×

ประวิตร สั่งรับมือฝุ่น PM2.5 เน้นขับเคลื่อนมาตรการป้องกัน บังคับใช้กฎหมาย ลดปัญหาที่ต้นเหตุ

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2020
  • LOADING...
ประวิตร สั่งรับมือฝุ่น PM2.5 เน้นขับเคลื่อนมาตรการป้องกัน บังคับใช้กฎหมาย ลดปัญหาที่ต้นเหตุ

วันนี้ (15 ธันวาคม) พล.ท. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากปัญหาสภาวะอากาศและการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปัจจุบันที่เกินมาตรฐาน และกำลังเกิดขึ้นครอบคลุมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ และ กทม. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานการทำงานภาพร่วมกับกระทรวงมหาดไทย, คมนาคม, อุตสาหกรรม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร และสาธารณสุข ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดอย่างต่อเนื่องจริงจัง พร้อมทั้งขอให้กวดขันบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคู่กับการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชน ร่วมกันป้องกัน แก้ปัญหา และลดการก่อปัญหามลภาวะที่ต้นเหตุอย่างเคร่งครัดและจริงจัง พร้อมกับขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนมีส่วนร่วมกันแก้ปัญหา และดูแลป้องกันตนเองจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

.

พล.อ. ประวิตร ย้ำขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยระดับท้องถิ่น นำข้อมูลแผนที่จุดความร้อนและลงพื้นที่ตรวจสอบกวดขันบังคับใช้กฎหมายกับการเผาพืชไร่ในที่โล่ง และประสานกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบมลภาวะของโรงงานอุตสาหกรรม และขอความร่วมมือลดกำลังการผลิตในภาวะดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสานกับคมนาคม และตำรวจ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาจราจร โดยเฉพาะพื้นที่การจราจรที่คับคั่ง และจัดตั้งจุดตรวจสกัดรถควันดำที่สร้างปัญหาในพื้นที่ ร่วมกับมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น

.

สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ขอให้กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล พิจารณาออกมาตรการควบคุมเฉพาะหน้า และขอความร่วมมือประชาชน ร่วมกันลดต้นเหตุของการก่อปัญหาในภาพรวม เช่น ควบคุมเวลากิจกรรมการก่อสร้าง การลดใช้ยานพาหนะในพื้นที่เขตเมืองที่หนาแน่น โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล การลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดควัน เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้สาธารณสุขร่วมดูแลสุขภาพประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะเด็ก คนชรา และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X