วันนี้ (3 ตุลาคม) เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานมอบนโยบายแก่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในโอกาสจัดประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 พร้อมด้วย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานในครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานระหว่างรัฐและเกษตรกรไทยทั่วประเทศ ตั้งใจมาพบตัวแทนพี่น้องเกษตรกรและเห็นชอบกับทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
วันนี้ประเทศไทยมีพี่น้องเกษตรกรราว 7.2 ล้านครัวเรือน และยังมีธุรกิจเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมอีกจำนวนมาก กล่าวได้ว่าประชากร 1 ใน 3 ของประเทศเกี่ยวข้องกับ ‘วงจรภาคการเกษตร’ ถือว่าพี่น้องเกษตรกรจึงเป็นเสมือนรากแก้วที่รักษาแผ่นดินของประเทศนี้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของภาคเกษตรกรรมก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอยู่เหนือการควบคุม เช่น ภาวะฝนแล้ง-ฝนทิ้งช่วง ปัญหาอุทกภัย ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือ-ฟื้นฟูตามมาตรการต่างๆ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรกลับมาประกอบอาชีพและใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข ส่วนปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น ที่เกี่ยวกับปัจจัยการผลิต ทั้งน้ำ ที่ดิน เมล็ดพันธุ์ แหล่งเงินทุน หนี้นอกระบบ การขนส่ง ตลาด จะได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาสร้างนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรของเราที่มีอยู่อย่างมากมายและมีเอกลักษณ์ ทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยการวางแผนการพัฒนาในระยะยาว ต่อเนื่อง และต้องมองตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาภาคการเกษตรอย่างมียุทธศาสตร์ เช่น นโยบาย ‘ตลาดนำการผลิต’ และ ‘เกษตรแปลงใหญ่’ ซึ่งล้วนมุ่งแก้ปัญหาพื้นฐานต่างๆ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรของไทย มีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับฤดูกาล และพื้นที่เกษตรกรรมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน แหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยการผลิตได้
นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงการส่งเสริมแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model ที่เป็นการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติคือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวไปพร้อมๆ กัน สอดคล้องกับ ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในปัจจุบัน ซึ่งโลกกำลังกลับไปสู่ธรรมชาติและสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเช่นกัน
ทั้งนี้รัฐบาลเน้นการกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เน้นการทำงานแบบบูรณาการ ตามแนวทางประชารัฐ ประกอบด้วย แผนเงิน แผนงาน และแผนคน ด้านงบประมาณ ก็ขอให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ขอให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อประสานภารกิจของสภาเกษตรกรฯ ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ และขอฝากในเรื่องการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ ‘เกษตรอัจฉริยะ’ และ ‘เน็ตประชารัฐ’ เพื่อขยายฐานการตลาด ‘ลด ละ เลิก’ ใช้ยาปราบศัตรูพืช ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น (สินค้า GI) เพื่อต่อยอดไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัย สำหรับปัญหาอุปสรรคใด รัฐบาลพร้อมจะดูแลให้ทุกเรื่องรวมทั้งการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเกษตรกรก็ช่วยรัฐบาลได้ด้วยการลดการเผา
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่า ขอให้ทุกคนยึดมั่น ‘ชาติ’ ซึ่งประกอบด้วยประชาชนและแผ่นดิน พื้นน้ำ พื้นอากาศ ยืดโยงประเทศที่ประกอบด้วยสังคม ครอบครัวและประชาชนไทยมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้สังคมไทยยังมีความเคารพในทุกศาสนา ซึ่งช่วยรักษาสังคมเราไม่ให้ปั่นป่วน รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย ซึ่งสำคัญคือ ทุกคนคือประชาชน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ แต่อาจมีภาระมากกว่า วันนี้เพียงขอให้ทุกคนรักชาติ รักประเทศ และรักตัวเอง ศรัทธาในการทำงานทุกอาชีพ รวมทั้งเกษตร เพราะศรัทธาจะนำมาซึ่งความสำเร็จในทำงานในอาชีพของตนได้
นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมบูธเทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลของชาวสวนยางและน้ำมันปาล์ม การออกแบบและแปรรูปผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และทดลองนั่งเก้าอี้โซฟาที่ทำจากเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ โดยขอให้ทุกคนนำเอาแนวความคิดการออกแบบสร้างสรรค์ด้วยงานฝีมือผสมผสาน กับเทคนิคการผลิตมาสร้างมูลค่าสินค้าที่เป็นวัสดุธรรมชาติพื้นบ้านให้มีที่ความน่าสนใจและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ภาพ: สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า