(16 ม.ค.) ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 หรืองบกลางปี 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล 100,358.1 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 49,641.9 ล้านบาท
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลแบ่งเป็น 3 เรื่องคือ หนึ่ง การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับสวัสดิการส่งเสริมสร้างโอกาสทางอาชีพการจ้างงานผู้มีรายได้น้อย งบประมาณ 35,000 ล้านบาท เป็นส่วนงานของกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
สอง การพัฒนาพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาและสร้างอาชีพในชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน โครงการดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 35,358.1 ล้านบาท
สาม การปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ วงเงิน 30,000 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรรายย่อย ส่งเสริมตลาดสมัยใหม่ แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร กระทรวงที่รับผิดชอบคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย
ส่วนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบวงเงิน 3 ล้านล้านบาท โดยงบประมาณเพิ่มจากปี 2561 จำนวน 100,000 ล้านบาท คาดว่าร่างพระราชบัญญัติงบกลางปีจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระแรกในวันที่ 22 มีนาคมนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 30 มีนาคม ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระแรกได้ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เข้าวาระ 2-3 ในวันที่ 30 สิงหาคม และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 7 กันยายนนี้
สำหรับงบกลางปี หรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี คืองบประมาณที่รัฐบาลขอเพิ่มเติมจากงบประมาณประจำปีเพื่อนำไปใช้ตามภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. มีการของบเพิ่มเติมกลางปีรวมล่าสุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่ปี 2559 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลได้รายได้จากการประมูลคลื่น 3G และงบส่วนใหญ่ถูกโอนไปอยู่ในส่วนงบกลางเพื่อรอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ แต่ไม่ปรากฏผลงานที่เป็นรูปธรรม
ส่วนปี 2560 ของบกลางปีวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท โดยมาจากเงินกู้ชดเชยขาดดุลและภาษีและรายได้อื่นของรัฐซึ่งเก็บได้สูงกว่าเป้า หลักๆ ถูกนำไปใช้ในโครงการช่วยคนจนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้านและช้อปช่วยชาติ
ขณะที่ล่าสุดปี 2561 รัฐบาลของบกลางปีวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท แหล่งเงินมาจากการออกพันธบัตรกู้เงินและภาษีจากกรมสรรพากร ซึ่งคาดว่าจะเก็บได้มากกว่าเป้า โดยมีเป้าหมายนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าตามรายละเอียดข้างต้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในช่วงนี้มีหลายปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ แต่สิ่งที่ต้องการทำความเข้าใจวันนี้คือเรากำลังจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตามแผนการปฏิรูปและแก้ปัญหาความยากจน
“ผมได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อให้ใช้งบประมาณของทุกกระทรวงให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ร่วมไปกับมาตรการแก้ไขความยากจน เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ”
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่ารัฐบาลต้องตั้งคณะทำงานประมาณ 7,800 ชุดเพื่อลงไปสอบถามความต้องการจากประชาชนที่แตกต่างกัน โดยใช้หลักการเดียวกับที่ประเทศจีนทำเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่น และเป็นเหตุผลที่เราทำงบประมาณเพิ่มเติมรายจ่ายกลางปี เพราะว่าวันนี้เราต้องทำงานให้รวดเร็วขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการจัดทำแผนงานเพิ่มเติม อะไรที่มันเร่งด่วนก็ต้องหางบประมาณเพิ่มเติมให้ได้ตรงนี้ เพื่อตอบประชาชนให้ได้ ทั้งเรื่องของการลงทะเบียนคนยากจนระยะที่ 1 และระยะที่ 2
“ไม่อยากให้สังคมเข้าใจว่าเราทำเพื่อรักษาคะแนนเสียง หาคะแนนเสียงเพื่อนำไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดความชัดเจนในการทำเพื่อประชาชน ผมจะอยู่หรือไม่อยู่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ประชาชนที่เขาเดือดร้อนวันนี้มีความสุข ไม่ใช่ทำเพื่อการเมือง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่