×

บทสรุปมรสุมชีวิต ‘ลุงป้อมบ้านป่าฯ’ กราฟร่วงบนเส้นทางการเมือง?

13.12.2024
  • LOADING...
ลุงป้อม

HIGHLIGHTS

8 MIN READ
  • มรสุมชีวิต พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ‘อำนาจ-บารมี’ ปี 2566 ที่แย่…ยังต้องพ่ายแพ้ให้ปี 2567 
  • ลูกน้องคนสนิทประกาศแยกทางเป็นหนที่ 2 ถูกร้องจริยธรรม ตบสื่อ-ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรไม่คุ้มภาษี และมีมลทินล้มเศรษฐาจนถูกขับพ้นรัฐบาลเพื่อไทย 
  • สูงสุดจาก ‘พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์’ สู่จุดต่ำสุด ‘ลุงป้อมบ้านป่าฯ’ ผู้มีทางเดินแคบจนแทบไม่เหลือที่ยืนบนเส้นทางการเมืองลุกลามสู่วงการกีฬา

หลังผ่านการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 และพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 สามารถรวมเสียง ‘ผู้แทนราษฎร’ เกินกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา และได้เข้าไปบริหารประเทศ

 

สวนทางกับชีวิตของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตชายชาติทหารสูงอายุวัย 79 ปี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่มีอำนาจและบารมีต่อการเมืองไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ เริ่มลดน้อยและถดถอยลงเรื่อยๆ

 

ตลอดปี 2567 แม้ พล.อ. ประวิตร จะไม่ได้มีบทบาทในการบริหารประเทศแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อมวลชนเรื่อยมา จะขยับตัวทำอะไรก็เป็นที่จับตาของสังคม จนถูกดราม่าจากพฤติกรรมของตนเองอยู่บ่อยครั้ง 

 

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดศึกครั้งแรกอย่างเป็นทางการกับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่าการเมืองไทยในเวลานี้มีเสถียรภาพและนิ่งดี มีแต่คนในป่า (พล.อ. ประวิตร) เพียงคนเดียวที่ยังวุ่นวายอยู่ ขณะที่ พล.อ. ประวิตร ไม่ได้ตอบโต้ผ่านสื่อ แต่เลือกที่จะเดินเกมหลังม่านการเมืองแทน 

 

ไพบูลย์ นิติตะวัน และ สันติ พร้อมพัฒน์ 

2 แกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ยังยืนหยัดอยู่เคียงข้าง พล.อ. ประวิตร 

ในวันที่หลายคนตีตัวออกหาก เริ่มหาเส้นทางการเมืองใหม่ 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

หากย้อนกลับไปช่วงแรกของการฟอร์มรัฐบาลเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ. ประวิตร ยังเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองขั้วเดิมที่ได้รับการเทียบเชิญให้ร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนักธุรกิจหมื่นล้านด้านอสังหาริมทรัพย์ ในดีลโควตา 2+2 (รัฐมนตรีว่าการ 2 ที่นั่งและรัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 ที่นั่ง) โดยมีเงื่อนไขว่าใน ครม. ‘ต้องไม่มีลุง’

 

พล.อ. ประวิตร ในฐานะ ‘ลุง’ จึงส่ง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายแท้ๆ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พร้อมควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแทน

 

กระนั้นความสัมพันธ์ของ พล.อ. ประวิตร กับพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่ดีนัก หากย้อนกลับไปในช่วงการเสนอชื่อเศรษฐาเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียงข้างมาก และมีมติด้วย 482 ต่อ 165 โหวต เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นับเป็นวันที่ 100 หลังมีการเลือกตั้ง

 

พล.อ. ประวิตร ขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎร 

หันมาสบตาช่างภาพ THE STANDARD ระหว่างการประชุมสภา

เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ในวันดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชื่อ พล.อ. ประวิตร ร่วมโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยและหายหน้าหายตาจากอาคารรัฐสภา ไม่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่เป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ เพียงคนเดียวของพรรค จนถูกครหาว่า ‘เป็นผู้แทนราษฎร’ ที่ทำงานไม่คุ้มภาษีประชาชน ขณะที่อินไซด์ขอบโต๊ะการเมืองระบุว่า ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร ยังฝันที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่เมื่อผลออกและไม่เป็นดังใจหวังจึงรู้สึกผิดหวัง

 

ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังล้มรัฐบาลเศรษฐา

 

ก่อนที่ ‘รอยร้าว’ ระหว่าง พล.อ. ประวิตร กับพรรคเพื่อไทย จะเริ่มชัดยิ่งขึ้น เมื่อ 40 สว. ชุดที่ 12 ที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. ได้เข้าชื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่เศรษฐา แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่เคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อปี 2551 ให้จำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ในคดีถุงขนม 2 ล้านบาท นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญทิ้งท้ายก่อนหมดวาระ 

 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย 5 ต่อ 4 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐาต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) รวมถึงมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) 

 

เศรษฐา ทวีสิน กำลังกดโทรศัพท์มือถือด้วยสีหน้าเคร่งเครียด 

หลังทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ทำให้คณะรัฐมนตรีต้องจากพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งจากรายงานข่าวระบุว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนเชื่อว่าบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการเลื่อยขาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของเศรษฐาคือ ‘พล.อ. ประวิตร’

 

ส่วนพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องรีบปิดเกมเร็ว เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลถกด่วนเย็นวันเดียวกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า คฤหาสน์หลังใหญ่ตั้งอยู่ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 สถานที่พักโทษ (ในเวลานั้น) ของทักษิณ เพื่อเดินหน้าสานต่องานของรัฐบาลเศรษฐา ตามมาด้วยการแถลงข่าวเสนอชื่อ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 

 

หนึ่งวันถัดมา ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรนัดพิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี โดยวันดังกล่าว พล.อ. ประวิตร ในฐานะ สส. ได้ลาการประชุมอีกเช่นเคย โดยให้เหตุผลว่าได้ลาล่วงหน้าไว้นานแล้ว เพื่อไปทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ที่บ้านอัมพวัน

 

และในวันเดียวกันนั้น ขณะที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ พล.อ. ประวิตร ต้องเผชิญกับเรื่องราวดราม่าครั้งใหญ่ เมื่อเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวกับคำถามเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสื่อมวลชน และได้ตบเข้าที่ศีรษะของผู้สื่อข่าวหญิงรายหนึ่ง จนถูกสังคมวิจารณ์ว่าเป็นพฤติกรรมการคุกคามสื่อ นำมาซึ่งการถูกร้องเรียนและท้วงติงให้มีการตรวจสอบจริยธรรม

 

“ถามอะไรๆ ถามอะไรก็ไม่ได้ยิน” 

พล.อ. ประวิตร ถามกลับสื่อมวลชนด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว

หลังถูกถามว่าได้ติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ 

ก่อนจะตบเข้าที่ศีรษะของผู้สื่อข่าวหญิงรายหนึ่ง

 

แต่แล้ว พล.อ. ประวิตร ก็ให้ พล.อ. ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ลูกน้องคนสนิท โทรศัพท์สายตรงไปยังผู้สื่อข่าวหญิงคนดังกล่าว โดยอธิบายว่าตนเองไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงไม่ได้มีเจตนาไม่ดี โดยปกติตนเองก็มักพูดล้อเล่นและแหย่เล่นกับผู้สื่อข่าวที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นประจำอยู่แล้ว 

 

เริ่มต้นรัฐบาลแพทองธาร จุดจบพลังประชารัฐ

 

แม้ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กว่าจะได้เห็นโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (หน้าเดิม) อย่างเป็นทางการกลับใช้ระยะเวลาอีกกว่า 1 เดือน สืบเนื่องด้วยแพทองธารต้องการให้ ครม. ชุดใหม่ คลีนเรื่องของคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยมีความกังวลต่อบุคคลที่มีมลทิน ถูกดำเนินคดีมาก่อน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนายกฯ เศรษฐา

 

แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่มีความวุ่นวายต่อ ครม. ชุดใหม่ มากที่สุดคือพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะคุณสมบัติของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคในเวลานั้น ที่มีกระแสข่าวว่าจะไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งบุคคลที่ออกมายืนยันให้ข่าวก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล นั่นคือ ‘ลุงป้อมแห่งบ้านป่ารอยต่อ’ ที่ระบุว่า “พรรคเพื่อไทยเขาไม่เอา” เนื่องจากมีความกังวลเรื่องคุณสมบัติ 

 

