×

ครบ 5 ปี คสช. พลเอก ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารที่เป็นนายกฯ นานกว่าจอมพล สฤษดิ์?

22.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • พลเอก ประยุทธ์ ถือเป็นผู้นำคณะรัฐประหารคนที่ 5 ที่ยึดอำนาจเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง
  • ครบ 5 ปีการรัฐประหารโดย คสช. การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพลเอก ประยุทธ์ มีโอกาสสูงที่จะทำลายสถิติของจอมพล สฤษดิ์
  • จุดจบของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีล้วนแตกต่างกัน บางคนลงเอยเป็นทรราช ต้องลี้ภัยและถูกยึดทรัพย์

24 สิงหาคม 2557 ประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

 

พลเอก ประยุทธ์ ถือเป็นผู้นำคณะรัฐประหารคนที่ 5 ที่ยึดอำนาจเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 5 ปี ก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

THE STANDARD ขอพาย้อนอดีต สำรวจที่มา และจุดจบของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คน

 

จอมพลสฤษดิ์

Photo: นิตยสารศิลปวัฒนธรรม

 

พระยาพหลพลพยุหเสนา

5 ปี (2476-2481)

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎรได้ประมาณ 1 ปี เกิดภาวะแตกร้าวทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างแกนนำคณะราษฎรกับรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย

 

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาทำการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476

 

พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงร่วมกับคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน โดยมีท่านเป็นหัวหน้าทำการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ และถือเป็นการรัฐประหารครั้งแรกในประเทศไทย

 

จากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2476-2481 รวม 5 ปี ก่อนประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481

 

Photo: thethaiger.com

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

10 ปี 5 เดือน (2491-2500)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดของไทย โดยแบ่งการครองตำแหน่งออกเป็นสองยุค ยุคแรกเกือบ 6 ปี (16 ธันวาคม 2481 ถึง 1 สิงหาคม 2487)

 

ส่วนยุคที่สอง หลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดสถานะทางการเมืองไปกว่า 3 ปี คณะรัฐประหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ล้มรัฐบาลพลเรือนของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และในวันเดียวกัน คณะรัฐประหารได้เชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

 

การเป็นนายกฯ ยุคที่สองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งยาวนานต่อเนื่องถึง 10 ปี 5 เดือน (8 เมษายน 2491 ถึง 16 กันยายน 2500) อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นสวยงาม

 

ในช่วง 4 ปีแรก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเจอกับคณะกบฏถึง 3 คณะ เริ่มจาก ‘กบฏเสนาธิการทหาร’ ช่วงเดือนตุลาคม 2491 แต่แผนรั่วไหลก่อน

 

ปีถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ‘กบฏวังหลวง’ ต้องการล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนพลเรือตรี ถวัลย์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

อีก 2 ปีต่อมา 29 มิถุนายน 2494 นายทหารเรือจับตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวประกันระหว่างพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ ‘แมนฮัตตัน’ ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทย โดยทหารเรือใช้ปืนกลจี้บังคับให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลงเรือเปิดหัวที่เตรียมไว้ แล้วนำไปยังเรือหลวงศรีอยุธยาและคุมขังไว้ที่นั่น แต่สุดท้ายฝ่ายทหารเรือก็พ่ายแพ้ และเหตุการณ์นี้ถูกเรียกขานต่อมาว่า ‘กบฏแมนฮัตตัน’

 

ปลายปีเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการรัฐประหารตนเอง (29 พฤศจิกายน 2494) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 อีกครั้ง

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองอำนาจยาวนานถึงปี 2500 ก่อนจะถูกนายทหารรุ่นน้องคนสนิท จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจนต้องลี้ภัยผ่านกัมพูชาไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น และใช้ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตอยู่ที่นั่น

 

Photo: thainationhistory.blogspot.com

 

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

4 ปี 9 เดือน 28 วัน (2502-2506)

 

หลังรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพล สฤษดิ์ ได้ตั้ง พจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพจน์ สารสิน ได้จัดการเลือกตั้งโดยรวม ส.ส. ประเภทแต่งตั้งและเลือกตั้ง ผลักดันพลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ต่อมาได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้น พลโท ถนอม ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

 

จอมพล สฤษดิ์ จึงร่วมมือกับพลโท ถนอม ยึดอำนาจรัฐบาลพลโท ถนอม (รัฐประหารตัวเอง) และจอมพล สฤษดิ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502

 

ในการปกครองและการบริหารประเทศ จอมพล สฤษดิ์ ได้ประกาศว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว” ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีกลไกควบคุมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สามารถใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้เอง

 

นายกฯ เจ้าของฉายา ‘จอมพลผ้าขาวม้าแดง’ นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย เพราะมีการใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันทีหลังจากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเบ็ดเสร็จ มาตรา 17 ที่เขียนขึ้นมาเอง

 

