×

เปิดทุกคำพูด นายกฯ คุยกับ THE STANDARD เรื่องม็อบ คดีบอส ความสัมพันธ์ 3 ป. และทางรอดเศรษฐกิจ

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

20 mins. read
  • ข้อซักถามต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้เวลาที่จำกัด จากการเดินสายพบสื่อที่ THE STANDARD กองบรรณาธิการได้ซักถามถึงข้อเรียกร้องของนักศึกษา การปรับคณะรัฐมนตรี การแก้เศรษฐกิจ บริหารบ้านเมือง และอีกหลากหลายประเด็น รวมถึงสภาพชีวิตปัจจุบัน เพื่อให้ได้คำตอบต่อสาธารณชน

การปรากฏตัวของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สำนักข่าว THE STANDARD เมื่อวานนี้ (3 สิงหาคม) เป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องจากกิจกรรมการเดินสายพบสื่อมวลชนของนายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปพบกับกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ มาแล้ว หากแต่ว่ารอบนี้คือการมาพบ ‘สื่อออนไลน์’ หนแรก

 

การนัดหมายเกิดขึ้นในบ่ายวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม โดยทีมงานของนายกรัฐมนตรีได้ประสานงานเข้ามา สำนักข่าว THE STANDARD ได้รับหนังสือนัดทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ในวันเดียวกัน และตัดสินใจตอบรับการนัดหมายดังกล่าว ภายหลังหารือกับกองบรรณาธิการ

 

ในจดหมายระบุจุดประสงค์เพื่อรับฟังความเห็นใน 2 ประเด็นคือ 

 

  1. ประเด็นที่คนไทยและประเทศไทยของเรา ควรให้ความสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันคืออะไร

 

  1. ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความสำเร็จคืออะไร และควรทำอย่างไร

 

ทั้ง 2 ข้อ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการบริหาร ได้เสนอมาตรการระยะสั้น 6 ข้อ และระยะยาว 2 ข้อ รวม 8 ข้อ พร้อมจำลองสภาพการณ์ประเทศไทยผ่านสิ่งที่เรียกว่า UNO Stacko 

 

 

และต่อไปนี้คือคำถามและบทสนทนาระหว่างกองบรรณาธิการและนายกรัฐมนตรี ในหลากหลายประเด็นคำถามที่สังคมต้องการรู้คำตอบจากผู้นำประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองและสภาพเศรษฐกิจเวลานี้ 

 

 

กองบรรณาธิการ: ขอทราบจุดประสงค์และเป้าหมายของการเดินสายพบสื่อของนายกฯ

 

นายกฯ: วันนี้ที่มาก็มาด้วยความตั้งใจ ตั้งใจมานานแล้ว หลังจากที่เราได้ไปพบสื่อหลายๆ คณะมาแล้ว ก็มีสื่อสิ่งพิมพ์ แล้วก็มีออนไลน์บ้าง นี่คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าก็ขอมารับฟังคนรุ่นใหม่บ้าง ต้องมาฟังกัน มีอะไรที่อธิบายกันได้จะได้สานต่อกัน ใช่ไหม ไม่อย่างนั้นบางทีไม่ตรงกัน บางทีก็ไม่ทราบ

 

กองบรรณาธิการ: จะรับข้อเสนอแนะของสื่อไปปฏิบัติต่ออย่างไร

 

นายกฯ: ที่ฟังมาเมื่อกี้ มันมีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ วันนี้สังคมมีเรื่องไม่สบายใจหลายเรื่อง และสังคมก็มีปัญหา วันนี้นายกฯ ก็อยู่มาตั้ง 5 ปี สถานการณ์ตอนที่เข้ามามันคนละสถานการณ์ ที่เข้ามาไม่ได้อยากเข้ามา มันเป็นเรื่องสถานการณ์บังคับที่เราต้องเข้ามา ดูดุเดือดไปบ้างก็ต้องเข้ามา ใน 5 ปีที่ผ่านมาก็เรียบร้อยดี ก็ต้องทำอะไรต่างๆ แก้ปัญหา แล้วเราทำอะไรไปบ้าง 

 

กองบรรณาธิการ: รัฐบาลทำอะไรไปบ้าง

 

นายกฯ: เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ มันต้องมีระยะยาวให้เรา ผมพูดเรื่องนี้ก่อนนะ หลายคนก็มองทำไมต้อง 20 ปี ตายหมดหรือยังคนเขียน คนเขียนตายไปหมดแล้ว ไม่ใช่สิ มันก็เหมือนกลยุทธ์ของเรา

 

ทีนี้ 5 ปีเราใช้งบประมาณจากไหน ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ในแต่ละปี แผนงาน แผนปฏิรูปต่างๆ มันจะจบอยู่ตรงนั้น ทีละปีๆ แล้วมันสะสมใน 5 ปี ถ้าอันไหนมันจบใน 5 ปี หรือจบใน 2 ปี จบใน 3 ปี งบประมาณมันจบที่ตรงนั้น เพราะแค่ประชุมก็ 3 เดือนแล้ว ผลงานมันไม่ออก เหมือนเราทำอะไรก็ต้องเร็ว วันนี้เราก็เร่งทุกอย่าง จะเห็นได้ว่าเราก็มีหลายแผนที่ออกมา มีแผนปฏิรูป แผนแม่บท บางอย่างทำได้เร็ว แก้นิดหน่อย กฎหมาย กฎระเบียบ กฎกระทรวง นี่สำคัญที่สุดเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ที่มาก็ฟังพวกเรา เพราะวันนี้ประเทศไทยถ้าไม่มอง GDP เลย หลายคนบอกอย่าไปสนใจ GDP เลย โลกเขามองเรื่องของเขา แต่เศรษฐกิจเรามันยิบย่อยกว่าตั้งเยอะ เราดูตัวเลข อย่างเวียดนามตัวเลขเขาโตพรวดๆ แต่ของเราตัวเลขเราโตอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่สมัยเราปรับโครงสร้างจากญี่ปุ่นใช่ไหม ของเรามันขึ้นแล้ว คราวนี้มันจะขึ้นใหม่มันกว้างไปแล้ว วันนี้ฐานเรากว้าง แน่นปึก เราต้องมาคิดลงทุนใหม่ EEC ได้ไหม หรืออะไรที่มันจะเกิดรายได้

 

การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หลายคนก็บอกจะไปทำทำไมถ้าคนยังยากจน มันไม่ได้ ต้องทำทั้งสองอย่าง ท่านดูแลคนยากจนอย่างเดียวเงินหมดไปเฉยๆ แล้วงบลงทุนมันหายไปไหน คราวนี้การจ้างงานเดี๋ยวทางนี้จะชี้แจง ว่าจะเพิ่มการจ้างงานอย่างไร และสิ่งที่สองที่เราให้ความสำคัญคือลดการเลิกจ้าง และสามเงินสภาพคล่อง

 

กองบรรณาธิการ: ประเด็นเรื่องสาธารณสุข กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ตรงนี้จะมีวิธีการจัดสมดุลอย่างไรให้ไปรอด

 

นายกฯ: เรื่องสาธารณสุข เรื่องเศรษฐกิจ วันนี้รายได้ประเทศหายไปหลายๆ ล้านจากการท่องเที่ยว เพราะเราไปพึ่งเรื่องการส่งออกกับการท่องเที่ยว เราต้องปรับตรงนี้ใหม่ไหม เพิ่มการบริโภคในประเทศ การเกษตรปรับเป็น BCG (Bio-Circular-Green Economy) ไหม ซึ่งเรามีศักยภาพอยู่แล้ว เกษตรที่มันเพิ่มมูลค่า รักษาสิ่งแวดล้อม การตั้งโรงงานที่เอาพืชหมุนเวียนมาใช้ ฟางอ้อยต่างๆ นวัตกรรมใหม่ เรื่องน้ำมัน

 

เรื่องของอุตสาหกรรมใหม่ เดิมพึ่งรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พื้นๆ เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างการลงทุนในประเทศ เหมือนที่เราสร้างศูนย์อุตสาหกรรมที่ EEC เรื่อง 5G ต้องเอาตัวอย่างจากต่างประเทศเข้ามา เหมือนอย่างมีซิลิคอนวัลเลย์ คราวนี้อย่างของเราจะตั้งอะไรมา มีปัญหาแล้ว อย่างเรื่องที่ดิน ถ้าจะสร้างอะไรไม่ใช่ที่ดินของรัฐ มีปัญหาทันที จะสร้างอะไรต้องออกกฎหมายเวนคืน เยียวยาประชาชน ก็เอาค่าเรียกร้องสูงๆ ซึ่งมันไม่เป็นไปตามกติกา ให้มากก็ไม่ได้ ทำถนนก็ฟันหลอ ไม่เสร็จ เราก็บี้ ทำได้ตรงที่มันทำได้ 

 

วันนี้เราต้องปรับวิธีคิดใหม่ โครงการใหญ่ต้องซอยเป็นโครงการย่อยให้คนเห็นว่าทำแล้วไอ้นี่ได้ประโยชน์ ที่เหลือก็คอยดู ก็ทำต่อ เดิมทำยาว แล้วลงทุนไม่ได้ เบิกจ่ายไม่ทัน นี่เราปรับวิธีคิดใหม่หมดใน ครม. ตอนนี้จะแก้ให้เร็วที่สุด

 

วันนี้พูดถึงการจ้างงาน เรื่องของไทยช่วยไทย วันนี้ก็เห็นด้วยเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ต้องปรับนะ การกระตุ้นบริโภคภายใน การท่องเที่ยวโรงแรมในเมืองใหญ่ยังแย่อยู่ เมืองท่องเที่ยว กำลังหาวิธีการว่าจะทำอย่างไร การเพิ่มการท่องเที่ยวในประเทศต้องหามาตรการ

 

วันนี้ ศบค. ก็ไม่ได้บังคับใช้กับการชุมนุม แต่ต้องการบังคับไม่ให้คนมารวมกันแล้วติดเชื้อ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. ชุมนุม ก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมานี่ไม่เคยลงโทษใครเลย

 

 

กองบรรณาธิการ: การต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน บอกว่าใช้เพื่อมาตรการด้านสาธารณสุข ควบคุมโรค แต่ก็มีความกังวลว่าจะถูกเอามาใช้ทางการเมือง และมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิก

 

นายกฯ: วันนี้ ศบค. ก็ไม่ได้บังคับใช้กับการชุมนุม แต่ต้องการบังคับไม่ให้คนมารวมกันแล้วติดเชื้อ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. ชุมนุม ก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมานี่ไม่เคยลงโทษใครเลย 

 

ถามว่าเพราะอะไรต้องใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพราะกฎหมายแต่ละกระทรวงมีอยู่ มีกฎหมายยิบย่อยหมดเลย หน่วยงาน 20 กระทรวง ถือกฎหมายคนละตัวหมด มันก็ต้องมีกลไกขึ้นมาเพื่อเราบริหาร แล้วเอาทุกกระทรวงมานั่งดู ติดตรงไหนแล้วเอา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไปแก้ปัญหาตรงนี้ให้ เรียกว่าแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ ไม่อย่างนั้นแก้ปัญหาไม่ได้

 

กองบรรณาธิการ: พูดแบบนี้คือจะต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปเรื่อยๆ

 

นายกฯ: ไม่ใช่ ผมก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ผมต้องประชุม เขารายงาน ผมต้องตอบไป เราปลดล็อกไปเกือบ 90% แล้วนะ 

 

ทีนี้เหลือเรื่องการบิน เราจะปลดล็อกการบินอย่างไร การเข้าประเทศอย่างไรให้ปลอดภัย เราก็ไม่ได้สั่งส่งเดช เราให้จังหวัดไปหาว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวกี่แห่ง ประชาชนยอมรับไหมว่าจะเอาคนเข้ามา เพราะปัญหาไม่ใช่ว่าจะปลดอย่างไร ถ้าประชาชนไม่ยอม ไม่มีทาง เข้าไม่ได้ เราก็ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปหาในทุกจังหวัด 

 

แล้วเราก็เปิดแบบที่เรียกว่า Travel Bubble ก่อน แล้วเปิดในลักษณะเที่ยวบินพิเศษก่อน คนที่เข้ามาแล้วรับมาตรการคัดกรองกับเรา อย่าง 14 วันอย่างนี้ไม่มีใครมา ก็ต้องหามาตรการว่าจะคัดกรองได้เร็วขึ้นอย่างไร ไม่ใช่มากักตัว 14 วัน ถ้าเขามากัก 14 วัน แล้วเขามาเสียค่าใช้จ่าย 14 วัน รัฐแบกภาระนะ ค่าโรงแรม ค่าอะไร เยอะนะ แต่เราไม่รู้จะทำอย่างไร หรือถ้าเราคัดกรองจากต้นทางมาว่าไม่มีโรค บางทีตรวจมาก็ยังไม่เจอ พอเข้ามาก็ต้องติดตาม ลงทะเบียนแอปฯ ไทยชนะ ช่วยเราเยอะนะ แต่ไม่ต้องกลัวเรื่องสิทธิมนุษยชน เราไม่ได้ตามเธอไปไหน หลายคนเขากลัว ไม่ใช่ เข้าไปไหนก็สแกนตรงนั้น

 

 

กองบรรณาธิการ: มีโอกาสจะเกิด Travel Bubble ไหม

 

นายกฯ: ถ้าเขาไม่ดูแลตัวเองนะ ไม่มีใครรู้ เพราะว่าไม่มีใครมาตาม เราต้องดูก่อน แล้วหลายประเทศก็มีปัญหาเยอะขึ้น เราทำมากกว่าต่างประเทศเยอะ เรายังได้แค่นี้ แล้วเรายังต้องร่วมมือเรื่องวัคซีนกับต่างประเทศด้วย ในประเทศเราก็ต้องเตรียมโรงงาน ดูการผลิตให้พร้อม ใครคิดมาก็ไปคุยกับเขา ถามว่าร่วมมือกับใครไปแล้ว อย่างออกซ์ฟอร์ดก็ร่วมมือกับเรา เราก็ติดต่อไปว่าขอความร่วมมือกับเขา เขาก็โอเค ที่เหลือเราก็ต้องกลับมาเตรียมตัวรองรับการผลิตวัคซีน ทั้งหลอดวัคซีนและโรงงานต่างๆ

 

อย่างวัคซีนของจุฬาฯ ก็ก้าวหน้าไปแล้ว ต้องเตรียมคน และต้องเตรียมไว้เป็นล้านโดส ก็ต้องจัดเตรียมไว้สำหรับคน โดยดูว่าใครที่มีความเสี่ยงสูง แรงงานต่างๆ หรือใครที่ความเสี่ยงต่ำก็จัดไว้อีกพวกหนึ่ง 

 

กองบรรณาธิการ: คาดการณ์ว่าจะได้วัคซีนตอนไหน

 

นายกฯ: ก็ไม่เร็ว ต่างประเทศก็คาดการณ์ว่าปีหน้าหมด พอปีหน้าได้มาก็ต้องทดสอบอีก เพราะกระบวนการสุขภาพไม่ใช่ง่ายๆ แม้กระทั่งพันธุ์ข้าวใหม่ต้องทดลองถึง 2 ปีนะ ถึงเอามาประกาศใช้ได้ วันนี้เรามีพันธุ์ข้าวนุ่มแล้วนะ เราไปสั่งเองว่าให้คิดพันธุ์ข้าวมาสู้เวียดนาม เพราะคนทั่วโลกตอนนี้เขาชอบกินข้าวนุ่ม ของเราข้าวแข็ง ข้าวอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งราคามันสูง เรามันดัมป์ราคาไม่ไหว เวียดนามดัมป์พรึบๆ ลงไปเลย ดัมป์ต่ำมาก แต่ชีวิตเขาไม่เหมือนเรา ของเรา ชาวนา คนกรุงเทพฯ วันนี้มันเหมือนกันหมดแล้ว ต้องการความสบาย ต้องการอะไรมากๆ เพิ่มเติม แต่ทีนี้เรายังไม่เข้มแข็งพอ รัฐบาลก็ต้องอุดหนุนช่วยกันตรงนี้

 

กองบรรณาธิการ: แล้วเรื่องการท่องเที่ยวจะเดินหน้าอย่างไร

 

นายกฯ: เรื่องของการจ้างงานการท่องเที่ยว ถ้าสมมติเราจับคู่กับเมืองกับประเทศ แล้วส่งคนมาทดลองเที่ยวก่อนได้ไหม เขาเรียกว่าทำ Sandbox วันนี้ผมทำที่ระยอง ให้มีการแข่งขัน ให้ดูกีฬา นั่งห่างกันได้ไหม Social Distancing มันต้องปล่อยอย่างนี้ ปล่อยหมดไม่ได้ เพราะพอปล่อยให้คนเยอะๆ เดี๋ยวก็ตรวจบ้างไม่ตรวจบ้าง เว็บไทยชนะยังบังคับไม่ได้เลย หลายคนก็กลัว หลายคนก็ปล่อยให้เข้าไปๆ คนไทย ต้องแก้ตรงนี้

 

กองบรรณาธิการ: Sandbox กับ Travel Bubble จะเกิดเมื่อไร

 

นายกฯ: ผมสั่งไปแล้ว คราวนี้ปัญหาอยู่ที่เขาจะมาไหม เพราะสายการบินยังไม่บิน ตอนนี้ก็กลัวธุรกิจการบินจะเจ๊งไปอีกใช่ไหม มันจะซ้ำเติมที่เราแก้ปัญหากันอยู่ คราวนี้นอกจากท่องเที่ยว เรายังมีท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ท่องเที่ยวพักฟื้น รักษาพยาบาล พวกนี้ท่องเที่ยวบ้านเราเป็นปีละล้านคนนะ แต่ตอนนี้เราไม่ให้เขาเข้ามาเลย คือคนก็กลัว ผมไม่ได้ให้คนเป็นโควิด-19 เข้ามา แต่เป็นคนที่รักษาพยาบาลปกติ พวกนี้กลุ่มประเทศมุสลิมเยอะนะ รายได้เต็มไปหมด แต่พวกเขาต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน หรือ มารักษาโรงพยาบาลที่ลงทะเบียน แล้วกลับเลย ไม่ออกมาเที่ยว เพราะถ้าเที่ยวต้อง 14 วัน ก็คิดว่าน่าจะได้กลับมานะ 

 

หลายประเทศเสนอมาแล้ว เขาอยากเข้ามา มันต้องเป็นเที่ยวบินเฉพาะ พวกนี้หลายประเทศบอกว่าประเทศไทยน่าสนใจ ตอนเกษียณน่ามาอยู่ 

 

กองบรรณาธิการ: ตอนนี้มีประเทศไหนบ้างที่สนใจ

 

นายกฯ: จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมแล้วประมาณ 7 ประเทศ แต่มันก็ต้องดูสถิติด้วย อย่างต่างประเทศเขามาแล้วกัก 14 วัน เขาจะมาเที่ยวไหม มันก็ต้องหาวิธีการ คราวนี้วิธีการคนไทยรับได้ไหม 

 

เราเชื่อในจิตของเรา เราเข้ามาเพราะอะไร เราเตือนตัวเองตลอด เราต้องไม่มีผลประโยชน์นะ

 

 

กองบรรณาธิการ: การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดเป็นอย่างไร ปรับเพื่ออะไร

 

นายกฯ: เรื่อง ครม. มันอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีเราปรับอะไรไปเยอะนะ เรื่องของการทำงาน สมัยก่อนไม่ค่อยมีปัญหาเพราะ ครม. เราเลือกมา คราวนี้ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารมันเยอะ ปรับแก้กันไปพอสมควร ต้องไปปรับข้าราชการอีก มันต้องคิดใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เราดึกดำบรรพ์นะ ศึกษามานะ บริหารกองทัพมา แต่นี่มันไม่เหมือนหรอก นี่ 20 กว่ากระทรวง กรมอีก 200 ต้องดูหมด ไม่ใช่เป็นนายกฯ ลอยๆ ไปมาสบาย ไม่ต้องคิดอะไร ใครเสนออะไรมาก็เซ็นส่งเดช ไม่ใช่ เราทำงานตลอดนะ

 

เราเชื่อในจิตของเรา เราเข้ามาเพราะอะไร เราเตือนตัวเองตลอด เราต้องไม่มีผลประโยชน์นะ แน่นอนการไม่ทุจริตไม่มีใครพูดได้ 100% หรอก จนกว่าคนไทยทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกตัวเองให้ได้ เพราะฉะนั้นพวกเราต้องช่วยกันเยอะๆ

 

ถามว่าคนอยากมาอยู่กับนายกฯ ไหม ไม่ใช่กลัวนายกฯ ไม่ใช่ไม่ชอบนายกฯ ชอบ แต่ขออยู่ข้างหลังได้ไหม ข้างหลังฉันเป็นพวงเลย

 

กองบรรณาธิการ: หนักใจไหม ปรับ ครม. รอบนี้ ดูเหมือนจะเล่นการเมืองกันหนัก

 

นายกฯ: มันก็หนักใจช่วงแรกๆ เพราะต้องมองสองอย่าง สมัยก่อนไม่ต้องมองการเมือง ตอนนี้เป็นเรื่องของพรรค เรื่องของการเมือง ประชาธิปไตย อะไรของเขา เราก็คัดแยกไม่ได้ แต่อะไรที่เราคัดกรองได้เราก็คัด บางคนเรารับไม่ได้เราก็บอก นี่เปลี่ยนมาใหม่ แต่จะบอกไม่เอาเลยก็ไม่ได้

 

กองบรรณาธิการ: ตอนนี้ชัดเจนแล้วใช่ไหม

 

นายกฯ: ชัดเจนแล้ว ก็ตอนนี้ให้เขาตรวจคุณสมบัติ แล้วก็เรื่องของทรัพย์สิน ต้องให้เรียบร้อย เดี๋ยววันหน้าถูกสอย แต่ถามนะ ถามว่าคนอยากมาอยู่กับนายกฯ ไหม ไม่ใช่กลัวนายกฯ ไม่ใช่ไม่ชอบนายกฯ ชอบ แต่ขออยู่ข้างหลังได้ไหม ข้างหลังฉันเป็นพวงเลย

 

กองบรรณาธิการ: ปรับ ครม. รอบนี้ ระหว่างนโยบายเศรษฐกิจ กับ ทีมเศรษฐกิจ อันไหนมาก่อน

 

นายกฯ: นโยบายเศรษฐกิจ ผมเตรียมของผมไว้ ผมต้องดูแลที่พูดไว้ทั้งหมด แต่ละทีมต้องเข้ามาคิดวิธีการให้ผม เพราะฉะนั้นผมคือนโยบาย ผมคือคำสั่ง ให้เขาไปทำ แต่ผมไม่ได้ไปสั่งว่า อย่างนี้เลยๆ ผมสั่งอย่างนั้นไม่ได้ ต้องฟังทุกภาคส่วน ดูนโยบาย ดูข้อกฎหมาย ดูทั้งหมด แล้วถ้าต้องการ 100% มันได้กี่เปอร์เซ็นต์ตอนนี้ เพราะมันต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบ เพราะที่ผ่านมา 5 ปี เราแก้ไปได้ 700-800 ฉบับนะ แต่เราต้องแก้กฎหมาย 3,000 กว่าฉบับ นี่เข้ามา 30-40 ฉบับยังไม่ได้เลย มันติดสภาฯ แล้วกฎหมายเดี๋ยวนี้มันมีเป็นกฎหมายใหม่ กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ เราต้องแก้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ติดไปหมด อนุมัติ อนุญาต ขั้นตอนเยอะแยะไปหมด เพราะไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน เราจะไว้ใจกันได้ไหมล่ะ ดูตรงกรอบใหญ่เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย แล้วมีกติกาที่จะตรวจสอบย้อนหลังได้ มันต้องคิดแบบนี้ไหม ก็กำลังทำเรื่องนี้อยู่

 

นโยบายเศรษฐกิจ ผมเตรียมของผมไว้ ผมต้องดูแลที่พูดไว้ทั้งหมด แต่ละทีมต้องเข้ามาคิดวิธีการให้ผม เพราะฉะนั้นผมคือนโยบาย ผมคือคำสั่ง

 

กองบรรณาธิการ: ทีมเศรษฐกิจเลือกด้วยหลักเกณฑ์ไหน

 

นายกฯ: ถ้ามองว่านักเศรษฐศาสตร์ก็ได้หมดล่ะ แต่ต้องมองว่าเป็นนักเศรษฐกิจด้วยไหม เอาคนที่รู้เรื่องเศรษฐกิจไหม เศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ต่างชาติเขาก็ทำกันแบบนี้ รัฐบาลก็ทำเหมือนต่างชาติทุกอย่าง แต่เงินน้อย

 

เพราะฉะนั้นต้องมองว่านโยบายของฉันมาจากพวกเธอทั้งหมด แต่มาดูสิ จะทำได้ไหม คนอาจคิดว่านายกฯ เป็นทหาร จะรู้เรื่องไหม เรื่องเศรษฐกิจ แต่อยู่มา 5 ปี มันพอรู้นะ แต่นายกฯ ไม่ได้ทำคนเดียว ทีมรัฐมนตรีเขากลั่นกรองให้ได้หมด รู้กฎหมายทั้งนั้น บางทีเราติดกฎหมายตรงนี้ก็เสนอมาต้องแก้กฎหมายตรงไหน ที่ปรึกษาอยู่ข้างหลังเป็นร้อยคน ประชุมทุกวัน เรารับมาหมด ส่งมา อันไหนเรารับไม่ได้ก็เอาออกไป ก็ทำงานกับแบบนี้

 

กองบรรณาธิการ: ชื่อที่เป็นโผตามหน้าสื่อตรงหรือยัง

 

นายกฯ: (หัวเราะ) ไม่นานหรอก

 

กองบรรณาธิการ: นโยบายเศรษฐกิจจะออกมาเร็วแค่ไหนหลังมี ครม. ใหม่

 

นายกฯ: นโยบายอยู่ในหัวเราตลอดตั้งแต่ปรับแล้ว เราก็เก็บว่าอะไรที่ผ่านมา มีอะไรบ้างรัฐบาลนี้ รัฐบาลที่แล้วทำไป มีอะไรยังไม่ทำ ยังทำไม่สำเร็จ ติดตรงไหน ให้ไปดูมา นักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีเขาก็ต้องร่วมมือกับเรา วันนี้ก็มาจากหลายพรรค ผมคิดว่าเขาก็ร่วมมือกับผมดีพอสมควรนะ เขาก็ไม่ขัด อย่างอันนี้ผมบอกเลย ขอนะ อย่าเพิ่งทำ ไปทำให้มันครบกว่านี้ก่อน เพราะว่าเสนอเข้ามา วันนี้กรองหมด คำถาม ข้อสังเกต ต้องคัดแยกก่อนเข้า ครม. ทั้งหมด บางทีเขาก็น้อยอกน้อยใจเหมือนกัน อย่างนี้ไม่ได้ ขอๆ ช่วงนี้ช่วงปรับเปลี่ยน เพราะอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 6 ไง ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง ระเบียบ กฎหมาย ราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม แต่เจอคดีบอสเข้ามาก่อน (หัวเราะ)

 

 

กองบรรณาธิการ: ความชัดเจนคดีบอสเอาอย่างไรต่อ

 

นายกฯ: เดี๋ยวให้คณะกรรมการเขาสรุป อยากจะบอกว่านายกฯ ไม่มีอำนาจไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม แต่นายกฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ นายกฯ ไปสั่งใครไม่ได้ แต่นายกฯ รับผิดชอบในการสร้างกระบวนการหาข้อเท็จจริงให้สังคมทราบได้ แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปหาวิธีการแก้ปัญหามา เพราะหลักฐาน พยาน ก็ต้องดูว่าถูกต้องไหม อย่างที่คณะกรรมการเขาประสานขอให้เก็บศพพยานคนนั้นไว้ก่อนได้ไหม เราก็สั่งเพราะเราสั่งตำรวจได้ แต่เราสั่งศาลได้ไหม สั่งอัยการได้ไหม ไม่ได้เลย สั่งไปเดี๋ยวเขาผิดขึ้นมาเดี๋ยวก็อ้างเราอีก เขาต้องรับผิดชอบของเขาแต่ละคน 

 

เรื่องบอสคิดว่าก็คงเร็วๆ นี้ เพราะเห็นอัยการเดี๋ยวก็จะแถลง ถ้าแถลงไปแถลงมาแล้วถ้าเกิดไม่มีใครรับผิดชอบเดี๋ยวนายกฯ ก็โดนอีก คือเราไม่ได้บอกว่าต้องรับผิดชอบนะ แต่ว่าวิธีแก้ปัญหาจะต้องไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีกได้อย่างไร เพราะถ้ามองว่าคดี ไม่คิดเรื่องบอสนะ รถชนตายทุกวัน แต่คดีนี้มันทำให้กระบวนการมันเสียหาย ต้องไปหาว่าอยู่ตรงไหน ตำรวจไหม หรืออัยการ หรือศาล ตอนนี้โทษกันไปโทษกันมา

 

นายกฯ อยู่ตรงกลาง บางคนบอก สั่งสิๆ ผมไปสั่งได้ที่ไหน องค์กรอิสระนะ เราสั่งเขาไม่ได้ เดี๋ยวติดคุก เราต้องระวังตัว เราเข้ามาแบบนี้เราเข้ามาเราต้องระวังตัวเอง

 

อำนาจมาพร้อมความรับผิดชอบ และมาพร้อมผลประโยชน์ ซึ่งฉันไม่มี ฉันไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีจริงๆ ทุกเรื่องทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติทั้งสิ้น 

 

เรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า ผมพร้อมทำให้ หลายอันซักถามได้เลย

 

 

อำนาจมาพร้อมความรับผิดชอบ และมาพร้อมผลประโยชน์ ซึ่งฉันไม่มี ฉันไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีจริงๆ ทุกเรื่องทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติทั้งสิ้น 

 

กองบรรณาธิการ: เวลานี้มีการชุมนุมเกิดขึ้นเยอะมาก มีข้อเรียกร้องจากนักศึกษาด้วย นายกฯ มองเรื่องนี้อย่างไร

 

นายกฯ: เรื่องม็อบก็อย่างที่ว่า เราก็ต้องปรับตัวเองเหมือนกัน เราอาจดุเดือดไปบ้าง โมโหบ้าง ถ้าเธอเป็นฉันนะ ถ้ามีสื่อสัก 10 คนถาม แล้วเธอถามคนแรก ฉันตอบไปยาวเหยียดแล้ว คนที่สองถามอีกเรื่อง คนที่สี่ถามกลับไปถามในเรื่องที่ตอบแล้ว ฟังกันสิฟัง ไม่ใช่ทุกคนตั้งเป้าถามเพราะกลัวไม่มีผลงาน ถ้าเขาถามแล้ว คุณก็ถามเรื่องอื่น อย่างนี้จะลดแรงกดดัน 

 

