วานนี้ (13 ธันวาคม) เวลา 16.20 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบหารือกับ ชาร์ล มีแชล ประธานคณะมนตรียุโรป ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป (EU) สมัยพิเศษ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่การประชุมสุดยอดอาเซียน – EU สมัยพิเศษ เป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนและประเทศสมาชิก EU มาประชุมกัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ EU มียุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก เพิ่มบทบาทและปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกับอาเซียนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค
รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในความสัมพันธ์ไทย – EU ด้วย โดยกำลังจะลงนามย่อความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ที่สองฝ่ายจะใช้เป็นแผนความร่วมมือระหว่างกันต่อไป ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนของ EU บนพื้นฐานค่านิยมร่วม ทั้งพหุภาคีนิยมที่ครอบคลุม ระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล
หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทั้ง EU และประเทศสมาชิกในการนำแผนปฏิบัติการอาเซียน – EU ปี 2023-2027 และ PCA ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ที่เท่าเทียมกันของสองฝ่ายต่อไป ไทยพร้อมร่วมงานกับท่านอย่างใกล้ชิด เปิดรับต่อการปรึกษาหารืออย่างสร้างสรรค์ และพร้อมปฏิสัมพันธ์กับทุกหน่วยงานของ EU
ประธานคณะมนตรียุโรปยินดีที่ได้พบกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ EU และยินดีที่ไทยและ EU จะได้ลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thai-EU Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) ซึ่งจะเป็นกรอบในการเดินหน้าความร่วมมือต่างๆ ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม
ประธานคณะมนตรียุโรปยังกล่าวชื่นชมไทยในฐานะมิตรประเทศที่สำคัญและมีบทบาทนำในภูมิภาค หวังว่าจะได้ร่วมมือกับไทย กระชับความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ความมั่นคง รวมทั้งความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีและประธานคณะมนตรียุโรปยังหารือถึงการกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านความยั่งยืนและวาระสีเขียว ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยใช้แนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เหมาะสม ยึดมั่นในเป้าหมายความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวน EU และประเทศสมาชิก EU ร่วมมือในการสนับสนุนภาคเอกชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้นซึ่ง EU มีความเชี่ยวชาญ
ประธานคณะมนตรียุโรปชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียวของ EU (European Green Deal) พร้อมร่วมมือกับไทย และให้ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมทั้งผลักดันการขยายการลงทุน เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม
ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงการกระชับความร่วมมือท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความมั่นคงโลก โดยไทยเห็นความจำเป็นของการรักษาไว้ซึ่งพื้นที่การหารือที่ครอบคลุมทุกฝ่าย ใช้การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นตัวนำ
ประธานคณะมนตรียุโรปพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง รวมทั้งการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง บุคลากร และแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมหารือเพิ่มเติมถึงการจัดตั้งกรอบการหารือด้านความมั่นคง เพื่อหารือในประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล และการต่อต้านการก่อการร้าย กับไทยต่อไป
ด้านความร่วมมือกับอาเซียน ประธานคณะมนตรียุโรปยืนยันในการให้ความสำคัญกับความเป็นแกนกลางของอาเซียน พร้อมร่วมมือกับไทยแสวงหาการหารือที่เปิดกว้าง สร้างสรรค์ ตลอดจนหลักการเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
สำหรับไทย นายกรัฐมนตรีพร้อมร่วมมือกับ EU ในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก และส่งเสริมการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เช่น การอนุรักษ์ทะเลและการทำประมงยั่งยืน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และความร่วมมือด้านอวกาศ