จอมพล สฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ จนกระทั่งถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ถือเป็นนายกฯ คนเดียวที่ถึงแก่อสัญกรรมระหว่างดำรงตำแหน่ง รวม 4 ปี 9 เดือน 28 วัน โดยหลังการเสียชีวิต สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้เปิดเพลง ‘พญาโศก’ เป็นการไว้อาลัย

 

Photo: thaipublica.org

 

จอมพล ถนอม กิตติขจร

10 ปี 6 เดือน (2501 และ 2506-2516)

จอมพล ถนอม กิตติขจร ถือเป็นแกนนำคณะทหารร่วมกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

โดยเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2506 ถัดไปเพียงข้ามวัน 9 ธันวาคม พลเอก ถนอม (ยศในเวลานั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นการครองอำนาจต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นของคณะรัฐประหาร 16 กันยายน 2500

 

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 คณะทหารได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นชื่อว่า ‘พรรคสหประชาไทย’ โดยมีจอมพล ถนอม เป็นหัวหน้าพรรค

 

โดยผลการเลือกตั้ง พรรคสหประชาไทยได้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 1 แม้จะไม่มากเกินครึ่งของ ส.ส. ทั้งหมด แต่ก็สามารถผนวก ส.ส. จากพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาลได้ และจอมพล ถนอม ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ อีกสมัยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2512

 

แต่จากนั้นจอมพล ถนอม ก็ทำการรัฐประหารรัฐบาลตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ก่อนจะพบจุดจบทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จอมพล ถนอม ลี้ภัยไปอยู่บอสตัน สหรัฐอเมริกา จากนั้นรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ใช้อำนาจมาตรา 17 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ยึดทรัพย์จอมพล ถนอม รวมมูลค่า 22,196,893.50 บาท รวมถึงยึดทรัพย์ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร มูลค่ารวม 51,102,096.50 บาท

 

อย่างไรก็ตาม จอมพล ถนอม พยายามต่อสู้เรื่องการยึดทรัพย์ และพยายามเดินทางกลับประเทศไทย

 

การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2517 โดยอ้างว่ามาดูแลพ่อที่ป่วยหนัก แต่ก็อยู่ประเทศไทยได้แค่ 3 วัน ก่อนจะถูกต่อต้านจนต้องไปอยู่สิงคโปร์

 

จากนั้นปี 2519 จอมพล ถนอม ในวัย 65 ปีได้บวชเป็นเณรที่สิงคโปร์ แล้วเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่ออุปสมบทที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวรเป็นพระอุปัชฌาย์ และมีราชเลขาธิการอัญเชิญผ้าไตรพระราชทาน

 

การบวชพระของจอมพล ถนอม เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดเหตุการณ์สังหารนิสิต-นักศึกษา 6 ตุลาคม 2519

 

ขณะที่จอมพล ถนอม บวชอยู่ได้เพียง 5 เดือนก็สึก และพำนักอยู่ในประเทศไทยจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2547 ขณะอายุเกือบครบ 93 ปี

 

Photo: ฐานิส สุดโต

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ครบ 5 ปี (2557 ถึงปัจจุบัน)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

 

จากนั้นวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งมีมติเอกฉันท์ให้พลเอก ประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ถือเป็นผู้นำคณะรัฐประหารคนที่ 5 ที่ยึดอำนาจเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง

 

พลเอก ประยุทธ์ ปกครองประเทศด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยมีมาตรา 44 รวบอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการให้อยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเหมือนเช่นมาตรา 17 ของจอมพล สฤษดิ์

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งร่างขึ้นโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง กำหนดให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม แถมมี ส.ว. ทั้งหมด 250 คนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. และมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. จำนวน 500 คนที่มาจากการเลือกตั้ง

 

รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ เลื่อนการเลือกตั้งมาหลายครั้ง โดยอ้างโรดแมปซึ่งถูกกำหนดไว้โดยกฎหมายที่ตนเองเขียนขึ้น และการลงมติของสมาชิก สนช. ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด

 

เกือบ 5 ปีภายใต้การปกครองของ คสช. ในที่สุดคนไทยได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ และการตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะการคิดคำนวณให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก 11 พรรค ที่ได้รับคะแนนไม่ถึงคะแนนเฉลี่ย (71,000คะแนน) ได้รับจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 คน และท้ายที่สุด 11 พรรคเล็กนั้นเลือกร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

22 พฤษภาคม 2562 ครบ 5 ปีการยึดอำนาจโดย คสช. สังคมไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช. ต่อไป แม้การเลือกตั้งจะผ่านไปแล้วกว่า 3 เดือน

 

ขณะที่หากประเมินจากสถานการณ์ และกติกาทางการเมืองในปัจจุบัน ก็มีโอกาสอย่างมากที่พลเอก ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ทำสถิตินายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องทะลุสถิติของจอมพล สฤษดิ์

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • วิทยานิพนธ์: รัศมี ชาตะสิงห, บทบาทของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในระยะหกปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2476-2481)
  • การสัมมนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่
  • wiki.kpi.ac.th/index.php?title=จอมพล_สฤษดิ์_ธนะรัชต์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising