×

ประวิตรตรวจสถานการณ์น้ำ ชาวชัยนาทชูป้ายบอกรัก-ขอหอมแก้ม เร่งกรมชลฯ ระบายน้ำออก บรรเทาความเดือนร้อนประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
03.10.2022
  • LOADING...
ประวิตร วงษ์สุวรรณ

วันนี้ (3 ตุลาคม) พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง หลังเพิ่มปริมาณการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยรับฟังสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างจากศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 

 

โดยมี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ส.ส. จังหวัดชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ ร่วมติดตามลงพื้นที่ด้วย 

 

ระหว่างการลงพื้นที่ มีประชาชนชาวจังหวัดชัยนาทร่วมต้อนรับและขอหอมแก้มให้กำลังใจ นำพวงมาลัยผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้าผูกเอว และให้กำลังใจ พล.อ. ประวิตรจำนวนมาก 

 

สำหรับภาพรวมปริมาณน้ำปี 2565 มากกว่าปี 2564 โดยใกล้เคียงกับปี 2554 อันเกิดจากมรสุมและพายุที่พาดผ่านไทยหลายลูก ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำปิง รับน้ำมากขึ้น ส่งผลต่อการบริหารการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า จังหวัดชัยนาท ได้พิจารณาให้ความสำคัญควบคุมความสมดุลไม่ให้กระทบพื้นที่อุทกภัยวงกว้าง 

 

พล.อ. ประวิตรกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานที่สนับสนุนรับมือสถานการณ์น้ำ และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ พร้อมทั้งสั่งการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จังหวัด กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันติดตาม 13 มาตรการในการรับมือฤดูฝน โดยขอให้พิจารณาเร่งเบี่ยงน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าคลองระพีพัฒน์ ออกทะเลโดยตรง

 

รวมทั้งขอให้หน่วยน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงทุ่งรับน้ำในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และให้ผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 10 ทุ่งที่จัดเตรียมไว้ เพื่อลดปริมาณน้ำลงพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และขอให้เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้ สทนช. เร่งขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งควบคู่กันไป เพื่อแก้ปัญหาน้ำระดับพื้นที่และกักน้ำไว้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง พร้อมทั้งกำชับให้กรมชลประทานเร่งก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว 

 

พร้อมทั้งขอให้กระทรวงมหาดไทย โดยทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง ร่วมพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ทั่วถึง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วถึง ในการบริหารจัดการสมดุลน้ำไปพร้อมกัน พร้อมกับขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ร่วมบริหารจัดการน้ำ และดูแลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากนั้นในบ่ายวันเดียวกัน พล.อ. ประวิตรและคณะจะเดินทางลงพื้นที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่วัดโบสถ์ต่อไป

 

ขณะที่ ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก (แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน) เพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ในระยะนี้จะยังคงมีฝนตกชุกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน (3 ตุลาคม 2565) ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,775 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) กรมชลประทานจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝน-น้ำท่า จึงได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 335 ลบ.ม./วินาที และควบคุมให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกินอัตรา 2,700 ลบ.ม./วินาที ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 45/2565 

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะใช้ระบบชลประทานทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล และฝั่งตะวันออก ระบายลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง และคลองชายทะล ระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด พร้อมเน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่รับช่วงต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นหลัก 

 

นอกจากนี้ยังได้ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปช่วยเสริมศักยภาพในการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด พร้อมกำชับให้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดเส้นทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย

 

ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X