×

ประยุทธ์เปิดประชุมวิชาการที่จุฬาฯ เป็นเวทีคู่ขนาน APEC ยกระดับองค์ความรู้ รับมือกับความท้าทายใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2022
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้ (16 พฤศจิกายน) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการ APEC University Leaders’ Forum 2022 (AULF) ภายใต้หัวข้อ ‘Preventing the Next Pandemic – The Global Partnership Agenda: Governments, Business and Research Universities’ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities: APRU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับเขตเศรษฐกิจต่างๆ และการศึกษาของไทยกับภูมิภาคทั่วโลก

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ได้มาพบกัน เป็นเวทีที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะขณะนี้เรากำลังเผชิญสถานการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งเราให้ความสำคัญโดยเฉพาะกับเรื่องปัญหาสุขภาพ และรู้สึกยินดีที่ได้เห็นเวทีที่เป็นคู่ขนานไปกับการประชุม APEC ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น 

 

การประชุมทางวิชาการในวันนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC รวมถึงเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดจนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

สำหรับการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว อีกทั้งจะเป็นพลังในการขับเคลื่อน ฟื้นฟู และสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป สำหรับการเป็นเจ้าภาพของไทยในปีนี้นั้นเรามุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือภายใต้แนวคิด ‘Open. Connect. Balance.’ เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยุคหลังโควิด 

 

Open เน้นการผลักดันให้ APEC นำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกมาหารือใหม่ เพื่อให้ APEC สามารถรับมือกับความท้าทาย และใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

Connect ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวก ปลอดภัย และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อให้ APEC มีแนวทางการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด 

 

Balance เน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพ APEC ในครั้งนี้คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC รับรองเอกสาร ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานใน APEC และวางบรรทัดฐานใหม่ให้ APEC มุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุนควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ที่นอกจากจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาสังคม และสร้างความปลอดภัยในชีวิตให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

 

“ผมเชื่อว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ผู้วางนโยบาย และผู้นำธุรกิจ จะได้มาร่วมมือกันสร้างสรรค์นโยบาย ออกแบบทิศทางและแผนการบริหารประเทศที่สอดรับกับวิถีความปกติใหม่ของโลก โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ที่แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิดมาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกขณะนี้คือการทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า ในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าความถูกต้องของข้อมูล และการเผยแพร่/รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชนต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ ทั้งจากการศึกษา ค้นคว้า ซึ่งภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม 

 

ตัวอย่างเช่น ช่วงต้นของการให้บริการวัคซีนโควิด ที่ประชาชนบางส่วนกังวลเกี่ยวกับผลค้างเคียงของวัคซีน จากข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ถูกต้อง แต่ในภายหลังความหวาดกลัวได้คลายลงเมื่อข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้เริ่มปรากฏออกมามากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างน่าพอใจ

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศถึงนโยบายและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง ‘การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือนเมษายน 2565’ 

 

“ถือเป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยต่างๆ ตลอดจนอาสาสมัครและประชาชนทุกคน ทั้งนี้ รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

 

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาทั้งหมด ที่ได้ร่วมมือกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในการช่วยเหลือประเทศ ภายใต้รูปแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต เช่น CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test 

 

รวมถึงนวัตกรรมการรักษา วัคซีนใบยา ที่เป็นวัคซีนโควิดชนิด mRNA ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น โดยนวัตกรรมต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นจากการร่วมมือพัฒนาของนักวิชาการและนักวิจัยสหสาขา ในขณะเดียวกันเรายังมีผลงานยอดเยี่ยมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจ และการตรวจชนิดที่ทันเหตุการณ์ หรือการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่กำลังระบาดอีกด้วย

 

“ผมได้ทบทวนบทเรียนจากการรับมือสภาวะฉุกเฉินในการระบาดของโรคโควิด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรคคือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้น และมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

 

พล.อ. ประยุทธ์กล่าวในตอนท้ายว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมเชิงวิชาการในวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising