบริโภค” พล.อ. ประยุทธ์ชี้แจงในช่วงต้น
สำหรับการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์นั้น ประกอบด้วย
- ด้านความมั่นคง จำนวน 3.87 แสนล้านบาท
- ด้านสร้างความสามารถการแข่งขัน จำนวน 3.3 แสนล้านบาท
- พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จำนวน 5.4 แสนล้านบาท
- สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จำนวน 7.3 หมื่นล้านบาท
- สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 1.19 แสนล้านบาท
- ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 5.59 แสนล้านบาท
พล.อ. ประยุทธ์ยังได้ชี้แจงถึงการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายด้วยว่า จัดสรรเงินไว้จำนวน 4.12 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
- งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 8.95 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ เยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ รวมถึงชดเชยค่าสิ่งก่อสร้างช่วยเหลือผู้ประกอบการ
- บริหารหนี้ภาครัฐ จำนวน 2.97 แสนล้านบาท โดยชำระต้นเงินกู้ จำนวน 1แสนล้านบาท, ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 1.97 แสนล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596 ล้านบาท
- เพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท
พล.อ. ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ในปี 2565 คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4-5 เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ภายใต้เงื่อนไขการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศ
“เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 ทั้งนี้รัฐบาลคาดว่าปี 2565 สามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายของ การบริการ พาณิชย์ รวม 2.5 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.26 และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1.1 แสนล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิของรัฐบาล จำนวน 2.4 แสนล้านบาท ดังนั้น การจัดสรรงบฯ ปี 2565 จำนวน 3.1 แสนล้านบาทเป็นแบบขาดดุล จึงต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านบาท” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ในส่วนของหนี้สาธารณะคงค้าง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 8.4 ล้านล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 54.3 ของ GDP ซึ่งยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ส่วนสถานะเงินคงคลังของรัฐบาล ยอดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวน 3.7 แสนล้านบาท ขณะที่ฐานและนโยบายการเงินพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และครัวเรือนมีความเปราะบาง เพราะไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก รวมถึงได้รับผลกระทบจากระลอกใหม่ ทั้งนี้กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ที่ร้อยละ 0.5
พล.อ. ประยุทธ์ระบุว่า ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทย เมื่อ 30 เมษายน อยู่ในเกณฑ์ดี มีมูลค่าเงินสำรองที่ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
“รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแบบสองทาง คือรับฟังจากทุกภาคส่วน ทำให้มีรายละเอียดจำนวนมาก สำหรับงบประมาณนั้นยืนยันจะเข้มงวดกวดขันการทุจริต และทุกองค์กรสามารถตรวจสอบได้ หรือประชาชนที่พบเห็นการทำโครงการหรือผลงานไม่สำเร็จขอให้แจ้ง ผมหวังว่า ส.ส. จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะนี่คือประเทศไทย ประชาชนคนไทยที่ต้องดูแล ขอใช้เวลา 3 วันอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์ เพื่อวันนี้และอนาคตของลูกหลานในภายภาคหน้า” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ใช้เวลาชี้แจงรายละเอียดต่อสภาฯ รวม 1 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนั้นเป็นการอภิปรายของ ส.ส. ฝ่ายค้าน โดยมีเวลาในการอภิปรายรวม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายนนี้ โดยใช้เวลารวม 47 ชั่วโมง 30 นาที
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