ตอนนี้ใช้วิธีพูดน้อยลง เราเป็นคนชอบอธิบาย แล้วอธิบายบางทีคนฟังน้อย เราคิดเร็ว เราพูดเร็ว แล้วเราอยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่าเราทำงานอย่างไร ระบบอย่างนี้เป็นอย่างไร บางทีบางคนก็บอกทางนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง เราก็ท้อแท้บางที แต่ไม่เป็นไรกลับไปบ้านไปฟิตใหม่

 

กองบรรณาธิการ: กังวลไหมกับการที่คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว

 

นายกฯ: ไม่ ไม่กังวล

 

กองบรรณาธิการ: ติดตามอยู่ใช่ไหม

 

นายกฯ: ติดตามสิ ทำไมจะไม่ติดตามล่ะ แต่ไม่ใช่ตามแบบไปเล่นงานเขา ไม่ใช่ ไปดูสิว่าทำอย่างไรเขาจะเข้าใจ ทำอย่างไรเขาจะไม่ไปละเมิดคนอื่น สิทธิคนอื่นเขามีนะ สิทธิเสรีภาพมันมีทุกคน แต่มาพร้อมหน้าที่ ตามมาด้วยคำว่ากฎหมาย แล้วคิดว่าเหมาะสมหรือไปก้าวล่วงอะไร เหมาะสมหรือ มันไม่ควร

 

กองบรรรณาธิการ: กับ 3 ข้อเรียกร้องของนักศึกษา วันนี้มีคำตอบได้ไหมว่าจะแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องอย่างไร

 

นายกฯ: ตอบมาสิ เขาต้องการอะไร หนึ่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ สอง ยุบสภา สาม หยุดคุกคาม คุกคามตรงไหนไม่เคยเลย 5 ปี อำนาจเต็มไม่ใช้เลย ตอน คสช. เอามาตรา 44 มาแก้หนี้ ให้พวกท่านทำงานได้ วันนี้ไม่มีมาตรา 44 ก็ง่อยแล้ว แก้ไม่ได้ ถ้าตราบใดกฎหมายยังไม่ได้แก้ กระบวนการอยู่ที่สภา 

 

 

กองบรรณาธิการ: เริ่มที่ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 

 

นายกฯ: แก้รัฐธรรมนูญมันมีวิธีการอยู่แล้ว คณะกรรมาธิการก็ไปคุยไปหารือฟังน้องๆ ว่าจะแก้ตรงไหน มันมีวิธีการอย่างไร อย่างมีการเสนอตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เลย แก้ทั้งฉบับ ทีนี้แก้ทั้งฉบับมันจำเป็นไหม แก้บางส่วนได้ไหม ก็ไปหารือดูอีกที ขั้นตอนมีของมันอยู่

 

บางคนเขาบอกตั้ง ส.ส.ร. ไปเลย ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลยแล้วประกาศใช้ใน 3 เดือน ที่ไหนเขาทำกันล่ะ ใจร้อนไปหรือเปล่า

 

กองบรรณาธิการ: เวลานี้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เขาเริ่มขยับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แล้ว ครม. เอาอย่างไร

 

นายกฯ: ก็ว่าไป ไปหาผลสรุปมาสิ ผมไม่ได้ขัดข้องอะไร แล้วถ้ามีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์นะ ผมมองประโยชน์ประชาชนเป็นอันดับแรกว่าได้อะไรจากตรงนี้ ผมรับฟัง แต่ขั้นตอนต้องเป็นขั้นตอนของมัน การหารือ ทุกมติมันต้องผ่าน ส.ส. ส.ว. หมด แล้วมันผ่านหรือเปล่าล่ะ ผมไปห้ามเขาไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าผ่านก็ผ่าน แก้มา แต่จะแก้อย่างไร อย่าให้เดือดร้อนแล้วกัน

 

กองบรรณาธิการ: แต่ประชาชนก็มองว่าถ้านายกฯ ขยับ ส.ว. ก็จะขยับ

 

นายกฯ: ทำไมล่ะ ผมไปอะไรกับเขาล่ะ นี่ผมแทบไม่ได้คุยอะไรกับเขา (ส.ว.) เลย เพราะผมถือว่าผมไม่ก้าวล่วงเขาไง ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ตั้งมาแล้ว ผมไม่ไปก้าวล่วงแน่นอน ผมไม่ไปสั่งอะไรเขา ยิ่งทำไม่ได้ จะสั่งให้เขามาช่วยผมหรือ แล้วเขาไม่กลัวตายหรือ ถ้าผมทำผิดจริงๆ เขาจะช่วยผมได้หรือ 

 

ถ้ามองอย่างนี้เรียกว่าความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ก็ฝากดูต่อไปว่าตราบใดที่เราอยู่นะ ว่าเราทำอะไรเสียหายแค่ไหนอย่างไร แล้วจะด้วยอะไร ไม่รู้ล่ะ เราว่าเป็นชะตากรรมนะที่มาวันนี้ด้วย จุกๆ ด้วย

 

กองบรรณาธิการ: ข้อเสนอให้ยุบสภา

 

นายกฯ: ทำไมต้องยุบตอนนี้ ยุบสภาแล้วคิดว่าจะได้ใครมา คนรุ่นใหม่? เดี๋ยวก็ไปดูการเลือกตั้งสิ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิด ดูสิจะเกิดอะไร

 

กองบรรณาธิการ: การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีปีนี้ไหม

 

นายกฯ: ก็มีปีนี้อันหนึ่ง อะไรที่มีความพร้อม พื้นที่ แบ่งเขต ความพร้อมของกฎหมาย เช็กรายชื่อ ความพร้อมของ กกต. ปีนี้ก็จะเกิด แล้วปีต่อไปก็ไล่ต่อ ไม่ใช่แบบจะไม่ให้เลือก

 

กองบรรณาธิการ: อยากจะมีเวทีรับฟังคนรุ่นใหม่ไหม

 

นายกฯ: ก็คิดอยู่ คือถ้าจะมาไล่กันให้หงายท้องนี่ก็ไม่ไหวนะ รับฟังไม่ไหว คราวนี้เวลาการพูดคุยเวลาเปิดไปข้างนอกมันไปกันใหญ่ ต้องมาคุยกันก่อนแล้วว่ากันอีกที บางอย่างต้องหารือกันภายในก่อน รับฟังทุกคน

 

กองบรรณาธิการ: อย่างข้อเรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน มันก็มีภาพที่เจ้าหน้าที่เข้าไปคุยกับเยาวชนที่ออกมาชุมนุม ที่เขารู้สึกว่าเป็นการถูกคุกคาม นายกฯ จะจัดการปัญหานี้อย่างไร

 

นายกฯ: เรื่องคุกคาม คือที่เขาไปคุยคือคุยว่าอย่าทำแบบนี้อีกได้ไหม คือเขาไปคุยกี่ร้อยราย ไปที่บ้าน ก็บอกเขาว่าอย่าไปเยอะ ไปทีตั้ง 5-6 คน เขาก็กลัวสิ คือถ้าไม่อย่างนั้นเด็กถูกดำเนินคดีเลยนะเพราะมันผิดเลย ผิดอยู่แล้ว ไปเตือนสิ ไปคุยกับเขา คนเดียว สองคน ใช้ฝ่ายความมั่นคงเตือนหลายรอบแล้ว แต่บางทีก็แห่กันไป 

 

ตำรวจผมปลดทุกเดือนนะ ลงโทษไปไม่รู้เท่าไร แต่มันไม่ออกสื่อ คนเลยไม่รู้ทำอะไรกันบ้าง การปฏิรูปตำรวจทำเยอะแยะนะ

 

กองบรรณาธิการ: ถ้ามีการรับฟังเกิดขึ้นจะเป็นแบบไหน

 

นายกฯ: ต้องหาวิธีที่เหมาะสม แล้วถ้าแพร่ไปมันมีคนไม่เห็นด้วย เพราะมันมีซ้ายกับขวานะ แล้วฟังทางนี้มากๆ อีกทางก็คนไทย มันมีสองฝ่ายเสมอ ถ้าเราต้องไปชนทีเดียว ไม่ไหว

 

 

กองบรรณาธิการ: ภาพลักษณ์นายกฯ ดูดุดันเป็นเพราะอะไร 

 

นายกฯ: ไปดูในทีวีสิ ทีวีไม่มีใครเอารูปหล่อๆ ฉันออก เอารูปฉันหน้าบูดหน้าเบี้ยวไปออก เมืองนอกไม่มีนะ นายกฯ เจอสื่อตรงๆ แบบนี้ เขาให้โฆษกฯ มีที่ปรึกษาสื่อเต็มไปหมด เขาไม่พูดเอง แต่ฉันน่ะพูดเอง เพราะอยากให้รู้ แต่โดนด่ามาอีก เราเป็นคนใจดี จริงๆ แล้วนะ บางทีหน้ามันนิ่งไปหน่อยเพราะอยู่กับทหาร ไม่อย่างนั้นจะปกครองคนพวกนี้ 3-4 แสนคนได้หรือ บางทีแกล้งโมโหบ้าง วันจันทร์ มันหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ มาใช่ไหม วันจันทร์โมโหมันสักที แกล้งโมโหไปงั้นแหละ

 

(การชุมนุม) เราห่วงต่างประเทศมันเอาไปตี ไปตีเสถียรภาพรัฐบาลหาย เขาจะมาลงทุนบ้านเราเต็มไปหมดนะ อย่าง EEC งบลงทุน 5 แสนล้านบาทนะ แล้วลงทุนไป 2 แสนกว่าล้าน พวกนี้พอเจอข่าวบอสเข้าไป เขาก็คิดว่าเราจะโดนเบี้ยวโดนอะไรไหม นี่สำคัญนะ แล้วรัฐบาลจะอยู่ได้ไม่ได้ จะยุบสภา จะลาออก มันไม่ได้นะ แค่เปลี่ยนสมคิดยังมีปัญหาเลย ต้องทำต่อตรงนี้ให้ได้

 

เราต้องบาลานซ์ทั้งในและต่างประเทศให้ได้ ต่างประเทศจะมาเขาก็รู้สึกว่าเราไม่มีเสถียรภาพเขาก็ไม่มั่นใจ ต่อจากนี้ระบบประชาธิปไตยมันจะเกิดปัญหา จากนี้ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ จากนี้กระบวนการตัดสินใจ บริหารต่างๆ จะทำได้ยากขึ้น กระบวนยุติธรรมทำได้ยากขึ้น เพราะคนลงความเห็นได้ว่าผิด ไม่ตรง โดนหมด เพราะฉะนั้นพยานหลักฐานทำให้ดี อย่าไปนอกกรอบ แล้ววันนี้ท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชนที่ชาวบ้านตั้งมา เราเป็นคนเพิ่มเอง สตาร์ทอัพ วิจัยพัฒนา เราต้องเพิ่มสินค้าที่มีมูลค่า ไม่ใช่พึ่งแต่อิเล็กทรอนิกส์

 

เราประกอบรถยนต์เก่ง ไม่เรียนรู้อะไรต่อไป ผมบอกเอามาดัดแปลงสิ สมัยก่อน ญี่ปุ่น ลอกเลียนทั้งหมด ผมว่าคนไทยเก่ง เราต้องหาช่องทางให้เขาเข้ามาให้ได้ รัฐบาลมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ใช่รัฐบาลเป็นคนประกอบการทำธุรกิจ รัฐบาลยังคุมรัฐวิสาหกิจไม่ได้เลยเพราะมีกฎหมายของเขาอยู่ เราต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ให้ข้อมูล ตามกฎหมายมีทุกตัว 

 

รัฐบาลต้องสื่อความหมายให้ตรงกัน ผมยอมรับวันนี้รัฐบาลยังบกพร่องตรงนี้อยู่ เรื่องการสื่อความหมาย อย่างที่บอก ผมอ่านที่เราเขียนเข้าใจความหมายต้องการอะไร ยกตัวอย่างให้ดู หนังสือราชการตัวเท่ามด ใครจะอ่าน ต้องเท้าความปลัดกระทรวงนั่นนี่ อย่างนี้เขาไม่เรียกอินโฟ

 

 

ต่อจากนี้ระบบประชาธิปไตยมันจะเกิดปัญหา จากนี้ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ จากนี้กระบวนการตัดสินใจ บริหารต่างๆ จะทำได้ยากขึ้น กระบวนยุติธรรมทำได้ยากขึ้น เพราะคนลงความเห็นได้ว่าผิด ไม่ตรง โดนหมด

 

กองบรรณาธิการ: ช่วงนี้กังวลเรื่องอะไรเยอะสุด

 

นายกฯ: เรื่องเศรษฐกิจ ทุกคนลำบากหมด อย่างเรื่องแจก 5,000 บาท เราใช้เงินหลายแสนล้านนะ หมดไปเลยนะ แต่ไม่ให้ก็ไม่ได้ เพราะกู้เงินกู้ตามหลักการสามข้อ สาธารณสุข ฟื้นฟู เยียวยา แล้วเราเสนอโครงการอย่างที่เราคิดไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องของงบประมาณรายปีมาทำอะไรที่เป็นการลงทุน พอไปทำตรงนี้เอาตรงนี้มาใช้เขาบอกว่าซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติ และโครงการจะบอกว่าโครงการเก่าโครงการใหม่ไม่ได้ เพราะบางโครงการไม่ได้ทำเลย ไม่ผ่านมาตลอด หนึ่งเพราะทำไม่ได้ สำนักงบประมาณไม่เห็นชอบ ติดปัญหาพวกนี้ๆ มันก็ต้องเสนอต่อไปจนกว่ามันจะได้

 

ผมก็บอกว่าปรับใหม่สิ เอาโครงการที่ทำได้มาก่อน โครงการเล็กมาก่อน โครงการใหญ่ซอยเป็นโครงการเล็ก ตอนนี้ทำตรงนี้อยู่ เขากรองมาอยู่ ให้มันเกิดขึ้น ถนนเส้นเล็กๆ ไปตรงนี้ให้ได้ก่อน ถ้าจะเอาแบบที่ล่อเข้าไป 6 เลนยาวตลอดก็ทำไม่ได้ หลายคนบอกต้องการถนนไปใต้เส้นใหม่ ผมบอกนี่นโยบายผมต้องเกิดคือถนนไปสายใต้เส้นใหม่ ผมถามต้องผ่านใครบ้างเนี่ย ประชาชนเท่าไร เขาจะยอมผมหรือเปล่าผมยังไม่รู้เลย 

 

วันนั้นผมพูดในสภาฯ ผมต้องทำโครงสร้างตรงนี้ใหม่ แต่ไม่ใช่แบบที่เขาด่าผมนะ ผมอยากเห็นการเชื่อมโยงแบบนี้ แต่คุณจะเลี้ยวอย่างไรเรื่องของคุณสิ เหมือนตะวันตกตะวันออก อเมริกาทำตั้งแต่เริ่มประเทศแล้ว เราก็ต้องทำ อันไหนถนนหลัก อันไหนถนน Feeder เหมือนรถไฟฟ้า อันไหนรถไฟฟ้าหลัก อันไหนรถไฟฟ้าต่อ ก็ทำไปทั้งหมด เขาก็เสนอมา

 

ก็มีคนตั้งคำถามจะทำได้เหรอ ยุทธศาสตร์มันเดิน 20 ปี ดังนั้น 5 ปีนี้อาจทำตรงนี้ได้ แล้ว 5 ปีต่อไปทำตรงนี้ได้ มันก็จะยาวเหยียดเลย จบสุดท้ายจะมีอย่างนี้นะ นี่คือเป้าหมาย 15 ปี 5 ปี 1 ปี มันต้องทำให้สำเร็จตรงนี้ นั่นแหละคือการทำงานเป็นระบบนะ

 

กองบรรณาธิการ: ถ้าเหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป ยุทธศาสตร์ชาติปรับได้ไหม

 

นายกฯ: ได้สิ ยุทธศาสตร์ชาติปรับทุก 5 ปี ปรับได้ถ้ามีเหตุ เขาเขียนเป็นหลักการเฉยๆ มันเปลี่ยนได้สิ แผนแม่บท แผนอะไรต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนหมด มันมีแผนระดับหนึ่ง ระดับสอง ระดับสาม

 

กองบรรณาธิการ: ถ้ามีรัฐบาลใหม่เข้ามา ไม่ทำนี่ผิดไหม

 

นายกฯ: ผิดสิ เพราะมันก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีกฎหมายเขาไม่ทำหรอก ก็ทำแบบ ไม่โทษใครนะ มันเป็นอย่างนี้ความต้องการของคนเยอะ เขาก็แบ่งปันไปทางนี้ไปทางโน้น บางพื้นที่ก็ลงมากเกินไป บางพื้นที่ยังไม่มีเลย มันเป็นเรื่องของประชาธิปไตยนะ

 

 

กองบรรณาธิการ: บริหารบ้านเมือง กับบริหารการเมืองอันไหนยากกว่ากัน

 

นายกฯ: ยากพอกัน บริหารให้มันสำเร็จ มีประสิทธิภาพก็ยาก บริหารการเมืองให้สงบเรียบร้อยก็ยาก มันต้องซื้อใจกัน คำว่าซื้อใจไม่ใช่ให้ผลประโยชน์นะ ต้องพูดว่าช่วยอย่างนี้กับเรานะ

 

ตอนนี้เราต้องปฏิรูปนะ ต้องเปลี่ยนผ่านนะ คุณเคยทำอะไรกับเรามา เราจำไม่ได้แล้วล่ะ เนี่ยเราให้โอกาสคุณเข้ามานะ วันหน้าคุณจะเป็นอะไรก็ได้ ผมถามหน่อยเถอะวันหน้าทุกคนเป็นนายกฯ เป็นได้ไหม ไม่เป็นสักคน เพราะปัญหามันเยอะไง เราก็บอกเดี๋ยวเราจะทำให้สำเร็จเรียบร้อย คุณก็ทำก็พิสูจน์ฝีมือ วันหน้าคุณเป็นอะไรก็ได้ไม่ใช่หรือ ถ้าประชาชนจำหน้าเธอได้ แล้วเธอจะทำอย่างนี้อีกหรือเปล่าก็อยู่ที่เขาแล้วล่ะ

 

กองบรรณาธิการ: นายกฯ ใช้โซเชียลมีเดียเยอะไหม ได้ติดตามความเคลื่อนไหวผ่านช่องทางเหล่านี้ไหม

 

นายกฯ: ผมติดตามนะ ผมอ่านเฟซบุ๊กนะ อ่านแล้วเก็บมา มีทีมที่รายงานมาอยู่แล้ว ว่านายกฯ อย่างนี้ๆ จะต้องปรับอะไรบ้าง ทำแบบนี้นะ แต่เราไปด่าเขาไม่ได้ เขาก็รู้สิว่าเป็นฉันสิ วันนี้แค่ทีมลุงตู่มาจากไหนยังไม่รู้เลย ไปตามมาสิมาจากไหน

 

กองบรรณาธิการ: ได้เปิดดูทุกแพลตฟอร์มไหม

 

นายกฯ: เปิดหมด บางเรื่องก็ต้องขอความร่วมมือ อย่าง YouTube บางเรื่องก็ต้องขอเขา บางเรื่องไม่ควรให้ออกมา คือมันต้องดูว่าแต่ละประเทศเขามีอะไรที่อ่อนไหว ปล่อยหมดอย่างนี้ก็ตายทั้งประเทศ ทั้งโลก ทุกประเทศบ่นหมดนะ ไปประชุม อเมริกาก็บ่นนะ ไปประชุมประเทศใหญ่ๆ เขาก็เจอปัญหานี้เยอะมาก การมีสิทธิเสรีภาพต้องมาคู่กับหน้าที่และกฎหมายเสมอ

 

กองบรรณาธิการ: เครียดไหมทุกวันนี้ หัวถึงหมอนหลับไหม

 

นายกฯ: ไม่หลับ นอนไม่ค่อยหลับ กลับไปต้องคิดต่อ เราต้องปรับตัวเองเยอะ ไม่อย่างนั้นตาย สมองเสียหมด อย่างวันนี้หัวถึงหมอน เรื่องบอสก็เข้ามาแล้ว มันติดค้างอยู่ อันนี้ยกตัวอย่าง ที่มันติดค้างเข้ามา คนจะสนใจเรื่องใกล้ตัว จะสนใจปัจจุบัน ถ้าเป็นเรื่องอนาคตเขาไม่ฟัง คนคิดเราจะได้อะไรวันนี้

 

คนสมัยเราลำบากนะตอนเด็ก เด็กๆ ก็ไม่มีอะไรอย่างทุกวันนี้หรอก รถไฟฟ้าก็ไม่มี เด็กวันนี้ลูกหลานเราเกิดมามีหมด มีบ้าน มีรถ มีรถไฟฟ้า เขาก็หวังว่าเขาจะได้อะไรอีก รัฐบาลนี้จะทำอะไรให้เขาอีก

 

เราต้องบอกเขาว่าที่ผ่านมาเขาได้อะไรมาแล้วบ้าง แล้วเขาจะได้อะไรต่อไปจากอะไร จากแผนแม่บท จากที่เราทำมาใช่ไหม อย่างเราทำถนนมันก็ต้องต่อถนนไปอย่างนี้  จะได้ตรงนี้มามันก็ต้องไปอย่างนี้ ถ้าทุกคนคิดวันนี้คิดพรุ่งนี้ นายกฯ ทำวันละพันเรื่องมั้ง แล้วทำได้ไหม มันติดกฎหมายทุกตัว ก็ต้องไปแก้กฎหมาย มันมีขั้นตอนของมันหมดในการทำงาน บางทีนอนก็เครียดนะ ตื่นมาเหมือนไม่ได้นอน

 

กองบรรณาธิการ: แล้วผ่อนคลายอย่างไร

 

นายกฯ: อ่านหนังสือ ดูหนังบ้าง ชอบดูหนังสอบสวน อาชญากรรม ซีรีส์สิบกว่าตอน Netflix ดูหมดจนไม่มีอะไรดูแล้ว เลือกดูที่มันน่าสนใจ บางเรื่องก็เป็นประโยชน์ เช่นของต่างประเทศ รัฐบาล อะไรบ้าง ก็ไปเช็กดูมันจริงหรือเปล่า นายกฯ เขาดูสบายๆ ลอยๆ มันดูสบายไม่เห็นเหมือนฉันเลย ฉันทำอะไรที่ผิดประหลาดหรือเปล่า หนังเกาหลีที่เป็นเกาหลีเหนือ ลูกก็ดู ลูกก็แนะนำพ่อ วันก่อนดูเรื่องที่มีครอบครัวเห็นแก่ตัว มีคนจน ชนชั้นปรสิต (Parasite) ลูกเขาบอก

 

กองบรรณาธิการ: มีเวลาออกกำลังกายบ้างไหม

 

นายกฯ: แต่ก่อนออกเยอะนะ เดิน วิ่ง จากนอกบ้าน กลับมาเป็นวิ่งในบ้านจากสายพาน ตอนหลังๆ จากสายพานก็เหลือใส่รองเท้า คิดแล้วคิดอีก จะไปไหนต่อ สรุปแล้วสุดท้ายถอดรองเท้ากลับไปนอน มีวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ได้เดินไปเล่นกอล์ฟบ้างอะไรบ้าง มันเป็นกีฬาคนแก่ จะได้เดิน นั่งรถ เดินลงจากรถ อย่างน้อยได้เจอแดดเหงื่อจะได้ออก เพราะเราทำงานอยู่ห้องแอร์เกือบทั้งวัน 

 

 

กองบรรณาธิการ: การจ้างงานภาคการเกษตร หรือภาคธุรกิจจะฟื้นฟูอย่างไร

 

นายกฯ: เวลาไปต่างประเทศเราก็นึกถึงต่างจังหวัดเรา ถ้าเรามองให้ครบทุกแง่มุมเราต้องมองคนทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งต่างจังหวัด มองมาข้างล่างแทบไม่มีอะไรเลยนะ น้ำไม่ค่อยไม่มี คนแก่ก็อยู่บ้าน ถามว่าเกษตรถ้าเราให้ทำแล้วน้ำไม่มีจะทำอย่างไร วันหน้าเกษตรเราจะหายหมดนะ ต้องส่งเสริมเกษตรกรยุคใหม่ Smart Farmer ก็ต้องหาเครื่องมือให้เขาอีก หลายคนบอกขอรถแทรกเตอร์คนละคัน ผมถามว่าเอาไปแล้วมันจะซ่อมไหม ถ้ามันเสีย แล้ววันนี้เราทำเกษตรแปลงใหญ่ เอามารวมกัน อันนี้พอจัดหาให้ได้

 

แต่เราทำเกษตรแปลงย่อย เกษตรเรามีที่คนละเท่าไร 3 ไร่ 5 ไร่ ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีรวยหรอก บางทีก็เช่าเขา แล้วสัญญาไร่ละ 200 เป็นเท่าไร เขาขู่เซ็นสัญญา 200 เพราะอย่างนี้ต้องสร้างคน ทุกอย่างมันผลประโยชน์เยอะแล้วเปลี่ยนไม่ได้ วันนี้มันถึงบอกไทยสร้างชาติ ใช่ไหมที่เราว่า เราถึงไปหาเศรษฐีมาร่วมมือ อย่างตอนนี้อะไรที่เขาขายไม่ออก หรืออาหารกล่องแจกหมด แจกลูกน้องกินแล้วเปิดออนไลน์ให้ลูกน้อง ถามว่าแล้ววันหน้าลูกน้องจะกลับมาไหม เขาบอกกลับมาครับๆ แต่วันหน้าก็ขายออนไลน์อยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ เพื่อให้กระจายสินค้า

 

แล้ววันนี้การจ้างงานก็เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ให้ได้ นักศึกษาตกงานทุกปี เราถือว่าตกงานน้อยนะ แต่เราต้องสร้างงานใหม่ให้เขา งานเดิมมันล้นแล้ว พอแล้ว เพราะงานใหม่ ธุรกิจใหม่ สตาร์ทอัพ SMEs มันใช้ลูกจ้างน้อยเพราะมันทันสมัย ใช้หุ่นยนต์บ้าง อะไรบ้าง

 

วันหน้าเราจะเจออย่างนี้นะ ขาดแรงงาน อย่างคนสมัยนี้ลูกก็ไม่มี ขาดวัยแรงงาน แล้วทำไง วันนี้เทคโนโลยีเข้ามาเยอะ ก็ลดคนไปอีก เพราะฉะนั้นแรงงานไม่มีฝีมืออยู่ไม่ได้วันหน้า จะรอค่าจ้างรายวันเหรอ มันปรับไม่ได้ทั้งหมดอยู่แล้วเพราะมัน 3 สมาคม เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ต้องไปดูว่าจะจ้างงานรายวันเป็นรายชั่วโมงได้ไหม จะได้เสริมรายได้ให้คนอื่นเขาหน่อย แต่พวกได้ทั้งวันอาจจะรายได้ลดลงไหม

 

กองบรรณาธิการ: รู้สึกอย่างไรเวลาคนด่า คนวิจารณ์นายกฯ 

 

นายกฯ: ธรรมดานะ คนทั้งโลก แต่เราคิดว่าเราเข้ามาเพื่ออะไร เพื่อคนใช่ไหม เพื่อประเทศชาติ ทำเพื่อดูแลข้าราชการด้วย เราก็มีหลักการของเรานะ ถ้าคิดเพื่อตัวเองไม่พ้นเลยมันไปอะไรไม่ได้ ต้องไม่คิดถึงตัวเองก่อน คิดถึงคนอื่นก่อน เช้าจะทำอะไรก็จดไว้ แล้วก็ทำให้เสร็จเรียบร้อย คิดว่าจะทำอะไร ปัญหาคืออะไร ก็จดไว้เป็นร้อยๆ เรื่อง แล้วก็แก้ บางครั้งก็แก้ได้เท่านี้ บางครั้งก็แก้ไม่ได้ บางครั้งก็แก้จบแล้ว

 

การบริหารมันยากเพราะคนมัน 67 ล้านคน หลายคนบอกทำไมไม่เอาไต้หวัน ดูฮ่องกงสิ โจชัว หว่อง แย่แล้วมั้ง เขาสังคมนิยม เราประชาธิปไตย แต่มันต้องอยู่ในกรอบที่พอสมควรนะเราว่า

 

กองบรรณาธิกาาร: กำลังใจการทำงานทุกวันนี้คืออะไร

 

นายกฯ: นี่ไง อย่างนี้ไง นี่คือกำลังใจให้เรา คนรุ่นใหม่เขาฟังเรา เราฟังเขา เขาฟังเรา ไม่มีปัญหาอะไรหรอก แล้วคนรุ่นใหม่กี่คน ในข้าราชการ เราซื่อตรงกับเขา แล้วถ้ามีปัญหาอะไรเราก็ต้องดูแลเขา ถ้าเขาไม่ได้ทำความผิด เขาถูกรังแกเราก็ต้องดูแลเขา แต่ก็ไม่ได้สอนให้เขาไปอะไรกับใครใช่ไหม ไปขัดแย้งไม่ได้หรอก มีวินัยมีหมด

 

คือเรียกว่าทำงานให้มีเสน่ห์ มีเสน่ห์คือไม่ใช่ให้ใครรักนะ คือไม่ให้เขาเกลียด และทำงานได้

 

เราอยู่กับนาย กับผู้บังคับบัญชามาหลายคนก็ดีทุกคน แต่ใครขัดแย้งอะไรเราไม่ไปขัดแย้งด้วย เราทำงานเข้าแลก ใครจะมาใครจะเป็นถ้าเขาเลือกเรา เราทำงานไง เราไม่ได้ไปเข้าข้างใคร 

 

 

กองบรรณาธิการ: กับ พล.อ. ประวิตร ที่ดูเหมือนเป็นสายล่อฟ้า

 

นายกฯ: อย่างพี่ป้อมก็อยู่กับเขามาทั้งชีวิต แล้วเขาเป็นคนสอนเรา แล้วเราก็เชื่อว่าเขาไม่ได้ทุจริต อันนี้เพียงแต่ว่าคนเยอะไง อ้างเขาหรือเปล่าไม่รู้ แล้วอ้างมาก็เชื่อ สงสารแกเหมือนกัน อายุเยอะแล้วนะ

 

กองบรรณาธิการ: ปรับ ครม. รอบนี้ พล.อ. ประวิตร ได้คุมตำรวจไหม

 

นายกฯ: อะไรไปแล้วไปเลยนะ เข้าใจหรือเปล่า มันจำเป็นไง เราไม่ปล่อย ปล่อยไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ไว้ใจเขานะ แต่ว่าแบ่งเบาภาระเขาหน่อย แกก็ไม่ไหว สุขภาพแกไม่ดี แต่แกยังโอเคอยู่ เราเชื่อมั่นในความอะไรกับเรานะ ทั้งสามคน ถ้าโดนตีมากๆ แสดงว่ามันต้องมีอะไรสักอย่าง อาจไม่ใช่เขาผิดแต่อาจมีคนที่ไม่ชอบ ก็มองในแง่ของมุมนี้นะ ถ้าคนรักทั้งหมดมันแสดงว่าอีกแบบละ

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X