เมื่อข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งความไม่พอใจแก่ ร.อ. ธรรมนัส ก่อนที่จะกลับลำ ออกมายืนยันรายชื่อรัฐมนตรีโควตาพรรคพลังประชารัฐจะยังคงชื่อเดิม ตำแหน่งเดิมในรัฐบาลเศรษฐา 

 

ร.อ. ธรรมนัส พร้อมด้วย สส. พรรคพลังประชารัฐจำนวนหนึ่ง

ร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

โดยเลือกนั่งเก้าอี้ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ พล.อ. ประวิตร เดินเกมพลาด และกว่าจะรู้ว่าพลาดก็สายเกินแก้ จนทำให้ความสัมพันธ์กับ ‘ลูกน้องคนสนิท’ ต้องขาดสะบั้นลง และได้ประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการกลางทำเนียบรัฐบาล “ผมรับใช้คนคนหนึ่งมาพอแล้ว…ถึงเวลาที่ผมต้องเดินออกมา” พร้อมขน สส. 20 คนร่วมเป็น สส. พลังประชารัฐอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับพรรค นับวันรอถูกขับออก

 

แม้พรรคพลังประชารัฐจะทราบว่า 20 สส. กลุ่มธรรมนัส จะหมดใจที่จะก้าวเดินต่อไปด้วยกัน แต่ก็ยังรั้งด้วยกฎหมายตามข้อบังคับของพรรค เพื่อกันไม่ให้ขยับเกมการเมืองได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะการเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม. แพทองธาร 

 

พรรคพลังประชารัฐแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยากร่วมรัฐบาลต่อ แต่สุดท้ายพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วย ก่อนจะประกาศตัดออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า สส. ในพรรคเพื่อไทยหลายคนไม่สบายใจต่อพฤติกรรมของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ไม่โหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเลยตั้งแต่นายกฯ เศรษฐา จนถึงนายกฯ แพทองธาร

 

มากไปกว่านั้นคือคนในพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า พล.อ. ประวิตร เป็นคนเดินเกมสกัดขาและอยู่เบื้องหลังการยื่นถอดถอนเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่กล่าวไปข้างต้น 

 

แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่รับพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ร.อ. ธรรมนัส ที่ยังคงมีสถานะเป็น สส. ของพรรคพลังประชารัฐ และที่ยังคาดหวังที่จะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แต่มีความกังวลต่อคำขู่ของแกนนำพรรคพลังประชารัฐว่าหากส่งชื่อบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐไปเป็นรัฐมนตรี จะมีการดำเนินการทางกฎหมาย นั่นอาจนำมาซึ่งอาฟเตอร์ช็อกทางการเมืองที่อาจสะเทือนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของแพทองธาร

 

พรรคเพื่อไทยจึงให้โควตา ‘รัฐมนตรีคนนอก’ แก่บุคคลที่มีความใกล้ชิด มีความสัมพันธ์อันดี และที่เคยอยู่ร่วมชายคาเดียวที่พรรคพลังประชารัฐ ด้วยการยกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ซึ่งเป็นกระทรวงเกรด A เป็นรางวัลปลอบใจ และรอวันเอาคืนพรรคพลังประชารัฐเช่นเดียวกัน 

 

ดรีมทีม 3 รมต. เกษตร 

(ภาพจากซ้าย): นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

และ อิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

สำหรับ 3 รายชื่อทั้ง 3 ตำแหน่ง คือ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อัครา พรหมเผ่า น้องชายแท้ๆ ของ ร.อ. ธรรมนัส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อิทธิ ศิริลัทธยากร บิดา อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ดังนั้นเราจึงได้เห็นภาพของการสลับตัวบุคคลใกล้ชิดหรือแม้แต่คนในครอบครัวมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลแพทองธาร เช่น พ่อสลับให้ลูกสาว พี่ชายสลับให้น้องชาย หรือแม้แต่ลูกชายสลับให้พ่อเข้ามารับตำแหน่ง จนถูกสังคมตั้งฉายาให้รัฐบาลชุดใหม่ว่า ‘ครม. สืบสันดาน’

 

เดินเกมตัดหนทางการเมือง ลามวงการกีฬา

 

