×

‘ประวิตร’ เปิดใจ ‘อนุรักษนิยม-เสรีนิยม’ คือกับดักความแตกแยก ขอโอกาสให้ตัวเองก้าวข้ามความขัดแย้ง

โดย THE STANDARD TEAM
27.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ‘พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ในหัวข้อ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’

 

พล.อ. ประวิตร ระบุว่า แม้จะมีเหตุผลมากมายที่หลายคนเห็นว่าตนควรจะหยุด และกลับไปใช้ชีวิตสบายๆ ซี่งจะทำให้ตนมีความสุขมากกว่า เนื่องจากชีวิตไม่ได้รู้สึกขาดแคลนอะไรแล้ว และนั่นทำให้ตนคิดแล้วคิดอีกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ในที่สุดแล้วตนตัดสินใจที่จะทำงานต่อ 

 

เหตุผลหนึ่งคือ ตนเองผูกพันกับคนที่ร่วมสร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเกือบครบ 4  ปีเต็มๆ ทุกคนล้วนมีความหวัง ความฝันที่จะทำงานการเมืองต่อไป ทุกคนต่างร่วมทำงานหนักกันมา เมื่อถึงวันที่จะต้องลงเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น การต่อสู้รุนแรงมาก ใครไม่พร้อมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้ ตนจะคิดแค่เอาตัวรอด ทิ้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ร่วมสร้างพรรคพลังประชารัฐที่ยังมีความฝันอยู่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร

 

แต่ลึกไปในใจ ในความรู้สึกนึกคิด ตนเองมีเหตุผลส่วนตัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเหตุผลที่เกิดจากการทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่าถึงทางออกของชาติบ้านเมืองว่าควรจะทำอย่างไรกันดี เป็นการทบทวนที่มองผ่านเข้าไปในประสบการณ์ชีวิตของตนทั้งหมด แล้วหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรกับประเทศ

 

“ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังว่าอะไรที่ผมพบเจอ รับรู้ และเกิดความคิดอย่างไรในแต่ละช่วงชีวิต จนสุดท้ายตัดสินใจทำงานการเมืองต่อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะทำประโยชน์ด้วยการคลี่คลายปัญหาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความสดใส”

 

เริ่มจากการเล่าให้เห็นประสบการณ์รับราชการทหารตั้งแต่ ‘นายทหารผู้น้อย’ ค่อยๆ เติบโตมาถึง ‘ผู้บัญชาการกองทัพ’ ได้รับการหล่อหลอมให้ ‘จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ มาทั้งชีวิต จนผลึกความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เป็น ‘จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีของตน’ อย่างมั่นคง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

 

ในห้วงเวลาเกือบทั้งชีวิตในราชการทหาร ด้วยจิตสำนึกดังกล่าว ตนได้รับรู้ความห่วงใยของคนในวงการต่างๆ ที่มีต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศ อาจจะเป็นเพราะตนเป็น ‘ผู้บังคับบัญชากองทัพ’ เสียงความห่วงใยส่วนใหญ่จึงมีเป้าหมายไปที่นักการเมือง

 

คนกลุ่มหนึ่งซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า ‘กลุ่มอีลิท’ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง ‘ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมืองด้วยความไม่เชื่อถือ’ และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ’ 

 

มีความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้เห็นดีเห็นงามกับการ ‘หยุดประชาธิปไตย’ เพื่อ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น 

 

คนในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์ 

 

แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ความสามารถเหล่านี้ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ระบบการเมืองจัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควตาจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ ‘รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ’ หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น

 

“การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้”

 

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง ทั้งในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็น ‘ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ’ จนมาเป็น ‘หัวหน้าพรรค’

 

ตนเองได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตย’ เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่มีอำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศก็คือ ‘ประชาชน’

 

มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ‘ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ’ จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ จะพ่ายแพ้ต่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ทุกคราว ความรู้ความสามารถของ ‘กลุ่มอีลิท’ ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมืองที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า

 

ข้อความในบทความระบุต่อว่า นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยกระหว่าง ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ กับ ‘ฝ่ายเสรีนิยม’ ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเอง ‘ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ’ กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ จากประสบการณ์ของตนที่ผ่านการเห็น การรู้ การฟังทั้งชีวิต อย่างเข้าถึง ‘จิตวิญญาณอนุรักษนิยม’ และเข้าใจ ‘ประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ที่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจของประเทศ

 

“ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อให้ได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น และจะชี้ให้เห็นถึง ‘ความจำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง’ จากนั้นจะบอกให้รู้ว่าทำไมตนถึงเชื่อมั่นว่า ‘ผมทำได้’ และ ‘จะทำอย่างไร’ หากประชาชนให้โอกาสผม” 

 

ข้อความในบทความระบุทิ้งท้ายว่า จดหมายทุกฉบับเขียนขึ้นโดยทีมงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยกันกลั่นกรองสาระสำคัญที่ตนต้องการนำเสนอต่อสังคม เพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง เช่นเดียวกับตอนที่ตนเป็น ผบ.ทบ. ก็มีคณะเสนาธิการทหารคอยช่วยเหลืองาน ดังนั้นเมื่อก้าวมาเป็นนักการเมือง ตนก็มีเสนาธิการฝ่ายการเมืองมาเป็นกำลังสำคัญเช่นกัน และเนื้อหาของจดหมายทุกฉบับที่จะเกิดขึ้นผ่านการตรวจทานจากตนแล้ว และตนขอรับผิดชอบทุกตัวอักษร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X