วันนี้ (26 ธันวาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระกระทู้ถามทั่วไป ธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคประชาชน ตั้งคำถามต่อ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องปัญหาการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ธีรัจชัยตั้งข้อสังเกตว่า การกำกับธุรกรรมทางออนไลน์ที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน สถาบันการเงินหรือธนาคารควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ขอรัฐบาลอย่าเกรงใจนายทุนธนาคาร รวมถึงยังถามกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการปราศรัยว่ารู้จุดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ต่างประเทศ เช่น อาคารชั้น 25 ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา หรือที่เมียวดี ประเทศเมียนมา พร้อมระบุว่าส่งคนไปประสานแล้ว จึงสอบถามว่ามีอำนาจจริงหรือไม่
ด้านประเสริฐชี้แจงตอนหนึ่งว่า รัฐบาลเตรียมออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขณะนี้ดำเนินการแล้ว แต่อยู่ระหว่างการขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ในรายละเอียดของ พ.ร.ก. นั้นจะกำหนดการอายัดและคืนเงินให้ทำได้รวดเร็ว ตั้งใจไม่เกิน 6 เดือนคืนได้ แต่วิธีเก่าใช้เวลา 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย
ประเสริฐกล่าวด้วยว่า บัญชีม้าที่ยึดอายัดและมีเงินคืน มีที่มาและที่ไปจำนวนมาก สามารถระงับได้ทันที แต่เงินในบัญชีปรากฏเจ้าทุกข์หลายราย ทั้งนี้ มาตรการที่เกี่ยวกับธนาคารนั้นกำหนดให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบเหมือนกับเครือข่ายมือถือ พร้อมย้ำว่าไม่มีความเกรงใจธนาคารหรือโอเปอเรเตอร์ แต่เราเกรงใจประชาชน
“ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าคณะกรรมการและป้องกันภัยไซเบอร์ของเราจะเอาใจธนาคาร โดยหลังปีใหม่นี้จะได้เห็น หากพบข้อความไม่เหมาะสม เป็นภัย หรือข้อความหลอกลวงประชาชน ข้อความต้องถูกยกเลิก หากโอเปอเรเตอร์ไม่ทำตามต้องมีส่วนรับผิดชอบกรณีที่ผู้เสียหายกดลิงก์ดูดเงิน” ประเสริฐระบุ
ประเสริฐยังชี้แจงว่า การตัดวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ความพยายามมาก ส่วนมาตรการของต่างประเทศที่เป็นประโยชน์นำมาใช้ ส่วนของเราใช้และต่างชาตินำไปใช้ก็มี เช่น การปิดกั้นข้อมูลนำเข้าคอมพิวเตอร์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยใช้อำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมาย ที่สิงคโปร์นำไปใช้ รวมถึงการอายัดบัญชี
สำหรับกรณีของทักษิณ ประเสริฐระบุว่า ทักษิณมีความเป็นห่วงคนไทย โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาประสานงานไปยังประเทศมาเลเซีย เมียนมา จีน สปป.ลาว กัมพูชา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเข้าไปปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งนี้ ขอขอบคุณในความห่วงใย รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ฝากตอนท้ายว่า ตนเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากทูตของ 2 ประเทศว่ามีคนในประเด็นเขาถูกจับและบังคับให้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยถูกหลอกมาเมืองไทยว่าจะมาท่องเที่ยวและมีงานทำ แต่กลับถูกจับและส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน มีประเทศหนึ่งถูกจับ 13 คน อีกประเทศ 30 คน หากเป็นแบบนี้ทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เป็นผลดี อยากให้รัฐบาลแก้ไขโดยด่วน