×

‘ประสาร’ มอง เศรษฐกิจโลก อยู่ในช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ แนะนักลงทุนติดตาม 4 ปัจจัยเสี่ยง คาดกรณีแบงก์ SVB ล้มในสหรัฐฯ ไม่กระทบในวงกว้าง

11.03.2023
  • LOADING...
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

‘ประสาร’ มองเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ แม้โอกาสถดถอยลดลง แนะนักลงทุนติดตาม 4 ปัจจัยเสี่ยง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-การเมืองในประเทศ-เงินเฟ้อและท่าทีธนาคารกลางทั่วโลก-ความยั่งยืน’ คาดกรณีแบงก์ SVB ล้มในสหรัฐอเมริกาไม่กระทบในวงกว้าง

 

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘WEALTH CLUB 2023: RISING IN RECESSION พุ่งทะยานในความถดถอย’ จัดโดย THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ คือเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกในระยะสั้นจากความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่ดูเหมือนจะเริ่มผ่อนคลายลง ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศก็ยังมีความดื้อไม่ยอมลดลงมาง่ายๆ เช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกยังไม่สบายใจที่จะลดดอกเบี้ย

 

“เงินเฟ้อในสหรัฐฯ เคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดถึง 9.1% ในช่วงกลางปี 2022 แล้วเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่ยังค่อนข้างสูงอยู่ที่แถวๆ 6% ในต้นปี 2023 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ 2% ทำให้มุมมองที่ตลาดเคยมีว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ดูเหมือนจะเป็นมุมมองที่ Over-optimistic หรือมองบวกเกินไป” ประสารระบุ

 

ประสารกล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่ได้ปรับลดลงเร็ว และดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อกว่าคาดและเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้มีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตได้เพียง 2.9% ในปี 2023 จากที่เคยเติบโตได้ 6% ในปี 2021 และลดลงเหลือ 3.4% ในปี 2022 โดยเฉพาะใน Developed Markets ที่ปีนี้เศรษฐกิจอาจเติบโตได้เพียง 1.4% ในสหรัฐฯ และ 0.7% ในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลต่อการชะลอตัวในภาคการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งไทย

 

อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดประเทศของจีนในช่วงต้นปี 2023 ซึ่งค่อนข้างเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและส่งผลดีต่อหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศคู่ค้าต่างๆ ในเอเชียที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจสูงกับจีน ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าจีนอาจเติบโตได้ 5.2% ในปีนี้ และอาจเป็นความหวังในการช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตรในปีนี้

 

“ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ล่าสุดก็มีคนถามผมว่าเหตุการณ์แบงก์ล้มในสหรัฐฯ จะลุกลามหรือเปล่า ผมไม่มีข้อมูลเชิงลึก แต่เข้าใจว่าปัญหาเกิดจากการได้รับผลกระทบจากราคาสินทรัพย์ นำไปสู่การมีปัญหาสภาพคล่อง เรื่องนี้คงต้องติดตามต่อ แต่เชื่อว่าผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัด ไม่ลุกลามในวงกว้าง เพราะธนาคารดังกล่าวไม่ได้มีความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินใหญ่อื่นๆ มากนัก” อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ

 

สำหรับเศรษฐกิจไทย สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะยังคงขยายตัวได้ 2.7-3.7% ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่เติบโตได้ 2.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนอาจปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้มีแรงขับเคลื่อนจากการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอีกด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยควรเร่งเพิ่มการลงทุน การยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ผ่านกระบวนการความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เน้นความยั่งยืน เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน การปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐ และปรับโครงสร้างรองรับสังคมสูงวัย

 

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยและนโยบายทางการเงินของไทยได้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทิศทาง และเอื้อต่อการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่อาจแตกต่างจากในสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งการจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งก็เริ่มมีทิศทางที่คลี่คลายมากขึ้น โดยตั้งแต่กลางปีที่แล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ค่อยๆ ปรับขึ้นจาก 0.5% มาเป็น 1.5% ในปัจจุบัน แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังเกินกรอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 3% อยู่ แม้ว่าเริ่มชะลอตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 5% ในเดือนมกราคมของปีนี้ จึงยังอาจได้เห็นการพิจารณาทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งตลาดมองว่าดอกเบี้ยอาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับราว 2%” อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ

 

ประสารกล่าวอีกว่า แม้เศรษฐกิจไทยโดยรวมสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเปราะบางในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ ไทย เช่น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นต้น นโยบายต่างๆ จึงควรมุ่งสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวควบคู่กับการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่างๆ

 

สำหรับตลาดทุนไทยได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดเช่นเดียวกัน โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ฟื้นตัวพ้นระดับก่อนโควิดไปพอสมควร แต่ยังคงมีความแตกต่างในการฟื้นตัวของดัชนีรายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ดัชนีกลุ่ม Technology ที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีมาก ในขณะที่กลุ่ม Consumer Products ยังอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในครั้งนี้ได้นำมาสู่การปรับตัวและอาจนำมาซึ่งโอกาสใหม่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เราได้เห็นการปรับตัวของภาคธุรกิจต่างๆ ในตลาดทุนไทยที่ได้เริ่มปรับตัวสู่การทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ หรือ New Normal ซึ่งเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทย เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารจากพืช หรือ Plant-based, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแนวใหม่ๆ รองรับ Digital Nomad การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการพำนักในประเทศในระยะยาว, ธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือ New Economy ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลธุรกิจในกลุ่ม New S-Curve รวมถึง SMEs และ Start-up

 

ประสารระบุว่า โดยสรุปความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องติดตามในปีนี้จะมี 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

 

  1. ความไม่แน่นอนในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ที่เชื่อมโยงกับการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ และการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์หรือ Deglobalization ซึ่งตึงเครียดมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว และยังคงต้องติดตามความเสี่ยงจากการขยายวงของความขัดแย้งที่อาจเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงแนวทางการเจรจาหรือประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนในด้านเทคโนโลยี ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน รวมทั้งความรุนแรงหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดแทรกซ้อนขึ้นได้
  2. เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้ง และนำไปสู่ความต่อเนื่องหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป จึงน่าติดตามการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองในการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ รวมทั้งที่อาจเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเงินการลงทุน
  3. ประเด็นด้านเศรษฐกิจโลกก็กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และน่าติดตามประเด็นเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง การปรับท่าทีของธนาคารกลางในการจัดการกับเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวลง รวมทั้งการกลับมาเปิดประเทศของจีนที่น่าจะส่งผลเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในด้านความเชื่อมโยงในซัพพลายเชน และผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ
  4. ประเด็นด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) ที่มีความน่าสนใจและอาจเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจมากขึ้น เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU รวมทั้งการร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มหรือกลไกการซื้อขาย Carbon Credit 

 

“การตัดสินใจลงทุนควรอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์และติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีความระมัดระวังและไตร่ตรองให้ดีเมื่อได้รับข้อมูลและการชักชวนให้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภัยทางการเงินหรือการหลอกลวงให้ลงทุนสามารถเข้าถึงตัวเราได้ง่ายผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย และควรมีความเท่าทันถึงความเชื่อหรืออคติต่างๆ ของตนเองที่เกิดขึ้นในกระบวนการตัดสินใจลงทุน เช่น ความโลภ ความกลัว ที่อาจทำให้การตัดสินใจลงทุนผิดพลาดไป และในบางครั้งการเคลื่อนไหวหรือความผันผวนในตลาดทุน โดยเฉพาะในระยะสั้นๆ ก็อาจมีส่วนที่ขับเคลื่อนโดย Sentiment ของนักลงทุนมากกว่าปัจจัยพื้นฐานต่างๆ” ประสารกล่าว

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising