×

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสายตา วิษณุ เครืองาม เนติบริกรผู้ค้ำจุน 8 นายกฯ

โดย THE STANDARD TEAM
09.01.2024
  • LOADING...
วิษณุ ประยุทธ์

เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก คือชื่อหนังสือเล่มใหม่ของ วิษณุ เครืองาม ที่ตีพิมพ์ในปี 2566 โดยใช้สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (สำนักพิมพ์ ครม.) เป็นผู้จัดพิมพ์ หน่วยงานแห่งนี้เองที่ ‘เนติบริกร’ นั่งทำงานยาวนานกว่า 11 ปี ทั้งในฐานะรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ปี 2534-2536) และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ปี 2536-2545)

 

 

ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นศาสตราจารย์ในปี 2526 หรือเมื่ออายุเพียง 32 ปี โดยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนโอนไปเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ และก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเต็มตัวในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ต่อมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล 4 คณะ

 

วิษณุได้สรุปรวมความไว้ว่า “นับรวมเวลาที่ผมนั่งอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะต่างๆ กันจนถึงปี 2566 นานถึง 25 ปี ภายใต้รัฐบาล 12 คณะ นายกรัฐมนตรี 8 คน” (หน้า 150)

 

เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก บันทึกความเป็นไปในหลายมิติของรัฐบาลประยุทธ์ 2 (ปี 2562-2566) ผ่านสายตาของวิษณุ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมานั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเป็นหนที่ 2 หลังเคยนั่งในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ถือเป็นการดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะที่ 4 ของวิษณุ หลังเคยนั่งตำแหน่งเดียวกันนี้ในรัฐบาลทักษิณทั้งสองสมัย

 

“ระหว่างที่นายกฯ คนใหม่กำลังพิจารณาตั้งรัฐบาลอยู่นั้น ท่านก็ปรารภให้ผมฟังเป็นระยะๆ ว่าใครควรจะไปอยู่กระทรวงใด และขอให้ผมช่วยกำกับดูแลสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีใหม่ด้วย โดยไม่เคยเอ่ยว่าจะให้ผมจัดการกับชีวิตต่อไปอย่างไร จนเมื่อผมได้รับรายชื่อรัฐมนตรีมาครบคณะเพื่อตรวจคุณสมบัติ จึงได้เห็นชื่อของผมว่าเป็นรองนายกรัฐมนตรีอย่างเดิม ผมออกตัวว่ามีปัญหาสุขภาพ ท่านบอกว่าถ้าไม่ล้มหมอนนอนเสื่อก็ช่วยๆ ไปก่อน พี่ป้อม พี่ป๊อก อาจารย์สมคิด ยังอยู่ช่วยผมเลย” (หน้า 39)

 

และหลังจากนี้คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสายตาของ วิษณุ เครืองาม

 

บรรยากาศการประชุม ครม.

 

“บรรยากาศการประชุม ครม. สมัยประยุทธ์ 2 ใกล้เคียงกับสมัยประยุทธ์ 1 คือเริ่มด้วยการที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งหนักไปในทางรายงานภาวะเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และรายงานสถานการณ์ต่างๆ สังเกตว่าในระยะแรกๆ ทุกคนตั้งอกตั้งใจฟังดีอยู่ แต่พอนานเข้า รายงานเหล่านี้มักจะมีมากขึ้น ท่านนายกฯ ก็พยายามจะให้ทุกคนรู้เท่าที่ท่านรู้ ท่านจึงลงมือก้มหน้าก้มตาอ่านเอาๆ จนรัวและรวดเร็วในแบบสไตล์การพูดของท่าน จนหลายคนแอบบ่นว่าจับความตามได้ไม่ทัน” (หน้า 116)

 

 “ท่านนายกฯ ประยุทธ์ เป็นคนควบคุมการประชุมได้ดีพอสมควร อย่างน้อยก็คนละสไตล์กับเวลาที่ท่านทำงานอื่นๆ เช่น ให้สัมภาษณ์ ในการประชุมท่านจะอดทน ใจเย็น และปล่อยให้ทุกคนพูด ท่านจะขัดจังหวะต่อเมื่อเห็นว่าการแสดงความเห็นมีการแขวะกัน หรือหากหลุดออกไปล่วงรู้ถึงภายนอกจะกลายเป็นความขัดแย้ง คนที่นั่งขนาบข้างซ้ายขวาท่านนายกฯ คือ รองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ถ้ามีปัญหาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจ ท่านก็จะหารือกับสองท่านนี้ ถ้ามีแง่มุมทางกฎหมาย ท่านก็จะชะโงกหน้ามาถามผมหรือเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา” (หน้า 118)

 

วิบากกรรมของนายกฯ 

 

วิษณุเล่าต่อไปว่า ในห้วงเวลา 4 ปีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ถูกฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 4 คดี ซึ่งทุกคดีล้วนกระทบต่อสถานภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีและการดำรงสถานะของรัฐบาลทั้งคณะ

 

คดีถวายสัตย์ปฏิญาณยุติลงด้วยคำวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ฯ เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำของรัฐบาล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับไว้พิจารณาได้

 

คดีการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐยุติลงด้วยคำวินิจฉัยว่า หัวหน้า คสช. ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานใด ไม่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่ง จึงไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ

 

คดีการอยู่บ้านพักรับรองของทางราชการยุติลงด้วยคำวินิจฉัยว่า นายกรัฐมนตรีเคยเป็น ผบ.ทบ. และมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในบ้านพักรับรองกองทัพบก

 

คดีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนด 8 ปี ยุติลงด้วยคำวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องนับเวลาสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ระหว่างปี 2557-2562 รวมกันด้วย ดังนั้นเมื่อมาถึงปี 2565 พล.อ. ประยุทธ์ จึงดำรงตำแหน่งได้ไม่ครบ 8 ปี  

 

ผลของคำวินิจฉัยในทั้ง 4 คดี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลง

 

ความเป็นผู้นำของ พล.อ. ประยุทธ์

 

วิษณุเล่าว่า หนหนึ่งเคยโดนถามว่า “นายกรัฐมนตรีคนใดที่ดีที่สุดในสายตาของท่าน” เขาตอบคำถามข้อนี้โดยดึงจุดเด่นของผู้นำทางการเมืองทั้งหลายออกมาเป็นคำตอบ 

 

“ถ้าเมืองไทยมีผู้นำที่ซื่อสัตย์สุจริต อดทน อดกลั้น และจงรักภักดี อย่างนายกฯ เปรม, มีผู้นำที่กล้าได้กล้าเสีย มองการณ์ไกล มีวิสัยทัศน์ อย่างนายกฯ ชาติชาย และนายกฯ ทักษิณ

 

“รู้จักใช้คนให้เหมาะกับงาน รู้จักคิดนอกกรอบและสร้างสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็วทันใจ อย่าง จอมพล ป. หรือจอมพล สฤษดิ์

 

“สมถะ สุภาพ อ่อนโยน ให้เกียรติคนอื่น และดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดิน อย่างนายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร และนายกฯ ชวน

 

“ขยันทำงานหนัก เกาะติดปัญหาชนิดแก้ไม่ได้ไม่ปล่อย และใส่ใจรายละเอียดของงานทุกชนิดที่ถาโถมเข้ามา อย่างนายกฯ บรรหาร และนายกฯ ประยุทธ์

 

“ประนีประนอม ไม่ก้าวร้าว รู้จักยอมถอย และปล่อยวาง อย่างนายกฯ ชวลิต

 

“รับฟังความเห็นต่าง มีความเป็นสากล และสง่างามในทุกมิติ อย่างนายกฯ อานันท์

 

“เฉลียวฉลาด อยู่ในวัยที่เหมาะแก่การทำงาน และเรียนรู้เร็ว อย่างนายกฯ อภิสิทธิ์

 

“หากได้ทุกอย่างตามนี้มาผสมกันอยู่ในคนเดียว ประเทศไทยก็จะมีผู้นำที่สมบูรณ์แบบ” (หน้า 163)

 

วิษณุเล่าถึงความเป็นผู้นำของ พล.อ. ประยุทธ์ ไว้ในหลายแง่มุม เช่น

 

“รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์ ผมอยู่กับท่านมาตั้ง 9 ปี จึงคุ้นเคยกันทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พระท่านว่า วิสฺสาสปรมา ญาติ (วิสสาสะปรมา ญาติ) ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง ท่านอาจจะผลีผลามหรือดุดันกับคนอื่น แต่กับผมท่านดูจะเกรงใจและเป็นห่วงสารทุกข์สุกดิบอยู่มาก รู้ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยท่านก็ถามไถ่ และยังใส่ใจไปถึงลูกเมียผมด้วย” (หน้า 160)

