×

ประยุทธ์เรียกประชุม ศบค. ด่วนพรุ่งนี้ คาดพิจารณามาตรการล็อกดาวน์คุมโควิด หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งแตะ 7 พันราย

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2021
  • LOADING...
มาตรการล็อกดาวน์

วันนี้ (8 กรกฎาคม) ภายหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นทะลุ 7,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดจะยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องควบคุมการแพร่ระบาดและการบริหารจัดการต่างๆ การตรวจเชิงรุก รวมถึงการบริหารจัดการเตียงและการกระจายวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึงและเพียงพอ 

 

ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เรียกประชุมด่วนในวันพรุ่งนี้ (9 กรกฎาคม) เพื่อนำข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเข้าที่ประชุม ครม. ให้ทันในวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการพิจารณา​ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หากแพทย์มีความเห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดหนักในขณะนี้

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงข้อเสนอต่อที่ประชุม ศบค. สำหรับพื้นที่เสี่ยง (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยจำกัดการเดินทางออกจากบ้านและไปในสถานที่เสี่ยง โดยลดการเคลื่อนที่ของประชาชน ดังนี้

 

  • Work from Home 100% ยกเว้นงานบริการที่จำเป็นและงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค 
  • ขอให้ประชาชนงดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ยกเว้นซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล และฉีดวัคซีน 
  • ปิดหรือลดเวลาเปิดสถานที่ชุมชน/สถานที่เสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ลดเวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนของร้านอุปกรณ์อุปโภคบริโภค เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต 
  • ลดการรวมกลุ่มกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น งดจัดประชุม จัดสอบ หรือกลับเข้าสถานศึกษา 
  • งดการเดินทางข้ามจังหวัด 
  • ปรับแผนการกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัด และระดมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้กลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังใน กทม. และปริมณฑล 
  • จัดช่องทางด่วนในการตรวจและรักษาให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และโรคเรื้อรัง 
  • ให้ประชาชนทุกคนเน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย งดการคลุกคลีใกล้ชิดกัน หรือรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในที่บ้าน สถานที่ทำงาน 
  • เน้นย้ำทุกหน่วยงานและผู้ประกอบการ เรื่องมาตรการป้องกันส่วนบุคคลในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising