THE STANDARD สัมภาษณ์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากการสมัครรับเลือกปี 2567 อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสมัคร สว. ‘กลุ่ม 17 ประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน’ จากอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
เขาเป็นผู้ที่สามารถสมัครได้หลายกลุ่ม ทั้ง ‘กลุ่ม 3 การศึกษา’ หรือ ‘กลุ่ม 5 อาชีพทำนา’ แต่ตัดสินใจสมัคร ‘กลุ่ม 17 ประชาสังคม’ และสมัครในจังหวัดบ้านเกิด ไม่สมัครในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสิทธิสมัครได้อีก 2 เขต คือบางกอกน้อยกับปทุมวัน ตามพื้นที่ที่เคยศึกษา
อาจารย์ประภาสเป็นผู้ที่มีความน่าสนใจในอีกแง่มุมคือ เลือกใช้สถานะนักวิชาการทำงานอยู่กับภาคประชาชน ไม่เล่นบทสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งมักจะเป็นฝ่ายชนะในการเมืองไทย โดยอาจารย์ประภาสตอบติดตลกว่า ถึงอยากไปฝ่ายนั้นเขาก็คงไม่เอา เพราะไม่ได้มีทักษะแบบที่ฝ่ายนั้นต้องการ แม้มีท้ายชื่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังก็ยังไม่พอ “การไปทำงานแบบนั้นต้องการคนที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมไม่มี”
อาจารย์อยู่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาตลอดตั้งแต่เรียนปริญญาตรี โท เอก กระทั่งมาสอนหนังสือจนเกษียณ ทำไมอาจารย์ไม่เลือกอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งมักจะเป็นฝ่ายชนะ
ชีวิตผมอยู่จุฬาฯ ก็จริง แต่ผมก็ทำงานกับพี่น้องเครือข่ายคนจนคนด้อยโอกาสมาตลอด ตั้งแต่ยุคสมัชชาคนจน เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ผมเข้าเรียนปริญญาตรีปี 1 รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2523 เป็นช่วง ‘ป่าแตก’ เจอรุ่นพี่ที่อายุมากๆ ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แล้วผมมารู้ตอนหลังว่าเป็นรุ่นพี่ที่เคยเข้าป่าแล้วยังเรียนไม่จบ เขาวางอาวุธกลับมาเป็น ‘ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย’ หลังจากมีนโยบาย 66/2523 รุ่นพี่คณะแพทย์ก็มี เขาก็มาฟื้นพรรคนิสิตชื่อพรรคจุฬาธิปไตย แล้วก็ชวนกันไปทำกิจกรรม
ผมก็ไปทำกิจกรรม เป็นยุคการแสวงหาอีกครั้ง ถ้านับครั้งแรกคือยุค 14 ตุลา 2516 ยุคผมก็เป็นยุคแสวงหาครั้งที่ 2 อีกด้านก็มี NGO ขนาดเล็ก จะว่าไปก็คือ ‘คนเดือนตุลา’ ที่กลับมาจากป่า แล้วยังอยากเห็นสังคมที่ดีงาม ยังอยากทำงานอยู่ ก็มาตั้ง NGO ขนาดเล็ก รวมถึงมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ด้วย
เราก็เลือกที่จะไปกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ‘คนก้าวหน้า’ เป็นนักกิจกรรมทางสังคม ไปร่วมกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียน เรียนจบก็ไปสมัคร มอส.
สายธารความคิดที่เติบโตในสังคมก็คงมีผลต่อผู้คน ซึ่งไม่ได้มีแค่ผมคนเดียว กระแสการเติบโตของ NGO แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมชุมชน การไปทำงานกับชาวบ้าน ไปหาภูมิปัญญาชาวบ้าน สร้างองค์กรชาวบ้านที่เข้มแข็ง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เข้ามาแทนที่กระแสแนวคิดสังคมนิยมซึ่งถดถอยไปหลัง ‘ป่าแตก’ ถ้าเรามองภาพใหญ่ก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้
ผมเกิดปี 2505 เจอเหตุการณ์รัฐประหารตั้งแต่ช่วงยุค 14 ตุลา 2516 ผมอยู่ ป.6 ต่อมาเจอรัฐประหาร 2534 ตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่ ม.เกริก ต่อมาอยู่ ม.บูรพา
ผมเป็นอาจารย์จุฬาฯ ตั้งแต่ 2544 ผ่านช่วงรัฐประหาร 2549 แล้วก็มาเจอรัฐประหาร 2557
มีจังหวะที่อาจารย์สามารถเลือกข้างไปฝ่ายอนุรักษนิยมหรือไม่ เมื่อเป็นอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีภาพลักษณ์อนุรักษนิยม
ผมเคยไปสอบปลัดอำเภอรุ่นเดียวกับปลัดสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ผมสอบไม่ได้ ไม่ค่อยได้ดูหนังสือ ไม่ค่อยมีใจอยากไปเป็นเท่าไร ถ้าเป็นข้าราชการก็อนุรักษนิยม ก็ถือว่ามีจังหวะที่เลือกแบบนั้นได้ แต่โดยส่วนตัวตั้งใจจะทำงาน NGO
พอไปเป็น NGO สักพัก พูดตรงๆ ความมั่นคงในชีวิตก็มีน้อย จึงสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอาจารย์ ม.เกริก ม.บูรพา ก่อนมาเป็นอาจารย์จุฬาฯ ในขณะที่ผมเป็นอาจารย์ก็ยังทำงานกับภาคประชาชน ทำงานกับ พี่มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ สมัชชาคนจน ผมเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
ส่วนการเลือกไปหรือไม่ไปฝ่ายอนุรักษนิยม ต่อให้ผมอยากจะไปเขาก็คงไม่เอาผม เพราะเราไม่ได้มีความสามารถแบบนั้น
ทักษะที่ผมมีคือทำงานกับพี่น้องประชาชน ชวนกันสร้างพลัง เดินขบวน ทำงานสร้างเครือข่าย เขียนแถลงการณ์ด่ารัฐบาลอะไรแบบนี้ อย่าง ‘การชุมนุม 99 วัน’ ผมก็ใช้ทักษะในการเขียนแถลงการณ์ด่ารัฐบาลมากกว่า ส่วนคำว่า ‘จัดตั้ง’ เป็นภาษาเก่า
เราไม่มีทักษะสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยม และอย่างที่ผมบอกว่าเขาไม่ชวนเราแน่ๆ เขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เอาไปเกะกะเปล่าๆ การมีท้ายชื่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดังเพียงเท่านั้นไม่มีความหมาย มันต้องใช้งานได้จริงแบบที่ฝ่ายนั้นอยากได้ ผมคิดว่าผมไม่มีประโยชน์สำหรับเขา เขาก็คงรู้ว่าผมไม่มีความสามารถในแบบที่เขาต้องการ เพราะการไปทำงานแบบนั้นต้องการคนที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมไม่มี
ตัดสินใจสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
ที่จริงผมเป็นนักกิจกรรมจนกระทั่งเกษียณ แต่ก็ยังมีอะไรที่ยังอยากเขียน อยากทำ อยากเขียนตำรา เขียนหนังสือ ผมไม่ได้คิดว่าจะเข้ามาทำงานการเมืองที่เป็นทางการมาก่อน ปีนี้ซื้อตั๋วจะไปต่างประเทศกับครอบครัว ลูกไปเสนอเปเปอร์ที่ต่างประเทศ ผมก็เตรียมตัวตั้งแต่ปีใหม่ แต่ก็ไม่ได้ไป
แล้วมาสมัคร สว. ตอนแรกตัดสินใจจะเป็นโหวตเตอร์ แต่เมื่อได้รับเลือกเป็น สว. ตอนเข้ามาถึงรอบระดับประเทศที่เมืองทองธานีก็มีคนติดต่อมาบอกว่าไม่อยากให้เป็นแค่โหวตเตอร์ เพราะตอนนั้นผู้สมัคร ‘สว. ประชาชน’ หลายท่านไม่ได้เข้ามาถึงรอบนี้
เรื่องเป็น สว. ไม่ได้คิดมาก่อน แต่มีการชวนๆ กันมาเป็นโหวตเตอร์ เพราะเห็น iLaw รณรงค์ แล้วผมก็เห็นคนที่ผมอยากเลือก ทั้งคนในกลุ่มเดียวกันและคนต่างกลุ่ม
ในการสมัคร 20 กลุ่มอาชีพ อาจารย์เลือกกลุ่มไหนได้บ้าง ทำไมเลือกกลุ่มที่ 17 ประชาสังคม
ถ้าเลือกตรงที่สุดคือกลุ่ม 3 การศึกษา ซึ่งรวมนักการศึกษา ครู อาจารย์ ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ควรจะลงสมัครกลุ่มนี้ใช่ไหม แต่ผมประเมินแล้วถ้าผมลงกลุ่มนี้การแข่งขันจะสูงมาก น่าจะตกรอบแรกแน่นอน
ถ้าจะเลือกกลุ่มชาวนาก็ได้เพราะทำนาจริงๆ หลัง 2554 หลังจัดตั้งโฉนดชุมชนแห่งแรกก็ได้ตั้งวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวอินทรีย์ ปลูกกระทั่งมีพันธุ์ข้าวของตัวเอง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน ผมเป็นสมาชิกสหกรณ์ที่ดินคลองโยงตั้งแต่ปี 2524 ที่จัดตั้งเป็นสหกรณ์ ปัจจุบันก็ยังมีบัตรอยู่
ทีนี้เนื่องจากว่าผมเคยเป็น NGO ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีปี 2527 เคยอยู่หลายองค์กร รวมถึงโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ต่อมาคือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม หรือ มอส.
ผมคิดว่าเลือกกลุ่มอาชีพที่ 17 ประชาสังคม กลุ่มนี้น่าจะมีโอกาสมากกว่า เพราะที่นครปฐมผมก็ทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนด้วย
เหตุที่ไม่สมัครกรุงเทพฯ เพราะมีหลายเขตและผู้สมัครเยอะ ก็เลยคิดว่าที่นครชัยศรี นครปฐม ซึ่งเป็นบ้านเกิดและที่อยู่ น่าจะมีโอกาสมากกว่า ทั้งการเลือกในกลุ่มตัวเองและเวลาเลือกไขว้ ซึ่งจะมีกลุ่มอื่นๆ ที่พอรู้จักกัน เห็นหน้าเห็นตากัน
ถ้าผมลงสมัครที่กรุงเทพฯ จะลงได้อีก 2 เขตตามสถานที่เรียน คือบางกอกน้อยกับปทุมวัน ผมมาเรียน ม.1 โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม ที่วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย และเขตปทุมวัน เรียนจุฬาฯ
ตอนสมัครมี 20 กลุ่ม เมื่อเข้ารัฐสภาแล้วอาจารย์มองว่ามีกี่กลุ่ม
ถ้าดูตอนโหวตประธานก็มีกลุ่มใหญ่แน่นอน จะเรียกสีไหนอะไรก็แล้วแต่ ผมพยายามเลี่ยงการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่เราก็เห็นจริงๆ ว่าตอนเราเลือกประธานรัฐสภาจะมีประมาณ 150-160 คนที่เลือกทั้งประธานและรอง 1 รอง 2 ดูเหนียวแน่น
แล้วก็จะมี ‘กลุ่มอิสระ’ ‘กลุ่ม สว. ประชาชน’ ‘สว. สีส้ม’ ผมเองก็ถูกนับในกลุ่มนี้ตั้งแต่แรกๆ แต่ก็เป็นกลุ่มแบบหลวมๆ
โดยสรุปคือมีกลุ่มใหญ่ มีกลุ่มแบบหลวมๆ และกลุ่มอื่นด้วย ซึ่งเวลา สว. โหวตแต่ละคนอาจจะสนับสนุนกลุ่มใดก็เป็นไปได้ เพราะ สว. ไม่ได้มีความเหนียวแน่นเหมือนพรรคการเมือง เป็นการรวมกันหลวมๆ ขึ้นอยู่กับวาระมากกว่า
ปัญหาที่มา สว. กับประชาธิปไตยแบบพหุนิยม
ที่มาของ สว. ชุดนี้มาอย่างถูกกติกา แต่ถ้ามองปัญหากติกาเพื่อจะเป็นบทเรียนข้างหน้า ผมคิดว่ามีการพูดกันเยอะแล้วเช่นกันเรื่องการแบ่งกลุ่มอาชีพไม่ได้สะท้อนความเป็นกลุ่มอาชีพมากนัก เช่น กลุ่มประชาสังคมที่ผมสมัคร ผมมีสิทธิแน่นอนตามกติกาที่กำหนด
แต่ถ้าถามว่าได้ สว. กลุ่มประชาสังคมตรงปกไหม ในฐานะเราเคยทำงานภาคประชาสังคม งาน NGO เราก็อยากเห็นสมาชิกกลุ่มนี้สะท้อนคนทำงานภาคประชาชน ภาคประชาสังคม NGO ต่างๆ ที่เติบโตหลังป่าแตก ตั้งแต่ปี 2523 นโยบาย 66/2523 ที่เกิด NGO ขนาดเล็ก
แต่ปรากฏว่ากลุ่มที่สมัครคือกลุ่ม 17 ก็ถูกแข่งด้วยกลุ่มอาสามัคร อสม. หรืออาสาสมัครป้องกันภัย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน หรือจิตอาสา ซึ่งตามกติกาก็อยู่กลุ่มนี้ได้หมด ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยได้ภาคประชาสังคมตัวจริงเท่าไร
หรืออีกกลุ่มที่รวมคนหลายกลุ่มในกลุ่มเดียว เท่าที่ทราบก็ได้ สว. ผู้สูงอายุเป็นข้าราชการเกษียณ แต่ไม่ได้คนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้พิการ รวมถึงกลุ่ม LGBTQIA+ ก็ไม่เห็นชัดเจน
หรืออย่างกลุ่มชาวนา ก็ได้ข้าราชการที่เคยอยู่กรมโน้นกรมนี้ที่เกี่ยวข้องกับชาวนา แต่ไม่ใช่ชาวนา แบบนี้มีเยอะ
พูดเพื่อทบทวนว่าถ้ายังใช้ระบบนี้อยู่ จะต้องจัดการเรื่องคุณสมบัติเพื่อให้สะท้อนกลุ่มวิชาชีพตามที่ต้องการออกแบบไว้อย่างไรบ้าง ย้ำว่าแม้ไม่ผิดกติกาที่มีอยู่ แต่เป็นสิ่งที่ต้องปรับในภายภาคหน้า
กติกาไม่สะท้อนกลุ่มวิชาชีพ กลับไปดูสิ่งที่คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ พูดไว้ความในใจ พยายามบอกว่าวุฒิสภาของเราที่ออกแบบแบบนี้ดีกว่าสภาสูงของอังกฤษซึ่งเป็นสภาขุนนาง สะท้อนชนชั้นเดียว แต่ผมคิดว่าเจตนาอาจจะดี แต่ผลที่ได้มามันไม่ใช่ และตรงกันข้ามเลยด้วย เพราะได้คนที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในกลุ่มอาชีพนั้นๆ
ทั้ง สว. และ สส. ตามรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย เป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนหรือปวงชนในฐานะผู้แทนหรือตัวแทน สส. ก็มีความเชื่อมโยงกับประชาชนในแง่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส่วน สว. ในแง่ความเป็นตัวแทนที่สะท้อนหรือยึดโยงกับการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนที่มอบอำนาจให้เรา ผมลองนึกถึงผมเอง มีคนเลือกผมสักกี่คะแนน ระบบการแนะนำตัว 5 บรรทัดก็แค่นั้น ไม่มีโอกาสได้คุยผู้สมัครอื่น โดยเฉพาะในรอบประเทศ ส่วนรอบอื่นก็แทบไม่มีโอกาสได้คุยเช่นกัน