แม้ชื่อฉายาจะดูแรง แต่รัฐบาลก็เดินหน้าสานต่องานรัฐบาลเศรษฐาควบคู่ไปกับการเดินเกมและตัดหนทางการเมืองของ พล.อ. ประวิตร พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งเป็น ‘ป. สุดท้าย’ ที่ไฟแห่งความรุ่งโรจน์ทางการเมืองยังไม่มอดให้ค่อยๆ ดับลง 

 

พล.อ. ประวิตร ขณะกำลังขึ้นรถยนต์ส่วนตัว 

เพื่อเดินทางออกจากพรรคพลังประชารัฐ โดยมีสื่อมวลชนรุมรอสัมภาษณ์ 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

เริ่มด้วย เด็จพี่-พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือร้องประธานรัฐสภาว่า พล.อ. ประวิตร มีความบกพร่องในหน้าที่ สส. บุคคลซึ่งกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนเดือนละ 113,560 บาท แต่ลาประชุมไปแล้ว 84 ครั้ง จากวันประชุมทั้งสิ้น 95 ครั้ง ถือว่าผิดต่อประมวลจริยธรรม สส. หรือไม่

 

ก่อนที่ พล.อ. ประวิตร จะส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ขอคืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของ สส. ทั้งหมดที่ได้รับตั้งแต่เป็น สส. จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ขอรับเงินเดือนอีก พร้อมให้คำมั่นว่า จากนี้จะเข้าสภาฯ มากขึ้น

 

แต่บทชีวิตของ พล.อ. ประวิตร ชายชาติทหารวัย 79 ปีในปี 2567 นั้นเหมือนฟ้าเล่นตลก เมื่ออำนาจและบารมีค่อยๆ จางหายไป ก็ยังถูกจองกฐินจาก ‘คนที่เคยรัก’ และ ‘คนที่เกลียดชัง’ เมื่อราวทศวรรษที่แล้วอย่างต่อเนื่อง

 

เริ่มต้นด้วยรายการดังได้ปล่อยคลิปเสียง พล.อ. ประวิตร ระหว่างสนทนากับลูกพรรคว่าตัวเองทำประโยชน์และทำสำเร็จหลายครั้ง จึงอยากขอโอกาสประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรีสักครั้ง รวมถึงมีการเจรจาเรื่องเงินๆ ทองๆ และการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงที่ตั้งอยู่บริเวณคลองหลอดด้วย 

 

แม้จะไม่สามารถระบุได้ว่าใครคือ ‘ตัวต้นเรื่อง’ มือปล่อยคลิปหลุดในครั้งนี้ แต่เชื่อได้ว่าจะต้องเป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ ซึ่งหนีไม่พ้นบรรดาอดีตคนสนิทที่ปัจจุบันกลายร่างเป็น ‘คู่ขัดแย้ง’ อย่างแน่แท้

 

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 

ฟังคลิปเสียง ‘ลุงบ้านป่าฯ’ ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand

ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ก่อนที่ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ลูกน้องคนสนิทคนใหม่ผู้เปิดประเด็น ‘ลุงป้อมร่างทอง’ ในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ จะออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าเสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของ พล.อ. ประวิตร เชื่อว่าเป็นคลิปปลอมและเป็นเสียง AI 

 

แม้สามารถจะแสดงออกยืนเคียงข้าง พล.อ. ประวิตร ในวันที่หลายคนกำลังตีตัวออกหาก ทิ้งลุงบ้านป่าฯ และเริ่มหาเส้นทางการเมืองใหม่ เพื่อเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 แต่อีกหนึ่งเดือนต่อมาเขากลับถูกสั่งให้ออกจากตำแหน่งรองโฆษกฯ รวมถึงต้องออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 

 

“อยากพูดแต่พูดไม่ได้” สามารถเปิดปากกับสื่อมวลชนครั้งแรก

หลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน 

ที่เชื่อมโยงกับผู้ต้องหาคดีดิไอคอนกรุ๊ป

 

เนื่องจากถูกแฉว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์จากคดีดังแห่งปี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI จับข้อหาฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน จำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท และถูกนำตัวฝากขังในที่สุด

 

ในช่วงปลายปีขณะที่หลายคนกำลังเตรียมฉลองก่อนเข้าสู่เทศกาลแห่งความสุข แต่ พล.อ. ประวิตร ก็ยังต้องเจอมรสุมในช่วงฤดูหนาวอย่างต่อเนื่องจากวงการการเมืองลุกลามไปถึงวงการกีฬา ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ที่ดำรงตำแหน่งมา 4 สมัย ยาวนาน 16 ปี 

