×

พลังประชารัฐ vs. พรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

โดย THE STANDARD TEAM
02.04.2021
  • LOADING...
พลังประชารัฐ vs. พรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปของพรรค ได้หารือร่วมกันกับตัวแทนกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 3 พรรค ประกอบด้วย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์, ศุภชัย ใจสมุทร, ภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย และ นิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งจากการหารือมีความเห็นร่วมกันที่จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา โดยจะแยกเสนอเป็นรายฉบับดังนี้

 

  • ฉบับที่ 1 ประเด็นมาตรา 256 แก้ไขจากยากให้ง่ายขึ้น โดยใช้เสียง 3 ใน 5 
  • ฉบับที่ 2 ประเด็นมาตรา 272 ส.ว. ไม่มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี
  • ฉบับที่ 3 ประเด็นหมวดสิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชน 
  • ฉบับที่ 4 ประเด็นหมวดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและธรรมาภิบาล 
  • ฉบับที่ 5 ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 
  • ฉบับที่ 6 ประเด็นที่ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบบัตร 2 ใบ 

 

จากการหารือได้มอบหมายให้พรรคประชาธิปัตย์ไปยกร่างและนำกลับมาหารือร่วมกันอีกรอบในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าจะเสนอต่อประธานรัฐสภาได้ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้แน่นอน 

 

ชินวรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีพรรคพลังประชารัฐ ให้ ส.ส. ลงนามเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็น 13 มาตรา ถือเป็นเรื่องที่ดี และได้คุยกับประธานวิปรัฐบาล วิรัช รัตนเศรษฐ และ อนุชา นาคาศัย แล้วว่าประเด็นใดที่เห็นพ้องต้องกันก็พร้อมที่จะสนับสนุนกัน ในส่วน 3 พรรคที่หารือกันนั้นก็มีข้อสรุปตรงกันว่ายินดีร่วมมือกับทุกพรรค รวมถึงภาคประชาชนด้วย เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับประเด็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 ประเด็น 13 มาตรา ของพรรคพลังประชารัฐ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตรียมที่จะแถลงข่าวอีกครั้ง

 

มีรายงานว่า 5 ประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐจะเสนอแก้ไข ได้แก่ การตัดกระบวนการไพรมารีโหวตในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยจะนำมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้แทน

 

การแก้ไขกระบวนการเลือกตั้งโดยนำระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาใช้แทน ให้มี ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 

 

นอกจากนั้นยังมีการแก้ไขมาตรา 144 ว่าด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ โดยให้นำมาตรา 168 วรรค 5, 6, 7, 8 และ 9 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้แทน พร้อมแก้ไขการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และให้คณะรัฐมนตรีรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศทุกๆ 1 ปี เป็นต้น

 

ที่น่าสังเกตคือไม่มีประเด็นการแก้ไขเรื่องอำนาจสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในการยกเลิกอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X