วันนี้ (21 มิถุนายน) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ เดินทางมารายงานตัวพร้อม ส.ส.ของพรรค รวม 9 คน ดังนี้
- วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ บัญชีรายชื่อ
- พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ บัญชีรายชื่อ
- อับดุลอายี สาแม็ง พรรคประชาชาติ จังหวัดยะลา
- สุไลมาน บือแนปีแน พรรคประชาชาติ จังหวัดยะลา
- ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู พรรคประชาชาติ จังหวัดปัตตานี
- ซูการ์โน มะทา พรรคประชาชาติ จังหวัดยะลา
- สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ พรรคประชาชาติ จังหวัดปัตตานี
- กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ พรรคประชาชาติ จังหวัดนราธิวาส
- สาเหะมูหามัด อัลอิดรุส พรรคประชาชาติ จังหวัดปัตตานี
วันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า ทั้ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังไม่ได้หารือกันเรื่องนี้ คงต้องรอ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หายจากอาการติดเชื้อโควิดในช่วงสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า
ส่วนกระแสข่าวต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง สำหรับพรรคประชาชาติไม่มีการต่อรองตำแหน่งแต่อย่างใด เพราะเราเข้ามาเพื่อทำงาน สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้ตำแหน่งใด จึงจะต้องเข้าร่วมรัฐบาล เพราะเราตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าจะสร้างรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชน เรื่องตำแหน่งขอให้คุยร่วมกัน ตำแหน่งใดเหมาะสมสร้างประโยชน์ได้ค่อยว่ากัน ไม่มีการต่อรอง
สำหรับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีความเป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะขอทั้ง 2 เก้าอี้ จะมีการเจรจาเพื่อแบ่งเก้าอี้มาที่พรรคประชาชาติหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน เพียงแต่มีการตกลงกันในเบื้องต้นว่า ตำแหน่งประธานสภา และประธานรัฐสภา ให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไปตกลงกันว่าจะมอบให้พรรคใด ขณะที่ตำแหน่งรองประธานทั้ง 2 ยังไม่ได้พูดคุย
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า โดยปกติพรรคที่ได้อันดับ 1 จะได้ตำแหน่งประธานสภา ส่วนพรรคที่ได้อันดับรองลงมาก็จะได้เป็นรองประธานคนที่ 1 และคนที่ 2 ตามลำดับ เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอด
ส่วนการที่พรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภา กังวลหรือไม่ว่าจะเกิดความวุ่นวาย เพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังมีปัญหา วันมูหะมัดนอร์มองว่า คงไม่มีความวุ่นวาย เพราะการประชุมสภามีการอภิปรายและการลงมติ ก่อนจะออกมาเป็นกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามนั้น จะเห็นด้วยกับญัตติหรือกฎหมายใดๆ เป็นเรื่องของนิติบัญญัติ แต่เมื่อฝ่ายใดได้เสียงข้างมาก ฝ่ายเสียงข้างน้อยต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องธรรมดา เป็นการแสดงความเห็นตามนโยบายของแต่ละพรรค ไม่ใช่ความขัดแย้ง
ขณะกระแสข่าวว่าอาจมีการปล่อยฟรีโหวตในการโหวตเลือกประธานสภา วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การเลือกประธานสภาต้องลงคะแนน หากเสนอชื่อมากกว่า 1 คน แต่ถ้าเสนอคนเดียวก็ไม่ต้องลงคะแนน จะฟรีโหวตก็ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ตามปกติพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลควรจะมีสัญญาณกันว่าลงให้ใคร ถ้าปล่อยฟรีโหวตการจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ราบรื่น จึงต้องตกลงกันว่าใครจะเป็นประธานสภา และรองประธานสภา
“เมื่อเข้าสภา เป็นเสรีภาพ เป็นอิสระของ ส.ส.แต่ละคน จะโหวตอย่างไรก็ได้ แต่ที่ปฏิบัติกันมาก็ต้องปฏิบัติตามที่แต่ละพรรคยึดกันมาว่าจะลงมติอย่างไร เพราะนี่เป็นการร่วมรัฐบาล ต้องทำงานต่อไปข้างหน้าอีกหลายเรื่องด้วยกัน พรรคประชาชาติเองก็จะทำตามมติพรรค และยึดตามข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล เฉพาะในประเด็นประธานสภา เพราะเป็นข้อตกลงเริ่มต้นที่จะทำงานร่วมกัน”
หากมีฝั่งตรงข้ามเสนอแคนดิเดตมาชิงตำแหน่งประธานสภา ทำให้ผิดแผน วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า มีการเสนอจากฝ่ายตรงข้ามแข่งขันอยู่ตลอดเวลา จะเสนออย่างไรก็ได้ แต่การลงมติต้องเป็นไปตามมติของพรรค ยังไม่สามารถพูดได้ว่าจะเป็นไปตามมติหรือไม่ เพราะเป็นอิสระของสมาชิก ในทางการเมืองต้องประชุมกันในพรรค