นำมาสู่คำถามว่าความเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ประชาธิปไตยแบบพหุนิยมที่มองว่าสังคมการเมืองต้องประกอบด้วยคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีผลประโยชน์ใกล้กันมารวมตัวกัน ใช้ความเป็นกลุ่มเป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์กลุ่มตัวเอง เป็นหลักรัฐศาสตร์ หลักประชาธิปไตยแบบพหุนิยมพื้นฐานอยู่แล้ว
เมื่อระบบเลือก สว. ไม่ได้สะท้อนสิ่งนี้ ความเป็นตัวแทนผลประโยชน์มันจึงไม่ชัดเจนว่าจะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของใคร ระบบนี้สะท้อนอะไร ยังไม่เห็นผู้ร่างกติกาเหล่านี้ทบทวนสิ่งที่ตัวเองออกแบบว่ามีปัญหามากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ปี 2562 ก็มีคนพูดเยอะว่าจะเป็นปัญหาแบบนี้ ในความเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งสำคัญมาก เพราะเรื่องความเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติของสังคมการเมือง และเป็นคนละเรื่องกับเรื่องการไม่มีสังกัดพรรคการเมือง หรือความกลัวว่าจะมีสภาผัวสภาเมีย ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การออกแบบประชาธิปไตยแบบพหุนิยม เรื่องที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรที่จะให้กลุ่มที่หลากหลายมีโอกาสแข่งขันต่อรองกัน เกลี่ยผลประโยชน์หรือฟังกลุ่มอื่นๆ ซึ่งต้องมีการประนีประนอมกับกลุ่มอื่น คือต้องฟังเสียงเขา ต้องมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อเขา ขณะที่ถ้าออกแบบให้มีตำแหน่งมีอำนาจตลอดชีวิตและมีสมาชิกกลุ่มใหญ่ก็คงไม่สนใจกลุ่มเล็กๆ
การออกแบบกติกาเหล่านี้ทำให้ได้ สว. อย่างที่เห็น คือมีกลุ่มใหญ่มาก ทำให้ความเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอาชีพที่หวังว่าจะมี 20 กลุ่มไม่เกิดขึ้นจริง
ข่าวการเมืองรัฐสภาไทยมีคำว่า ‘แจกกล้วย’ ส่วน สว. ชุดที่อาจารย์เข้ามาจากการรับเลือกปี 2567 เห็นแนวโน้มที่จะมีอะไรแบบนี้หรือไม่
ช่วงเลือก สว. ก็มีข่าวลือเช่นว่าบางกลุ่มมีจำนวนหนึ่งเป็นโหวตเตอร์ที่เหลือก็ ‘รับถ้วยรางวัล’ แล้วก็กลับบ้าน ก็มีข่าวลือทำนองนี้ แต่ว่าถ้ามีหลักฐานจริง กกต. ก็คงมีการจัดการ
เป้าหมายแก้รัฐธรรมนูญ
ผมก็ถูกเรียกว่า ‘สว. ประชาชน’ ในแง่เครือข่ายคนรู้จักคนที่คิดคล้ายๆ กัน มีเป้าหมายเดียวกันมารวมตัวกัน และที่สำคัญคือผมเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ อยู่กับพี่น้องเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายต่างๆ เราก็มองเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนปัญหาระบอบการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 ที่จริงปัญหามีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงรัฐประหาร 2549 ด้วย
เรื่องรัฐธรรมนูญ เรามีเจตนารมณ์อยากจะเห็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มี สสร. รัฐธรรมนูญควรจะเกิดจากการยกร่างโดยประชาชนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญในเชิงอุดมคติที่ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ต้องไปสู่อุดมคตินั้น
ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 2557
ผมในฐานะอาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ผมจบตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และเป็นอาจารย์สอนที่นี่ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) เราควรเห็นภาพร่วมกันว่าสังคมการเมืองมีหลายคำที่คนพูดถึงระบอบใหม่ที่ลงหลักปักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหารปี 2557 นักวิชาการรัฐศาสตร์ระดับนานาชาติมองสภาพปัญหาประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศว่าเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง’ คือคล้ายๆ ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ส่วนหนึ่งมีโครงสร้างสถาบันการเมืองคล้ายระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ในประเทศตะวันตก แต่ก็มีส่วนที่เป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตย ซึ่งต่างจากประชาธิปไตยครึ่งใบยุครัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งออกแบบให้วุฒิสมาชิก 3 ใน 4 ‘ลากตั้ง’ มาจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการรัฐประหาร
แต่ผมคิดว่า ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง’ ก็จะมีองค์กรอิสระที่ไม่ได้ยึดโยงกับหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างที่ทราบกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง’ คือระบอบใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้น ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันว่าสามารถแก้ปัญหาสังคมการเมืองได้หรือไม่ เพราะความขัดแย้งมีมาตั้งแต่ช่วง ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ รวมมาถึงช่วง ‘เยาวชนปลดแอก’ เติบโตขึ้นมาด้วย
สมัย ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ มีข้อถกเถียงว่าประชาธิปไตยใช้ได้กับประเทศไทยหรือไม่ นำมาสู่แนวคิดองค์กรอิสระ ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งมีการสถาปนาลงหลักปักฐานอย่างจริงจัง คือหลังรัฐประหาร 2557 และรัฐธรรมนูญ 2560
ในเชิงแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองคงเถียงกันไม่จบ เพราะฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าประชาธิปไตยจารีตของไทยควรจะเป็นแบบนี้ เพราะเรามีประวัติศาสตร์ที่มาแบบนี้ ก็ใช้แบบนี้
แต่ผมคิดว่าวันนี้สิ่งที่ควรจะต้องตรวจสอบร่วมกันก็คือว่าระบอบนี้มันทำงานได้จริงหรือเปล่า ผลของระบอบเช่นนี้ที่สืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันแก้ปัญหาสังคมการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง นโยบายสาธารณะ ที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้หรือเปล่า สามารถทำให้ผู้คนสามารถต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์การจัดสรรทรัพยากรได้หรือไม่
คนข้างบนไม่ไว้ใจคนข้างล่าง
ระบอบพวกนี้ถ้ามองจากประสบการณ์ของผม ภาพใหญ่ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการไม่ไว้ใจคนข้างล่าง จึงเอาอำนาจขึ้นไปไว้ข้างบน ข้างบนอาจจะเรียกว่า ‘การเมืองแบบคนดี’ ไม่ไว้ใจเสียงข้างมาก กล่าวหาว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องการเมือง ซื้อสิทธิ์ขายเสียง หาว่าประชาชนยังไม่พร้อม
เป็นชุดความคิดที่ต่อสู้กันมาก่อน นำมาสู่การออกแบบการเมืองแบบนี้ ที่การเลือกตั้งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แม้แต่พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะมี ‘สว. ลากตั้ง’ (250 สว.) ที่เพิ่งหมดวาระไป หรือองค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนมาตรวจสอบถอดถอนผู้ที่ประชาชนเลือกมา
สิ่งเหล่านี้มีคำถามว่ายังเป็นสิ่งที่ใช้ได้จริงหรือไม่ ปัจจุบันยิ่งชัดเจนว่าระบอบแบบนี้ใช้ไม่ได้ เพราะนำมาสู่ความขัดแย้ง ความไม่ยอมรับ
ส่วนตัวผมเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องทรัพยากร เรื่องป่าไม้ ที่ดิน ซึ่งมรดกของการรัฐประหาร 2557 และการเอาอำนาจขึ้นไปข้างบน สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ที่เริ่มเห็นร่องรอยเพราะองค์กรอิสระหรือตุลาการภิวัตน์เริ่มเกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีบางส่วนที่พูดถึงการเมืองทางตรง การมีส่วนร่วม สิทธิชุมชน
ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 หลังรัฐประหาร 2557 เป็นยุคที่ตกต่ำถดถอยของการเมืองภาคประชาชน สิทธิชุมชน อำนาจในการจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ก็ถูกรวมศูนย์อยู่ที่ระบบราชการกลับมาอีกครั้ง เช่น กรณีพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย
ผมคิดว่าเป็นมรดกจากการรัฐประหาร 2557 และเป็นชุดความคิดที่มองปัญหาการเมืองว่าถ้าอำนาจอยู่ที่คนข้างล่าง ไม่ว่าจะการเลือกตั้งหรือการมีส่วนร่วม หรือการให้สิทธิชุมชน การให้สิทธิในการจัดการชีวิตตัวเองลงไปอยู่ที่คนข้างล่างจะสร้างปัญหา
ถึงวันนี้ผมมองว่าระบบการเมืองที่เอาอำนาจขึ้นไปข้างบนมันใช้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่นำมาสู่การรวมศูนย์อำนาจ นำมาสู่ ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง’ มีองค์กรที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นเต็มไปหมดโดยที่ไม่ยึดโยงอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ต้องแก้กติกากันใหม่ ร่างกติกากันใหม่ แก้รัฐธรรมนูญ หรือร่างใหม่
อาจารย์เป็น สว. จากกติการัฐธรรมนูญ 2560 จะผลักดันการยกเลิก สว. หรือไม่
การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก ‘สว. ประชาชน’ มีไม่ถึงจำนวน 1 ใน 3 คือ 67 คน แต่โดยส่วนตัวยังอยากผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญอยู่ พยายามทำงานการร่างแก้ข้อบังคับในกรรมาธิการ เสนอกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขการร่างรัฐธรรมนูญ หวังว่าจะมีกลไกการศึกษา เพื่อจะดูว่าจะมีข้อเสนออย่างไร เช่น องค์กรอิสระควรออกแบบใหม่อย่างไร มองว่ามีข้อจำกัดแน่ๆ เกี่ยวกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่หวังอยากให้มี สสร. จากประชาชน แก้ทั้งฉบับ ต้องยอมรับข้อจำกัด
แต่ยังหวังว่าจะพอทำอะไรได้ในเชิงการศึกษา การสร้างเครือข่าย มาช่วยกันแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อสร้างพลังทางสังคม ให้เห็นความจำเป็นในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะกติกาการเลือก สว. ไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนปวงชน การบอกว่ามากจากผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพต่างๆ ระบบนี้ก็ไม่สะท้อนเลย
ระดับการแก้ไข จะแก้ไขกติกาที่มาหรือจะยกเลิกสภาสูง (สว.)
ผมรับได้ทั้ง 2 ระดับ คือจะไม่มีสภาสูงก็ได้ เพราะผมพูดมาตลอดตั้งแต่ตอนสอนหนังสือ ถ้าเราดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย สว. ไม่ได้มีฟังก์ชันอะไร ส่วนอำนาจในการกลั่นกรองกฎหมาย การแต่งตั้งองค์กรอิสระ ไม่ได้นำมาสู่รูปแบบการปกครองที่ดี องค์กรอิสระก็เป็นปัญหาปัจจุบันซึ่งต้องปรับปรุงไปพร้อมๆ กัน องค์กรอิสระถูกตั้งคำถามเยอะเรื่องความเป็นอิสระ ความยึดโยงกับประชาชน ความเป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตย พ่วงกันไปหมด
การแก้ไขกติกาก็คงจะดีขึ้น ให้มีความเป็นตัวแทนวิชาชีพมากขึ้น แม้ในเชิงอุดมคติจะมองว่าการไม่มี สว. เลย จะดีกว่า แต่ว่าในสภาพความเป็นจริงทางการเมืองคงเป็นไปได้เพียงการปรับกติกา มีความเป็นไปได้ที่จะมีทั้งสภาสูงสภาล่าง มี สส. และ สว. ต่อไป
ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญจำเป็นต้องร่างใหม่หรือแก้ไขเพราะเราอยู่ภายใต้ ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง’ มายาวนานสิบปีแล้ว มันพิสูจน์ว่าชีวิตสังคมการเมืองวิกฤตทุกมิติ ทั้งคนรุ่นใหม่มีเรื่องเกี่ยวข้องสิทธิเสรีภาพ คนด้อยอำนาจมีปัญหาการจัดการทรัพยากร เรื่องดินเรื่องน้ำเรื่องป่า สิทธิชุมชน เรื่องโครงสร้างทางการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจ เรื่ององค์กรอิสระ รวมถึงกติกาการเลือก สว. ที่ไม่สะท้อนหรือยึดโยงหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
สว. ดูเป็นตำแหน่งใหญ่ แต่ในหลักการรัฐธรรมนูญคือตัวแทนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน สำหรับระบบนี้ ผมก็ถามตัวเองว่าเรามีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่ามีไม่สูงมาก ส่วนตัวก็คิดว่า สว. ในรัฐสภาไทยเกิดขึ้นด้วยการเมืองมาโดยตลอด การมี สว. เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาทุกยุคสมัย ถ้านับแต่รัฐธรรมนูญ 2521 ไม่ย้อนไปไกลกว่านั้น ก็เป็นสภาลากตั้ง มีรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับเดียวที่ สว. มาจากการเลือกตั้ง แต่ ณ วันนี้เมื่อเข้ามาแล้วก็ลองทำงานสักพัก แต่พร้อมทบทวนให้เกิดการปรับแก้ระบบ
เนื้อหาที่ สว. ประภาส จะทำในรัฐสภา
ในเชิงอุดมคติส่วนตัว คิดว่าถ้ามองจากประสบการณ์ภาคประชาสังคม สิ่งที่เราอยากเห็นการสร้างและการจรรโลงประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในสังคมไทยก็คือต้องทำให้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่เป็นอยู่เนี่ยความขัดแย้งทางการเมือง นำมาสู่ความไม่ไว้วางใจประชาชนคนข้างล่างจึงเอาอำนาจไปไว้ข้างบน อยู่ที่องค์กรอิสระ ไม่ยึดหลักเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ปล่อยให้เกิดองค์กรปรปักษ์ประชาธิปไตย มี สว. ลากตั้ง แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีสมัยที่แล้ว อำนาจตุลาการภิวัตน์อะไรต่างๆ การใช้งบประมาณ การเป็นเจ้าของทรัพยากร เรื่องดินเรื่องน้ำเรื่องป่า อำนาจรวมสู่ศูนย์กลาง
ในเชิงอุดมคติอยากจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมใหม่ เพื่อถ่ายโอนอำนาจลงไปที่คนข้างล่าง ให้เขามีอำนาจในการจัดการชีวิตมากขึ้น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยทางตรง ไม่ใช่ประชาธิปไตย ‘ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง’ มีการเลือกตั้งเป็นส่วนประกอบนิดหน่อย
ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้พื้นที่สำหรับคนข้างล่างขยายออก หรืออำนาจด้านการประเมินผลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสุขภาพต่างๆ เราเคยมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญปี 2550 แต่กฎหมายลูกไม่เคยออก ทำอย่างไรให้พื้นที่เหล่านี้ขยาย
อีกสิ่งที่คิดว่าพอจะทำได้ในระดับกรรมาธิการ คือกลไกให้พี่น้องประชาชนที่มีปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดินได้มีพื้นที่กลาง จะทำให้การนำเสนอปัญหามีหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหา อีกเรื่องที่ทำได้ในระดับกรรมาธิการคือศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ทำอย่างไรจะอาศัยกลไกที่เป็นทางการ กลไกเชิงสถาบันการเมือง มีความชอบธรรมรองรับ ให้แต่ละฝ่ายสามารถหาฉันทานุมัติร่วมกัน และยอมรับร่วมกัน
สว. ก็สามารถมีบทบาทได้ ผมคิดว่าถ้าได้ทำงานเหล่านี้ก็จะได้อาศัยกลไกกรรมาธิการ หรือการยื่นญัตติ ยื่นกระทู้ต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือของพี่น้องประชาชนที่เขาเดือดร้อน ในสภาก็มีกลไกเรื่องญัตติ เรื่องกระทู้ และมีกลไกเรื่องพัฒนาสังคมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเปราะบาง ก็มี 2-3 กรรมาธิการที่สามารถผลักดันประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ
สถานะ สว. จะมีอะไรที่ทำไม่ได้เหมือนตอนเป็นนักวิชาการกับ NGO
ก็คงไปเดินขบวนไม่ได้ (หัวเราะ) ไปสร้างพลังข้างนอกรัฐสภาไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเรามาอยู่พื้นที่กลไกการเมืองที่เป็นทางการ การเมืองในเชิงสถาบัน หรือสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ
คือเดิมเราอยู่ข้างนอก เป็นผู้ชุมนุม ต่อรองเพื่อสร้างพื้นที่เข้ามาเชื่อมกับการเมืองเชิงสถาบันหรือพื้นที่การเมืองที่เป็นทางการ
เมื่อเรามาอยู่ในรัฐสภา หน้าที่ของเราก็คือควรจะขยายกลไกข้างในนี้ให้ไปเชื่อมกับปัญหาข้างนอกไปสู่ประชาชน ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมอ่านประมวลจริยธรรม บางทีก็สงสัยว่าเขาบังคับให้เราต้องไปบวชเป็นพระหรือเปล่า เช่น สมมติมีความขัดแย้ง สว. จะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วถูกคู่กรณีอีกฝ่ายฟ้องได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้ง ไม่เป็นกลาง ก็คงต้องระมัดระวังเช่นกัน เรื่องจริยธรรมที่ตีกรอบเอาไว้ค่อนข้างมาก เป็นสิ่งซึ่งเป็นข้อจำกัด
ในแง่นี้ความเป็นนักวิชาการมีความเป็นอิสระมากกว่าแน่นอน เราอยู่กับฝ่ายชาวบ้านได้ชัดเจน
สว. มีบทบาทตรวจสอบกฎหมาย ซึ่งบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยก็อาจจะทำได้โดยวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ แต่อยู่ในรัฐสภาก็มีสถานะที่เขาจะต้องรับฟัง แต่เขาจะทำหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
อำนาจกรรมาธิการก็จะมีอำนาจเรียกข้อมูล ขอข้อมูล ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เขาจะต้องมาให้ข้อมูล ก่อนจะออกมาเป็นการศึกษาและเสนอแนะในเชิงนโยบาย หรือปรับกฎหมาย แก้กฎหมาย ออกกฎหมายใหม่ ที่ผ่านมา สว. มีการทำการศึกษาเรื่องคนจนเมือง มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย มีการตั้งอนุกรรมการ มีฝ่ายภาคประชาชนเข้าไปร่วมเป็นอนุกรรมการ รายงานออกมาดี มีข้อมูลที่ดี นำไปสู่การผลักดันศูนย์คนไร้บ้านหรือห้องเช่าราคาถูก ตอนนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็รับไปเป็นนโยบายของกระทรวง
ในฐานะเป็นนักวิชาการก็ยังสามารถทำหน้าที่เรื่องการศึกษา ประมวลปัญหา ทำข้อเสนอแนะได้ ก็คิดว่าจะพยายามทำบทบาทเรื่องแบบนี้
ตอนทำงานภาคประชาชนก็เคยชุมนุมหน้ารัฐสภาหลายครั้ง แต่ไม่ได้ปีนเข้ารัฐสภาแบบอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์
ตอนสมัชชาคนจนชุมนุม ผมก็อยู่ที่ชุมนุม ผมมีรถกระบะเก่าๆ เวลาพี่น้องจะขนเครื่องเสียง รถผมเป็นที่ใส่เครื่องเสียงตระเวนรอบทำเนียบ ฝ่ายความมั่นคงจดเลขทะเบียนไว้แล้ว วันที่พี่น้องปากมูลปีนทำเนียบ 225 คน ถูกจับ ผมก็หาหมากหาพลูไปให้พ่อเฒ่าแม่เฒ่า เพราะถามเขาว่าอยากได้อะไร เขาบอกอยากได้หมาก เพราะตอนปีนรั้วทำเนียบเชี่ยนหมากกระเด็นไปไหนไม่รู้
สมัชชาคนจนตั้งขึ้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2539 เขาเรียกนักวิชาการเป็นที่ปรึกษา โดยไม่มีจดหมายแต่งตั้ง เริ่มชุมนุม 2540 ผมอยู่แถวๆ นั้นทุกวัน ทำวิทยานิพนธ์ด้วย เขียนแถลงการณ์ด่ารัฐบาลทุกวัน ไม่กระทบความเป็นนักวิชาการ
ขณะเป็นนักวิชาการผมก็เคยเป็นหัวหน้าภาควิชาการปกครอง เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม ดังนั้นงานพิธีกรรมพิธีการก็คุ้นชินพอสมควร ผมใส่ชุดขาว มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สิ่งเหล่านี้เราเข้าใจ อธิบายได้ ไม่ได้ถึงขนาดยึดติดอะไรมาก
คิดว่าภารกิจเดิม ปัญหาพี่น้องชาวบ้านยังมีปัญหาเหมือนเดิม อาจจะหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นด้วย อยู่ข้างนอกรัฐสภาเราก็พยายามสร้างพื้นที่เพื่อมาเชื่อมต่อข้างในสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ เมื่ออยู่ข้างในรัฐสภาก็ต้องขยายพื้นที่ไปเชื่อมพี่น้องข้างนอกให้ได้ สร้างพื้นที่กลไกเหล่านี้ให้ได้
จุดหมายที่ทำมาตลอดชีวิตทำงานกับพี่น้องประชาชนยังทำอย่างที่ทำมาตลอด