 

เพราะ พล.อ. ประวิตร ได้เสียตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทยแก่ พล.ท. บุญชัย เกษตรตระการ รองจเร กอ.รมน. โดยที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้รับรองการจดทะเบียนการแต่งตั้งแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยจะอยู่ในวาระจนถึงปี 2571 

 

เมื่อ พล.อ. ประวิตร ไม่มีตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาทางน้ำแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ต้องพ้นจากเก้าอี้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ โดยปริยาย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในสมัยหน้า ซึ่งจะมีการเลือกวาระใหม่ในเดือนมีนาคม 2568 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน

 

ถึงเวลาจากลาหนที่ 2

 

แต่ความวัวยังไม่ทันหาย ก็มีความใหม่เข้ามาแทรก เมื่อจู่ๆ ธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของอดีตลูกน้องคนสนิทอย่าง ร.อ. ธรรมนัส มีการตรวจสอบการออก ส.ป.ก. ทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และปรากฏเส้นทางการเงิน ‘หวานใจ’ สาวข้างกายลุงบ้านป่าฯ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยง ‘ไร่ภูนับดาว’ ที่มีการบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ในพื้นที่เขตตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน 5 แปลง เนื้อที่กว่า 100 ไร่ 

 

แต่สุดท้ายการตรวจสอบของคณะทำงานที่ขับเคลื่อนตรวจสอบการใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ก็จบลงด้วยคำสั่งของ อิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตร ให้คณะทำงานยุติลงพื้นที่ไร่ภูนับดาว เพราะหวั่นว่าจะมีคำครหาทางการเมือง 

 

เป็นความเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากพรรคประชารัฐยอมขับ 20 สส. พ้นพรรคเพื่อเปิดทางสู่พรรคใหม่ ซึ่งถูกจับตาว่าเป็น ‘พรรคกล้าธรรม’ ของนฤมล และอาจได้เห็น ร.อ. ธรรมนัส คัมแบ็กสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม. แพทองธาร อีกครั้ง

 

กล้าสละอำนาจ ปิดสวิตช์ 3 ป. อย่างเป็นทางการ

 

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร ผู้ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาว อยู่จุดสูงสุด เป็นพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ผู้เป็นที่รัก ผู้วางรากฐาน และผู้ค้ำจุนอำนาจข้าราชการรุ่นน้อง ให้สามารถสร้างเครือข่ายให้คณะทหารเข้ามามีอำนาจในการเมืองไทยเกือบทศวรรษ โดยมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์คือ การช่วยค้ำจุนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยาวนานถึง 8 ปี 322 วัน รวมถึง พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้ได้อยู่ในอำนาจการเมืองไทยมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน 

 

พล.อ. ประวิตร เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 2/2567 

เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ

หลังจาก 20 สส. ประกาศปลดแอกตัวเอง 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

แต่เวลานี้ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. อนุพงษ์ ล้วนเลือกที่จะลงจากอำนาจและออกจากเส้นทางการเมืองเพื่อมุ่งหน้าสู่เส้นทางใหม่ ไปใช้บั้นปลายชีวิตกับครอบครัวที่ปลายทางมีแต่ความสุข 

 

ส่วน พล.อ. ประวิตร ในวัย 79 ที่กำลังเข้าสู่ปี 80 ‘ยังต้องอมทุกข์’ จากกฐินทางการเมืองที่รอวันเอาคืนตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกำลังมีชีวิตที่ตกอยู่ในภาวะตกต่ำ

 

แม้จะได้ประกาศต่อสาธารณชนไปแล้วว่าจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐตลอดไปตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ถ้าอยากพบกับความสุขที่แท้จริงเหมือนเพื่อน เหมือนพี่ เหมือนน้อง ก็ต้องกล้าประกาศวางมือ ยอมสละอำนาจที่เหลืออยู่ ปิดสวิตช์ 3 ป. อย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดทางให้คนใหม่มีโอกาสร่วมพัฒนาประเทศ ยังดีเสียกว่าคิดต่อสู้กับสิ่งที่ไม่มีวันชนะ กับสิ่งที่วาดฝันเพื่อกลับสู่อำนาจแห่งความรุ่งโรจน์เหมือนดังในอดีต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X