วันนี้ (26 ธันวาคม) พล.อ. ศานติ ศกุนตนาค หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา กองทัพบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พล.ต. ประพาศ ศกุนตนาค บิดา เสียชีวิตด้วยอาการสงบในวัย 92 ปี และจะเคลื่อนร่างจากโรงพยาบาลรามาธิบดีไปวัดโสมนัสราชวรวิหาร ในวันที่ 3 มกราคม 2568 โดยมีกำหนดสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 3-9 มกราคม 2568 พร้อมฌาปนกิจในวันที่ 12 มกราคม 2568 ซึ่งเจ้าภาพของดพวงหรีด
สำหรับประวัติและการทำงานของ พล.ต. ประพาศ เป็นบุตรชายของ ขุนเหมสมาหาร (ประพงศ์ ศกุนตนาค) อดีตนายอำเภอสีคิ้วที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีกบฏบวรเดช และ พริ้ง ศรีเพ็ญ เป็นหลานปู่ หลวงสรรพกิจโกศล (ปาน ศกุนตนาค)
พล.ต. ประพาศ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นเดียวกับ พล.ต.ท. ชลอ เกิดเทศ จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) รุ่นที่ 10 รุ่นเดียวกับ พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พล.ต. ประพาศ รับราชการในกรมการทหารสื่อสารมาโดยตลอด เป็นผู้ประกาศข่าวของช่อง 7 ยุคก่อตั้งสถานีที่ยังคงอยู่ในความดูแลของช่อง 5 และยังออกอากาศเป็นภาพขาวดำอยู่ จากนั้น พ.ศ. 2515 จึงมีโอกาสแสดงละครเวทีเฉพาะพระพักตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่องด้วยกัน
โดยเรื่องที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ สี่แผ่นดิน (2517) โดยรับบทเป็น คุณเปรม ตัวเอกของเรื่อง ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทั้งนี้ ยังถือเป็นอาจารย์ผู้สอนของนายทหารผู้มีบทบาทสำคัญในประเทศอีกหลายท่านด้วยกัน เช่น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ฯลฯ
นอกจากนี้ พล.ต. ประพาศ ยังเป็นนักดนตรีที่เล่นดนตรีไทยได้หลายชิ้น สามารถร้องเพลงไทยและขับเสภาได้ไพเราะ จนได้รับคำชมจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยมีโอกาสแสดงดนตรีและขับเสภาในงานสำคัญต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นเจ้าของเสียงขับเสภาในละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ หลายเรื่องด้วย
สำหรับหน้าที่สุดท้ายของ พล.ต. ประพาศ คือ เป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และยังได้รับโอกาสให้เป็นผู้บรรยายงานพระราชพิธีและรัฐพิธีหลายต่อหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม พล.ต. ประพาศ ได้รับฉายาว่าเป็น ‘โฆษกคณะปฏิวัติ’ เนื่องจากเป็นผู้ที่อ่านประกาศคณะรัฐประหาร เช่น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยมีวลีสำคัญเป็นที่จดจำคือ “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” รวมทั้งยังเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 ด้วย