เป็นที่แน่นอนแล้วว่ากลางดึกคืนนี้ (2 ต.ค.) ตามเวลาประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ตามคำเชิญอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ
แต่ถึงอย่างนั้น ประเด็นในการเจรจาหารือครั้งนี้กลับยังไม่เป็นที่แน่ชัด ซึ่งตามกำหนดการของกระทรวงการต่างประเทศระบุเพียงแค่ว่า พลเอก ประยุทธ์จะเข้าหารือข้อราชการกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างครอบคลุมทุกด้าน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาค แต่ไม่ได้ระบุชัดในรายละเอียดว่าจะหารือกันในประเด็นใดเป็นการเฉพาะเจาะจงบ้าง
ก่อนการพบกันในคืนนี้ THE STANDARD ต่อสายกับนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อเก็งข้อสอบล่วงหน้าว่าการพบปะกันครั้งนี้มีประเด็นสำคัญอะไรที่น่าติดตามบ้าง และที่ขาดไม่ได้คือหลังจากการเจรจาจบลง ในฐานะประชาชนคนไทยที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เราควรจับตามองอะไรบ้าง
เก็งข้อสอบ ประเด็นเจรจาหนีไม่พ้นเกาหลีเหนือ ดุลการค้า และกระชับความสัมพันธ์
แม้จะไม่ปรากฏในรายละเอียดประเด็นการเจรจาที่ชัดเจน แต่ทั้ง ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ทางทหาร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่างมองตรงกันว่าการเจรจาครั้งนี้คงหนีไม่พ้น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ประเด็นการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ การค้าการลงทุนที่ไทยอยู่ในฐานะประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ และการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ทิ้งระยะห่างกันค่อนข้างมาก
ศ.ดร. สุรชาติให้ความเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบท่าทีของรัฐบาลบารัก โอบามา ในช่วงที่ไทยมีการรัฐประหารในปี 2557 กับช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นสู่อำนาจ จะเห็นได้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน จากความเย็นชาของรัฐบาลโอบามาที่มีต่อไทย มาถึงในปีนี้ รัฐบาลทรัมป์ส่งสัญญาณหลายอย่างที่เป็นบวกต่อความสัมพันธ์มากขึ้น ทั้งการฝึกรบ Cobra Gold ร่วมกันของกองทัพสองประเทศ การเยือนไทยของนายทหารระดับสูงของสหรัฐฯ รวมถึงการเยือนไทยของนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์ กับนายกฯ ประยุทธ์ ล้วนแล้วแต่แสดงออกชัดเจนถึงท่าทีใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทย
“ผมคิดว่าสัญญาณเหล่านี้ทำให้เห็นความชัดเจนว่ารัฐบาลทรัมป์ให้ความสนใจกับปัญหาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในประเทศไทยน้อยลง และให้ความสำคัญกับปัญหาความมั่นคง ซึ่งเป็นผลประโยชน์โดยตรงของสหรัฐฯ มากขึ้น”
สำหรับประเด็นเกาหลีเหนือ ศ.ดร. สุรชาติให้ความเห็นว่า ถึงแม้ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีเหนือจะไม่มากนัก เนื่องจากมีธุรกิจบางอย่างของเกาหลีเหนืออยู่ในประเทศไทย แต่เชื่อว่าการพบปะรอบนี้ สหรัฐฯ คงคาดหวังให้ไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกดดันเกาหลีเหนือ แม้จะไม่ได้ส่งผลใหญ่โตในทางปฏิบัติ แต่ท่าทีของไทยจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเข้าร่วมจากประเทศในเอเชียที่มีต่อปัญหาการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ
ด้านรศ.ดร. สมชายมองว่า แม้ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกองค์การสหประชาชาติที่ต้องให้ความร่วมมือกับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือตามมติระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่การหารือครั้งนี้สหรัฐฯ อาจร้องขอให้ไทยมีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น หรืออาจจะเพิ่มมาตรการบางอย่างเพื่อเป็นการกดดันเกาหลีเหนือในอีกทาง ส่วนไทยจะร่วมมือมากน้อยแค่ไหน คงต้องมองที่ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก นอกเหนือจากการเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การสหประชาชาติและสมาชิกอาเซียนด้วย
ส่วนประเด็นด้านการค้าการลงทุน ในฐานะที่ไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งรศ.ดร. สมชายมองว่าโอกาสนี้สหรัฐฯ น่าจะคาดหวังให้ไทยแก้ปัญหาการเกินดุลนี้ เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้เจรจากับหลายประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าของตัวเองเช่นกัน ซึ่งความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหานี้มีอยู่ 2 ทางคือ การที่ไทยอาจจะให้ความร่วมมือในแง่ของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ มากขึ้น กับอีกส่วนคือไทยอาจใช้โอกาสนี้ในการเชิญชวนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่าง EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
ขณะที่ศ.ดร. สุรชาติมองว่า แม้จะมีการพูดคุยกันเรื่องการค้าการลงทุน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลทรัมป์จะขออะไรจากไทยบ้าง ซึ่งคงต้องติดตามในรายละเอียดหลังการเจรจาต่อไป
ประเด็นสุดท้ายที่หลายฝ่ายจับตามองคือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพราะหลังจากการรัฐประหาร ประเทศไทยพยายามเข้าหาจีนมากขึ้น พิสูจน์ได้จากความร่วมมือกับจีนในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน โครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการเยือนจีนของผู้นำระดับสูงของไทย
ซึ่งประเด็นนี้ รศ.ดร. สมชายมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสหรัฐฯ อาจต้องการถ่วงดุลอำนาจกับประเทศจีนผ่านการกระชับความสัมพันธ์กับไทย ดังนั้นไทยอาจใช้โอกาสนี้ในการตั้งคณะกรรมการร่วมกันของทั้งสองประเทศแบบเดียวกับที่ทำกับจีนและญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
วาระซ่อนเร้นที่ไม่ปรากฏในหมายกำหนดการ
นอกจากทั้ง 3 ประเด็นใหญ่ที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเก็งว่าจะต้องมีการเจรจากันอย่างแน่นอนแล้ว ศ.ดร. สุรชาติยังตั้งข้อสังเกตถึงความกระตือรือร้นของรัฐบาลไทยต่อการไปเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ที่นับเป็นผลประโยชน์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย
“ผมคิดว่าการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำรัฐบาลทหารไทยครั้งนี้เป็นโอกาสทองในความหมายว่า จะเป็นการล้างภาพที่หลายคนเคยบอกว่ารัฐบาลชาติตะวันตกไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร ซึ่งประเด็นนี้มีนัยสำคัญ เพราะหลังจากการยึดอำนาจที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีข้อจำกัดในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมาโดยตลอด แต่เมื่อรัฐบาลวอชิงตันตอบรับการมาเยือนครั้งนี้อาจเป็นผลให้รัฐบาลตะวันตกประเทศอื่นๆ ยอมที่จะลดแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยลงก็ได้”
อีกประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้อาจนำไปสู่การเจรจาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่คั่งค้างมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่น เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กที่ไม่สามารถส่งมอบได้ เนื่องจากติดขัดปัญหารัฐประหาร รวมไปถึงจรวดติดกับเรือรบ
“ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะมีการซื้ออาวุธเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเราซื้ออาวุธจากจีนมาพอสมควร และถ้าสังเกตจากการเดินทางเยือนต่างประเทศของทรัมป์ จะเห็นว่าทรัมป์พยายามจะขายสินค้าอเมริกันอยู่เสมอ อย่างการเยือนตะวันออกกลาง ก็จะเห็นว่าสินค้าอเมริกันชุดหนึ่งที่ถูกขายคืออาวุธ
“เพราะฉะนั้นวิธีเอาใจทรัมป์ที่ดีที่สุดก็คือการซื้อสินค้าอเมริกันในภาวะที่ทรัมป์ต้องการโฆษณาว่านโยบายของเขาประสบความสำเร็จในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้อาจมีการซื้อเครื่องบินโดยสารเพิ่ม ซึ่งคงต้องจับตามองกันต่อไป”
ส่วนเรื่องการปล่อยสิทธิบัตรยาหรือประเด็นอื่นๆ ที่หลายฝ่ายเป็นกังวลอาจเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ เนื่องจากไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจนสามารถวิเคราะห์ได้
นอกจากนี้สิ่งที่ไทยอาจถูกทวงถามโดยไม่ทันตั้งตัวคือการเลือกตั้งที่ไทยเคยให้คำมั่นสัญญาบนเวทีระหว่างประเทศมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ซึ่งหนนี้อาจเป็นอีกครั้งที่ไทยต้องเผชิญกับคำถามที่ไม่อยากตอบ
“น่าจับตาว่ารัฐบาลทำเนียบขาวจะทวงถามกำหนดเวลาเลือกตั้งของไทยหรือไม่ เพราะจะเป็นสัญญาณสำคัญทางการเมืองว่า สรุปแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ยังสนใจกับปัญหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไทยต่อไปหรือไม่ ถ้าเขาทวงถามแปลว่าแรงกดดันยังมีอยู่ ถ้าไม่ทวงถามก็แปลว่าลอยตัว”
ด้านรศ.ดร. สมชายมองว่า นอกจากการพบปะกันของผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศแล้ว การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนของไทยในการกระชับความสัมพันธ์กับภาคเอกชนของสหรัฐฯ ด้วย
“เราจะเห็นว่าครั้งนี้มีนักธุรกิจของไทยติดตามไปด้วยหลายคณะ เพื่อจะสร้างบรรยากาศความร่วมมือและมองหาโอกาสในการร่วมมือกันของสาขาต่างๆ ระหว่างเอกชนต่อเอกชน หลังจากนี้คงต้องดูว่าจะมีจำนวนนักลงทุนจากอเมริกาเข้ามาลงทุนในไทยมากน้อยแค่ไหน มีข้อตกลงทางการค้าการลงทุนอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม บางเรื่องกว่าจะเห็นผลอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่น่าจะเกิดประโยชน์ตอบแทนกันไม่มากก็น้อย”
รายละเอียดเล็กๆ ที่ต้องตีความระหว่างบรรทัด
นอกเหนือจากประเด็นในการเจรจาที่สุดท้ายคงจะมีการแถลงการณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศหลังการหารือแล้ว สิ่งที่คนไทยต้องจับตามองต่อจากนี้คือรายละเอียดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในข้อตกลงต่างๆ ที่บางครั้งก็อาจจะมองเห็นได้ยาก หรือไม่สามารถมองเห็นได้เลยถ้าไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
“การที่นักวิเคราะห์อ่านเกมออกว่าเขาจะพูดคุยอะไรกันดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่สิ่งที่ต้องตระหนักอย่างหนึ่งในเวทีการทูตคือมันอาจจะมีรายละเอียดมากกว่านั้นที่เราไม่สามารถล่วงรู้ โดยเฉพาะข้อผูกมัดสืบเนื่องจากนี้ ซึ่งเป็นเหมือนตัวหนังสือเล็กๆ ในโฆษณาที่เราต้องอ่านให้ดี เช่นเดียวกันกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลจีน เช่น รายละเอียดเรื่องรถไฟความเร็วสูง ที่เราไม่มีทางรู้จนกว่าการเจรจาโครงการจะเกิดขึ้นจริงๆ”
แม้การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ของรัฐบาลไทยจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน แต่แน่นอนว่าผลผูกพันจากการพบปะกันของผู้นำทั้งสองประเทศอาจยาวนานกว่าที่เราจะคาดการณ์ได้ สุดท้ายเวลาคงพิสูจน์ให้เห็นว่าดีลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ใครได้ และใครเสียกันแน่