 

“นายกฯ ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ พร้อมกับการเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจมาก จึงถูกมองว่าเป็นเผด็จการมาตั้งแต่ปีแรก ประกอบกับบุคลิกภาพเป็นคนใจร้อน พูดเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ขึงขัง เด็ดขาด ใครว่าอะไรจะตอบทุกเม็ด ชนิด ‘เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ ถึงปะเสือก็จะสู้ดูสักหน’

 

“ทั้งที่ถ้าทำงานด้วยแล้วจะรู้ว่าเป็นคนมีอารมณ์ขัน เป็นกันเอง ยอมให้คนยั่วเย้า และท่านเองก็ชอบกระเซ้าเย้าแหย่คนอื่น ยกเว้นเวลาทำงานจะเป็นคนเด็ดขาด จริงจัง ตัดสินใจแล้ว แต่ไม่เคอะเขิน ถ้าผิดพลาดก็ยอมแก้ไขใหม่ พูดใหม่ จึงถูกใจบางกลุ่ม แต่อาจน่าหมั่นไส้สำหรับบางกลุ่ม ที่จริงนายกฯ สมัคร ก็เป็นเช่นนี้ แต่นายกฯ สมัคร เป็นนายกฯ ที่มาจากการหาเสียงเลือกตั้งแล้วได้รับเลือกเข้ามา คนจึงคุ้นชินมาแต่อ้อนแต่ออกตั้งแต่ยังไม่เป็นผู้นำ” (หน้า 166)

 

“นายกฯ ประยุทธ์ ไม่ใช่คนพูดเก่ง ทั้งยังมักจะพูดเร็วปรื๋อ แต่ก็มีเสน่ห์อีกแบบ มีคนบอกว่าแสดงความจริงใจ เพราะพูดอย่างที่คิด เมื่อคิดเร็วก็พูดเร็ว ความจริงก็เป็นคนอารมณ์สุนทรีคนหนึ่ง ชอบเขียนกลอน ชอบแต่งเพลง ฟังเพลง ดูหนังช่อง Netflix เล่นกีฬา ชอบกอล์ฟ ฟุตบอล มวยไทย เรียกว่าใจนักเลง ใจนักกีฬา และมีอารมณ์ขัน แต่พอสั่งงานจะหน้าเข้ม เสียงดุ” (หน้า 177)

 

“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้นำที่ดีได้หรือไม่ในยามอื่นๆ เช่น ยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือยามเกิดความไม่สงบเรียบร้อย ประท้วงต่อต้านกันทั่ว ก็สุดแต่จะวิจารณ์กันไป แต่ในยามเกิดโรคระบาดชนิดใหม่ที่ชื่อโควิด-19 นี้ ต้องนับว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ใช้ความอดทน ความพยายาม และความเข้มแข็งเด็ดขาดพอสมควร” (หน้า 225)

 

      

จุดแข็ง-จุดอ่อนของรัฐบาลประยุทธ์ 2

 

วิษณุเสนอว่า รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีจุดแข็งอยู่ 2 ประการ

 

หนึ่งคือ ความเป็นผู้นำที่มีบารมีและอำนาจเก่า อันเนื่องมาจากบุคลิกภาพเข้มแข็งเด็ดขาดและภาพลักษณ์ความไม่ด่างพร้อยตั้งแต่ครั้งสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1

 

สองคือ ภาพลักษณ์สะสมผลงาน ได้แก่ การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ดี การดูแลรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้พอสมควร และการดูแลรักษาสวัสดิภาพและสวัสดิการทางสังคมได้พอประมาณ

 

ทว่ามีจุดอ่อน 2 ประการ

 

หนึ่งคือ การอ่อนในเชิงบริหารงานการเมือง

 

“การทำภารกิจบริหารการเมืองอาจหย่อนยานไปบ้างในระบบที่พรรคการเมืองมีบทบาทสูง แม้หัวหน้าหรือผู้ใหญ่แต่ละพรรคจะมีโอกาสเข้าพบและหารือปัญหากับท่านบ่อยครั้ง แต่ก็เป็นรายๆ ไป โอกาสประชุม ปรึกษาหารือ ร่วมกันวางแผนระดมสมอง ช่วยกันคิดหรือถกแถลงแก้ปัญหาการเมืองของรัฐบาลในลักษณะเป็นคณะยังน้อยกว่าที่ควร แม้แต่ข่าวการพบปะสังสรรค์และรับประทานอาหารระหว่างสมาชิกพรรคหรือแกนนำของพรรคร่วมกันก็แทบจะไม่ปรากฏให้เห็น ซึ่งเรื่องพวกนี้จะว่าไม่สำคัญก็ไม่ได้ เพราะในระบบพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเบื่อ รำคาญ หรือหงุดหงิด เพียงใดก็ต้องอดทน อดกลั้น และอดออม ทั้งทีท่าและวาจาคำพูดเข้าไว้” (หน้า 275)

            

วิษณุบันทึกไว้ด้วยว่า ตัวประยุทธ์เองได้รับแรงกดดันทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่บางคนในซีกรัฐบาลเข้าร่วมกับฝ่ายค้านในการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก, ความพยายามจะล้มร่างพระราชบัญญัติสำคัญของรัฐบาล, คดีการดำรงตำแหน่ง 8 ปี, การใช้พลังมวลชนเข้ากดดัน ไปจนถึงแยกนายกรัฐมนตรีออกจากพรรคพลังประชารัฐ จนนายกรัฐมนตรีต้องหันไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ทว่า “พล.อ. ประยุทธ์ เหมือนนายกฯ อีกหลายคนคือ ยิ่งกดดันท่านยิ่งฮึดสู้” (หน้า 265)

 

สองคือ ระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ 2 เป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตกันไปทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนผู้คนเจ็บป่วยล้มตายอย่างมาก ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ผู้คนทำมาหากินไม่ได้ รัฐบาลต้องกู้เงินนับล้านล้านบาทมาพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาช่วยเหลือ ทำให้รัฐบาลเองก็ขาดงบมาผลักดันนโยบายอื่น และประชาชนที่ได้รับผลกระทบย่อมเกิดความไม่พอใจรัฐบาลเป็นธรรมดา

 

 

ไม่ใช่คนแปลกหน้าของราชสำนัก

 

วิษณุให้ความรู้ว่า ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญคือ พระราชสิทธิที่จะทรงได้รับรายงานข้อราชการจากรัฐบาล, พระราชสิทธิที่จะทรงแนะนำตักเตือนรัฐบาล และพระราชสิทธิที่จะพระราชทานกำลังใจและสนับสนุนรัฐบาล

 

“ในการปฏิบัติ รัฐบาล พล.อ.​ ประยุทธ์ 2 ยังคงเคารพพระราชสิทธิเหล่านี้ ดังที่มักมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานข้อราชการเป็นระยะๆ เสมอมา บางครั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานด้วยตนเอง แต่เมื่อพระราชทานคำแนะนำอย่างไรแล้ว ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล จะนำไปอ้างไม่ได้

 

พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่คนแปลกหน้าของราชสำนักและข้าราชการในพระองค์ เพราะเคยถวายงานด้วยความจงรักภักดีและใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ข้อนี้จะนับว่าเป็นจุดแข็งของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทั้ง 1 และ 2 เลยก็ว่าได้” (หน้า 256)

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อรัฐบาล คราวเกิดอุทกภัย เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ก็พระราชทานคำแนะนำต่างๆ แก่นายกรัฐมนตรี รับสั่งเสมอว่า “ถ้าทำได้เองก็ให้ทำไป หากมีอะไรจะให้ช่วยเหลือก็มาบอก” บางครั้งพระราชทานกำลังใจแก่รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ นับเป็นความสัมพันธ์และพระมหากรุณาธิคุณที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ส่วนที่ว่ารัฐบาลจะสนองพระมหากรุณาธิคุณได้มากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องของรัฐบาลเอง พระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ย่อมมีแก่ทุกรัฐบาลเสมอกัน” (หน้า 258)

 

จนถึงวันนี้ ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ วิษณุ เครืองาม ยังคงโลดแล่น มีบทบาทการนำ และมีบารมีอย่างสูงในทางการเมือง

 

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้นี้ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น องคมนตรี

 

และก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 วิษณุ เครืองาม เนติบริกร, อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีผู้นี้ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกา ต่อมายังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน)

 

ทั้งคู่ล้วนยังคงมีภารกิจที่จะสนองพระมหากรุณาธิคุณต่อไป

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X