วันนี้ (18 ตุลาคม) เพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ได้โพสต์ข้อความว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้รัฐบาลรับทราบถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด และวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน จึงได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาโครงการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มต่อไปอีก 3 เดือน (ตุลาคม-ธันวาคม 2565) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยอนุมัติวงเงินช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม จากเดิมในอัตรา 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน วงเงินรวม 302.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะได้รับสวัสดิการนี้ ประมาณ 5.5 ล้านราย
พร้อมระบุอีกว่า ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงสำรวจหลักเกณฑ์เงินช่วยเหลือเยียวยา และความช่วยเหลือรูปแบบอื่นๆ สำหรับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการยกระดับความช่วยเหลือเพิ่มเติม
- เพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยให้ได้มากที่สุด
- ปรับหลักเกณฑ์ หรือกระบวนการทำงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงประชาชนได้ทันท่วงที
- ระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งนักเรียนอาชีวะและจิตอาสา ในการซ่อมแซมบ้านเรือน สถานที่ราชการ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน-ถนน-สะพาน-ไฟฟ้า-ประปา ตลอดจนวัดวาอาราม เพื่อให้ทุกชุมชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ยังมีธนาคารของรัฐอีกหลายแห่งที่ได้ผนึกกำลังร่วมสนองนโยบายรัฐบาล ยื่นมือให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งพี่น้องเกษตรกร
- ธนาคารออมสิน ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น โดยเลือกชำระเฉพาะดอกเบี้ย 10-100% และกรณี Flat Rate ลดการชำระเงินงวด 50% และให้กู้เงินฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดโอกาสให้ลูกค้าเงินกู้ที่ประสบภัยสามารถขอลดเงินงวดลง 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วนลูกค้าที่ประกันภัยที่อยู่อาศัย ก็สามารถติดต่อขอรับความคุ้มครองตามความเป็นจริง ไม่เกินกรณีละ 30,000 บาทต่อปี
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า โดยเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับใช้สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท
อีกทั้งมีธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งสิ้น 21 มาตรการ ซึ่งได้สั่งการให้แต่ละองค์กร รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งติดต่อช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ประสบภัยโดยทันที
“อีกประเด็นที่มีประชาชนสอบถามผมโดยตรง ระหว่างลงพื้นที่อุทกภัย จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งผมขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องติดตามความคืบหน้าเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ตามโครงการสนับสนุนค่าปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ฤดูการผลิต 2565/2566 ใช้งบประมาณ 112.32 ล้านบาทนั้น ผมได้รับรายงานจากคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทยว่าได้อนุมัติเงินช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 112.32 ล้านบาท โดยส่วนแรก 56.16 ล้านบาทได้แจกจ่ายไปแล้ว สำหรับอีก 56.16 ล้านบาทที่เหลือ อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติจัดสรรงบประมาณกลางตามขั้นตอน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรในการรับซื้อใบยาได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566” พล.อ. ประยุทธ์ระบุ