เกือบ 5 ปีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นั่งเก้าอี้บริหารประเทศ นอกจากท่วงท่าและลีลาการ ‘ทอล์ก’ ในสไตล์ที่ไม่เหมือนผู้นำคนใด เพราะมักบอกเสมอว่านี่เป็นสไตล์ของ ‘ทหาร’ ยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของวงการการเมืองไทย ที่ไม่มีนายกฯ คนไหนเคยทำได้เท่านี้ คือการเลือกสื่อสารทางการเมืองด้วย ‘เพลง’ ที่แต่งเนื้อร้องด้วยตนเองทั้งหมด รวมแล้วเป็นจำนวน 7 เพลง โดยเฉพาะปี 2561 ยังไม่ถึงครึ่งปี นายกฯ คลอดเพลงใหม่รัวๆ ถึง 2 เพลงด้วยกัน
ล่าสุดเพลงที่ 7 ผ่านปีใหม่ 2562 มาได้ไม่กี่วัน นายกฯ ก็ปล่อยซิงเกิลใหม่อีกครั้ง
โดยผลงานเพลงล่าสุดที่แต่งโดย พล.อ. ประยุทธ์ ถูกปล่อยในวันนี้ (10 ม.ค.) ในชื่อเพลง ‘ในความทรงจำ’ มีความยาว 4 นาที 10 วินาที โดยมอบให้ วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ นักแต่งเพลงประกอบละครชื่อดังเป็นผู้เรียบเรียงเนื้อร้อง เรียบเรียงเสียงประสานโดย พ.ต. ธัญวพิสิทธิ์ จิรากฤติภาสกุล ขับร้องโดย ร.ต. พงศธร พอจิต ซึ่งได้ทำการเผยแพร่ครั้งแรกในวันนี้ ภายในงาน ‘มหกรรมการแสดงผลการดำเนินงานโครงการตามแนวทางประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง’ ที่เมืองทองธานี
ในความทรงจำ เป็นเพลงช้าเช่นเดียวกัน เนื้อหาย้ำเตือนให้นึกถึงความทรงจำที่ประเทศเคยมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายและโกรธเคืองกัน พร้อมให้ร่วมกันเดินไปข้างหน้า อย่าให้ใครมาทำลายเหมือนที่เคยเกิดขึ้น
ขณะที่เนื้อร้องบางส่วนได้รับความสนใจจากประชาชนในท่อน “ขอเพียงต้องไม่ลืมง่าย อย่าให้ใครเขามาทำลายอย่างเคยมา ต้องทําอย่างไรเพื่อประเทศไทย ต้องทําอย่างไรให้ไม่ซ้ำเดิม คําตอบอยู่ในใจคิดให้ดี ที่กินที่นอนแผ่นดินของเรา สร้างตัวขึ้นมาก็คือที่นี่ เส้นทางต่อจากนี้ จงตรองดูให้ดีด้วยหัวใจ”
จุดสังเกตที่น่าสนใจคือ ชื่อของ วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ นักแต่งเพลงประกอบละครชื่อดัง ซึ่งได้ช่วยเรียบเรียงเนื้อร้องให้กับเพลงที่ พล.อ. ประยุทธ์ แต่งในหลายเพลง รวมทั้งยังเป็นผู้แต่งเพลง บุพเพสันนิวาส ที่ร้องโดย ไอซ์ ศรัณยู ซึ่งกำลังโด่งดังมากในเวลานี้
4 ปี 6 ผลงานเพลงที่ ‘นายกฯ’ แต่ง เพื่อสื่อสารการเมือง
ขอพาย้อนกลับไปดูว่า พล.อ. ประยุทธ์ แต่งเพลงอะไรบ้างตั้งแต่เข้ามาบริหารบ้านเมือง โดยเพลงทั้งหมดล้วนสะท้อนความต้องการและอารมณ์ของนายกฯ ที่มีต่อแนวทางการบริหารประเทศของตัวเอง
พ.ศ. 2557: คืนความสุขให้ประเทศไทย เพื่อสื่อความหมายจากใจที่ต้องการคืนความสุขให้ประชาชน โดยมอบให้ วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ นักแต่งเพลงประกอบละครชื่อดังเป็นผู้เรียบเรียงเนื้อร้องประกอบทำนอง และขับร้องโดยกองดุริยางค์ทหารบก ได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกในรายการ ใต้ร่มธงไทย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ความยาว 4 นาที
พ.ศ. 2558: เพราะเธอคือ…ประเทศไทย เป็นของขวัญในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2559 โดยมอบให้ วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ นักแต่งเพลงประกอบละครชื่อดังเป็นผู้เรียบเรียงเนื้อร้อง เรียบเรียงเสียงประสานโดย พ.ต. สุระชัย ถวิลไพร ขับร้องโดย จ.ส.อ. พงศธร พอจิต ซึ่งเป็นผู้ขับร้องเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย มาขับร้องเพลงนี้ ได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกให้สื่อมวลชนฟังระหว่างรอการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ความยาว 4 นาที
พ.ศ. 2559: ความหวังความศรัทธา โดยมีจุดมุ่งหมายถึงความหวังความศรัทธาที่จะสามารถสร้างพลังยิ่งใหญ่ได้ แต่คนไทยทั้งชาติจะต้องร่วมมือร่วมใจ และรวมพลังของความเป็นไทยอย่างไม่ท้อแท้เพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยมอบให้ พ.ต. สุระชัย ถวิลไพร เป็นผู้เรียบเรียงและทำนอง และมี จ.ส.อ. พงศธร พอจิต เป็นผู้ขับร้อง
พ.ศ. 2560: สะพาน โดยมีจุดมุ่งหมายถึงคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ และประชาชนที่จะต้องเป็นสะพานก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวข้ามสิ่งเก่าๆ ที่ไม่ได้พัฒนาไปสู่สิ่งที่พัฒนาเพื่อปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือกัน สะพานจะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ ถ้าทุกคนยังวนเวียนอยู่กับเรื่องความขัดแย้งเดิมและความคิดเดิม
พ.ศ. 2561 (ม.ค.): ใจเพชร เป็นการบ่งบอกถึงความพยายามในการแก้ปัญหาโดยไม่หวาดหวั่นอุปสรรคข้างหน้า พร้อมจะสู้ไปด้วยกันอย่างไม่ท้อถอย เมื่อมีศรัทธาและจับมือเดินหน้าไปด้วยกัน ก็ไม่ต้องกลัวปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า
พ.ศ. 2561 (เม.ย.): สู้เพื่อแผ่นดิน เป็นเพลงช้า โดยเนื้อหาบ่งบอกถึงความพยายามทำเพื่อประเทศชาติ แม้จะมีคำติฉินนินทาหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะทำทุกอย่างด้วยหัวใจซื่อตรง เพื่อให้วันพรุ่งนี้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเปิดครั้งแรกในงานรดน้ำดำหัวนายกฯ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561
พ.ศ. 2562 (ม.ค.): ในความทรงจำ เนื้อหาในทำนองว่า ที่ผ่านมาเราเคยเดินผ่านเรื่องที่ปวดร้าว การทำลาย และวันนี้เดินมาจนจะหลุดพ้นและเริ่มสร้างความมั่นคง ดังนั้นขอให้ไม่ลืมง่ายๆ อย่าให้ใครมาทำลายอย่างที่เคยเป็นมา จะต้องทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำเดิม ขอให้คิดให้ดี และขอให้คิดใหม่
‘เพลง’ กลยุทธ์สื่อสาร พล.อ. ประยุทธ์ ที่แต่งเพื่อขออยู่อีกนาน
ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก อธิบายปรากฏการณ์แต่งเพลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารทางการเมืองว่า พล.อ. ประยุทธ์ ท่านอาจมองว่าเพลงเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ง่าย เพราะสามารถทำซ้ำๆ เปิดได้บ่อยๆ เป็นกลยุทธ์การสื่อสารที่มีลักษณะตอกย้ำเพื่อให้รับรู้ข้อมูลในทิศทางเดิมที่ต้องการสื่อสารได้ง่ายที่สุด
“หากย้อนกลับไปฟังเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นเพลงแรกจะพบว่า มีท่วงทำนองและเนื้อหาที่ติดหู ประชาชนสามารถร้องตามได้ ขณะที่เพลงก่อนหน้านี้ คือ ใจเพชร กลับไม่ได้รับความนิยม เพราะเมื่อทำซ้ำๆ บ่อยๆ ในแง่หนึ่งคนก็เบื่อหน่าย”
ดร.นันทนา นันทวโรภาส
ดร.นันทนา บอกว่า ตัวสาร หรือตัวเนื้อหาของเพลงเป็นการตอกย้ำในทิศทางเดิมๆ เพื่อให้ประชาชนตระหนักปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพยายามทำให้รู้สึกว่าปัญหาเหล่านั้นจะต้องมีคนที่เป็นเหมือน ‘ฮีโร่’ เข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้
“สารของเพลงก่อนหน้าคือขอเวลาอีกไม่นาน แต่นี่ผ่านมาแล้วหลายปี เรียกว่าจะเท่าเทอมของรัฐบาลเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลจึงต้องหากลยุทธ์ใหม่เพื่ออธิบายว่าการอยู่มาตลอด 4-5 ปีนั้นยังมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมาก มีภาระที่ต้องทำอีกนะ เป็นการบอกตัวเองด้วยว่าที่อยู่เพราะอะไร ขณะเดียวกันก็บอกประชาชนว่าเราต้องการการสนับสนุนจากประชาชน”
ขณะที่รายงานของประชาไทระบุว่า PRI สื่อวิทยุสาธารณะสากล แสดงความคิดเห็น เมื่อครั้งผลงานที่แต่งโดย พล.อ. ประยุทธ์ ในชื่อเพลง สะพาน ว่า ที่มีเนื้อหาแบบเดียวกับเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย ที่ออกมาในเดือนมิถุนายน 2557 ไม่นานหลังการรัฐประหาร โดยในแต่ละเพลงมักจะมีการพูดถึงดินแดนที่งดงามที่กำลังถูกห้อมล้อมด้วย ‘ภยันตราย’ ที่ต้องมีการกอบกู้ มีการเสนอภาพคนในเครื่องแบบมีภารกิจที่ต้องทำให้ไทยกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Making Thailand Great Again)
โดยที่ PRI ระบุว่า เพลงเหล่านี้เป็นเสมือนยาชาตินิยมรสหวาน แนวเพลงแบบ Adult Contemporary นุ่มๆ เบาๆ ที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อ
อ้างอิง:
- Thailand’s military ruler keeps writing syrupy pop ballads, PRI, 05-01-2017
- www.pri.org/stories/2017-01-05/thailand-s-military-ruler-keeps-writing-syrupy-pop-ballads