×

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เตือน เศรษฐกิจโลก อยู่ในช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ อย่ารีบวางใจแม้เริ่มมีสัญญาณเชิงบวก ห่วงเงินเฟ้อกดไม่ลง-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อและเข้มข้นขึ้น

02.02.2023
  • LOADING...
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล มอง เศรษฐกิจโลก อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เตือนนักลงทุนไม่ควรวางใจแม้เริ่มมีสัญญาณเชิงบวก ห่วงเงินเฟ้อกดไม่ลง-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อและเข้มข้นขึ้น คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3.7% ดอกเบี้ยขึ้นต่อแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ระธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในการสัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้อยู่ในช่วงที่เรียกว่า ‘เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ’ คือเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกในระยะสั้นจากความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่ดูเหมือนจะเริ่มผ่อนคลายลง แต่การอ่านสัญญาณต่างๆ ก็ยังคงต้องระมัดระวัง เพราะยังมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถมองข้ามได้อีกหลายด้าน

 

“โดยปกติ 3 สิ่งที่น่าลงทุนคาดหวังจะเห็นกัน ได้แก่ เศรษฐกิจโตดี ธนาคารกลางหยุดนโยบายการเงินที่เข้มงวด และเงินเฟ้อหายไป จะไม่ค่อยเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ดูเหมือนว่าอาการของตลาดการเงินในเวลานี้กำลังมองแบบนี้ มองค่อนข้างบวก ซึ่งต้องระมัดระวังว่ามันจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่” ประสารกล่าว

 

ประสารระบุว่า หากพิจารณาจาก 3 ปัจจัยที่คนกังวลกันค่อนข้างมากมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทิศทางนโยบายการเงินกับเงินเฟ้อ และความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ จะพบว่าแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจโลกในขณะนี้เริ่มมีภาพที่ดีขึ้นจาก 3 เดือนก่อน เห็นได้จากรายงานล่าสุดของ IMF ที่ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ของทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน 

 

ขณะที่เงินเฟ้อของของสหรัฐฯ ก็ชะลอตัวลงจาก 8.8% มาอยู่ที่ 6.6% ทำให้ตลาดการเงินในระยะนี้เริ่มมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น สะท้อนจากตลาดตราสารหนี้และหุ้นที่เริ่มคึกคักขึ้น อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ความคิดของธนาคารกลางขนาดใหญ่อย่าง Fed หรือ ECB เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อ เพราะแม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมา แต่เงินเฟ้อพื้นฐานที่ตัดการคำนวณน้ำมันและอาหารออกก็ยังไม่ได้ลดลงมากนัก

 

“คนที่มองบวกมากๆ อาจมองว่า Fed จะชะลอนโยบายการเงินที่เข้มงวดและปลายปีจะกลับทิศ แต่จะเป็นไปตามนั้นได้จริงหรือไม่ เพราะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับ 6% ซึ่งยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ค่อนข้างมาก การส่งสัญญาณของ Fed ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม” ประสารกล่าว

 

ในด้านความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ประสารประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ในปีนี้จะยืดเยื้อและเข้มข้นมากขึ้น โดยเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมาอย่างรัสเซีย-ยูเครน เริ่มมีการเพิ่มอาวุธหนักเข้าไป ขณะเดียวกันก็มีจุดปะทุใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น อิสราเอลและอิหร่าน รวมถึงความขัดแย้งที่ใกล้ไทยเข้ามา อย่างจีน-ไต้หวัน การแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ 

 

“ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ดูเหมือนจะไม่ลดลง แต่เข้มข้นมากขึ้น คนกลัวกันว่าจะมีอุบัติเหตุที่ทำให้ซัพพลายเชนถูกดิสรัปต์อีก ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม ประเด็นนอกประเทศที่ควรอ่านให้ชัดคือ ธนาคารกลางใหญ่ๆ จะเพลามือเรื่องนโยบายการเงินเข้มงวดหรือไม่ และความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นอย่างไร” ประสารกล่าว

 

ท่องเที่ยว-บริโภคภายในประเทศ พระเอกเศรษฐกิจไทย

สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย ประสารกล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในระยะสั้น แต่โดยรวมยังมองว่าไว้ใจไม่ได้ โดยการส่งออกในปีนี้จะไม่ใช่พระเอกสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่พระเอกจะเป็นภาคการท่องเที่ยวที่ได้อานิสงส์จากการคลายตัวเรื่องโควิดของประเทศต่างๆ ขณะที่สถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นก็จะช่วยเร่งการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมน่าจะโตได้ 3.7% ขึ้นไป

 

“ที่เราเป็นห่วงในระยะยาวคือการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐเวลานี้ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งเรื่องนี้อาจมีผลระยะยาวต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ” ประสารกล่าว

 

เมื่อถามถึงมุมมองต่อนโยบายการเงินไทย ประสารกล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่านโยบายการเงินของไทยในช่วงที่ผ่านมามีความสอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะบริบทการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่างจากในสหรัฐฯ และยุโรปที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่า ทำให้วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยต้องแตกต่างกัน

 

ประสารระบุว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวไต่ขึ้นมา กนง. กับแบงก์ชาติคงไม่อยากจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไป แต่ก็คงเห็นแล้วว่าหนีไม่พ้น จึงค่อยๆ ขยับดอกเบี้ยขึ้นมา แม้ในบางช่วงตลาดอาจจะอยากเห็นการปรับดอกเบี้ยที่เร็วขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่ กนง. คงอ่านแล้วว่าการฟื้นตัวของไทยยังไม่เข้มแข็ง 

 

“เชื่อว่าแบงก์ชาติจะยังขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งถ้าเงินเฟ้อในตลาดโลกไม่รุนแรง เราก็ไม่จำเป็นต้องเร่ง แต่ก็ควรจะปรับขึ้นบ้าง เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยเรายังค่อนข้างต่ำแค่ 1.5%” ประสารกล่าว

 

ประสารกล่าวอีกว่า เงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณานโยบายการเงินไทย โดยปัจจุบันเงินเฟ้อไทยยังเกินขอบบนของกรอบเป้าหมายที่ 3% อยู่พอสมควร ซึ่ง ธปท. มองว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆ โน้มเข้าหากรอบเป้าหมายภายในปีนี้ ทำให้ต้องติดตามดูว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายการเงินด้วย ถ้าเงินเฟ้อโน้มต่ำลงมาก็จะถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเงินเฟ้อยังสูงอยู่ ธปท. ก็คงต้องปรับทิศทางนโยบาย


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X