×

เลือกตั้งอินโดนีเซีย: รู้จัก ปราโบโว ซูเบียนโต ตัวเต็งผู้นำคนใหม่ จากนายทหารสู่ตัวเลือกโดนใจคนรุ่นใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
11.02.2024
  • LOADING...
Prabowo Subianto

วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากจะเป็นวันวาเลนไทน์ที่บรรดาคู่รักรอคอยแล้ว ปีนี้ยังมีความสำคัญสำหรับชาวอินโดนีเซีย เพราะเป็นวันที่พวกเขาจะได้เลือกตั้งผู้นำประเทศคนใหม่

 

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก ปราโบโว ซูเบียนโต หนึ่งในแคนดิเดตและเป็นตัวเต็ง ผู้ซึ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์จากนายทหารผู้ดุดัน เป็น ‘คุณปู่ผู้น่ารัก’ โดนใจคนรุ่นใหม่

 

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น?

ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) อาจถือคติความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เพราะนี่เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เขาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งอันขมขื่นมาถึง 2 ครั้ง โดยมาคราวนี้ ปราโบโว อดีตทหารยศนายพล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม มีแนวโน้มเข้าใกล้ชัยชนะมากที่สุด เนื่องจากโพลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดบ่งชี้ว่าเขามีคะแนนนำเป็นที่ 1 

 

ด้วยการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ และการหันไปผูกมิตรกับอดีตคู่แข่ง ส่งผลให้ความนิยมของปราโบโวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เขาได้ประกาศแต่งตั้ง ยิบราน รากาบูมิง (Gibran Rakabuming) บุตรชายของประธานาธิบดีโจโก ‘โจโกวี’ วิโดโด เป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีคู่กันกับเขา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผล เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมโดยสำนักโพล LSI Denny JA แสดงให้เห็นว่าปราโบโวนำมาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนสูงเกินครึ่งที่ 50.7% ในขณะที่คู่แข่ง 2 คน ได้แก่ อานีส บาสวีดัน (Anies Baswedan) อดีตผู้ว่ากรุงจาการ์ตา และ กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) อดีตผู้ว่าจังหวัดชวากลาง มีคะแนนตามมาเท่าๆ กันที่คนละ 20%

 

การได้คะแนนเสียงเกินครึ่งนั้นสำคัญมาก เพราะหากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็จะต้องมีการเลือกตั้งรอบสองเพื่อชี้ขาด (Runoff) ในวันที่ 26 มิถุนายน

 

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่าคู่ปราโบโว-ยิบรานมีคะแนนนิยมเกิน 50%” อัดจี อัล ฟาราบี นักวิจัยของ LSI กล่าว พร้อมกับเสริมว่า ปราโบโวได้อานิสงส์จากความนิยมในตัวของโจโกวี (ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 80%) อย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

 

เปลี่ยนภาพลักษณ์จนคว้าใจคนรุ่นใหม่

 

โจโกวี ซึ่งรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ยังคงสงวนท่าที ไม่ประกาศสนับสนุนผู้สมัครคนใดอย่างเปิดเผย แต่เชื่อกันว่าโจโกวีหนุนปราโบโวอยู่กลายๆ เนื่องจากปราโบโวให้คำมั่นว่าจะสานต่อนโยบายหลักของเขา ซึ่งรวมถึงการย้ายเมืองหลวง การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแร่ และการสร้างห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า

 

“ในอีกไม่นาน เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม” ปราโบโวกล่าวระหว่างการรณรงค์หาเสียงครั้งใหญ่ในเมืองเซมารัง จังหวัดชวากลาง “ตอนนี้เราผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียได้แล้ว เราผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียได้แล้ว อนาคตของเราสดใส

 

“เราต้องการขจัดความยากจนในอินโดนีเซีย เราไม่ต้องการให้คนหนุ่มสาวต้องดิ้นรนหางานทำ… นี่คือสิ่งที่ผมต้องการทำเพื่อปกป้องประชาชนของผม” ผู้สมัครวัย 72 ปี กล่าว

 

ผลการสำรวจชี้ว่าปราโบโวได้รับความนิยมเป็นพิเศษในกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ จากการปรับปรุงภาพลักษณ์ที่ดุดัน โผงผางแบบทหาร กลายเป็นคุณปู่ที่น่ารักไร้พิษภัย โดยชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่หลายคนเรียกเขาว่า ‘Gemoy’ ซึ่งเป็นคำสแลงท้องถิ่นที่แปลว่า น่ากอดหรือน่ารัก ทั้งยังมีการเผยแพร่ภาพของปราโบโวและยิบรานในเวอร์ชันการ์ตูนแอนิเมชัน รวมถึงท่าเต้นเฉพาะตัวของปราโบโวที่มีลักษณะคล้ายศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวตามสื่อโซเชียลอย่าง TikTok และแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกจากนี้บนบัญชี Instagram เขายังโพสต์ภาพที่แสดงถึงความเป็นทาสแมว และการทำมือเป็นรูปหัวใจ จนกลายเป็นไวรัลถูกใจคนรุ่นใหม่อย่างมาก

 

ภูมิหลัง

 

ปราโบโวเกิดที่กรุงจาการ์ตาในปี 1951 เขามาจากชนชั้นสูง โดยเป็นบุตรชายคนโตของ สุมิโตร โจโจฮาดิกุสุโม อดีตรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 ในช่วงวัยรุ่น ปราโบโวได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ก่อนเดินทางกลับอินโดนีเซียเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันการทหาร และเข้ารับราชการทหารในช่วงกลางทศวรรษ 1970

 

ปราโบโวเป็นบุตรเขยของอดีตผู้นำเผด็จการ ซูฮาร์โต ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เขาแต่งงานกับบุตรสาวของซูฮาร์โตในปี 1983 และมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน ซึ่งปัจจุบันเป็นนักออกแบบแฟชั่นที่ว่ากันว่าอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ทั้งคู่หย่าร้างกันในปี 1998 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ซูฮาร์โตถูกโค่นลงจากตำแหน่งหลังจากครองอำนาจมานาน 30 ปี ต่อมาปราโบโว ซึ่งดำรงยศพลโทในเวลานั้น ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการ Strategic Reserves Command (Kostrad) เนื่องจากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

 

หลังพ้นบทบาทหน้าที่ในกองทัพ ปราโบโวได้เข้าสู่วงการธุรกิจตามน้องชาย โดยมีความสนใจในภาคธุรกิจน้ำมันปาล์ม กระดาษและเยื่อกระดาษ และพลังงาน ก่อนที่จะผันตัวเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว

 

เส้นทางการเมือง

 

ปราโบโวโดดลงเล่นการเมืองด้วยการเข้าร่วมกับพรรค Golkar Party ของซูฮาร์โต ขณะที่ ฮาชิม โดโจฮาดิกูซูโม (Hashim Djojohadikusumo) น้องชายของปราโบโว เป็นเจ้าของกลุ่มบริษัท Arsari Group ซึ่งครอบครองพื้นที่สัมปทานหลายแสนเฮกตาร์ที่รัฐบาลวางแผนไว้ว่าจะสร้างเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ นูซันตารา (Nusantara)

 

ต่อมาในปี 2008 ปราโบโวก่อตั้งพรรค Gerindra หรือ Great Indonesia Movement พร้อมสร้างฐานเสียงเพิ่มขึ้น ผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าพรรค Gerindra จับมือกับพรรครัฐบาลอย่าง Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI-P) เพื่อให้ได้ที่นั่งประมาณ 20% ในรัฐสภา ก่อนการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์เช่นกัน นอกจากนี้ คู่ของปราโบโว-ยิบรานยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง 9 พรรค รวมถึงพรรค Democratic Party ที่ก่อตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน

 

ปราโบโวได้ชิมลางในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกในปี 2009 ในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากพรรค PDI-P คู่กับ เมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี แต่ในครั้งนั้นคู่ของเขาพ่ายแพ้ให้กับยูโดโยโน จากนั้นปราโบโวได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสองครั้งในปี 2014 และ 2019 ตามลำดับ คราวนี้ในฐานะผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่แพ้ให้โจโกวีทั้งสองครั้ง

 

อย่างไรก็ดี หลังการเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในปี 2019 โจโกวีได้เชิญปราโบโวเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ทั้งยังมอบความไว้วางใจให้กับปราโบโวในโครงการ Food Estate ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนพื้นที่พรุขนาดใหญ่บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม

 

ข้อกล่าวหา

 

สำหรับจุดอ่อนในการลงเลือกตั้งของปราโบโวครั้งนี้น่าจะเป็นข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การขาดความโปร่งใสในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหมที่เขาเป็นเจ้ากระทรวง และความล้มเหลวของโครงการ Food Estate ซึ่งทั้งหมดนี้ตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายตรงข้ามและนักวิจารณ์ นอกเหนือไปจากข้อโต้แย้งล่าสุดเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติให้ยิบราน บุตรชายวัย 36 ปี ของโจโกวี ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แม้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ก็ตาม

 

แนวโน้มที่ปราโบโวอาจมาวินได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิตื่นตระหนก “ไม่เพียงรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในอดีต แต่รัฐบาลยังต้องรับผิดชอบต่อจำนวนผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มสูงขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงด้วย” อุสมัน ฮามิด กรรมการบริหารของ Amnesty International Indonesia กล่าว

 

ตลาดการเงินขานรับ

 

สำหรับตลาดการเงิน ชัยชนะของปราโบโวอาจถือเป็นเรื่องดีต่อตลาด เนื่องจากเขาให้คำมั่นว่าจะสานต่อนโยบายของรัฐบาลชุดเดิม

 

จอน แฮร์ริสัน กรรมการผู้จัดการตลาดเกิดใหม่ของบริษัทที่ปรึกษา TS Lombard วิเคราะห์ว่า ชัยชนะที่เด็ดขาดของปราโบโว ‘จะสนับสนุนตลาดตราสารทุนในระยะสั้น’ แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง การสานต่อนโยบายจะกลายเป็นเรื่องท้าทาย

 

“ปราโบโวฝังลึกอยู่กับกลุ่มทหารและชนชั้นสูงทางการเมือง” เขากล่าว “ซึ่งหมายความว่าการมีส่วนได้ส่วนเสียอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางความคืบหน้าในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงของบริษัทต่างชาติ การปฏิรูประบบกฎหมาย และการลดการทุจริตคอร์รัปชัน”

 

ภาพ: JUNI KRISWANTO / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X