วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบดำ-ใบแดงกับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดนครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ หลังพบมีการซื้อเสียงว่า ตนเพิ่งได้รับข้อมูลจากสื่อมวลชน ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตนไม่สามารถจะเอ่ยได้ แต่ไม่ใช่นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เป็นความผิดส่วนบุคคล ซึ่งเมื่อเป็นความผิดส่วนบุคคล อดีตผู้สมัครก็ต้องไปแก้ต่างด้วยตัวเอง นโยบายพรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายที่จะไปสนับสนุนผู้สมัครในการกระทำละเมิดกฎหมาย กกต. อยู่แล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า พรรคพลังประชารัฐจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบควบคู่ไปกับ กกต. หรือไม่ เนื่องจากอดีตผู้สมัครดังกล่าวยังเป็นสมาชิกของพรรคอยู่ ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับคณะกรรมการบริหารพรรคว่าจะมีมาตรการและการแก้ไขปัญหาอย่างไร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาระบุว่า จะปรับภาพลักษณ์ของพรรคใหม่เป็นอนุรักษนิยมที่ทันสมัย ได้มีดำริอย่างไรบ้างหรือไม่ ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า การประชุมพรรคเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งตนติดภารกิจประชุม ครม. และการประชุมกับกลุ่มพีมูฟ จึงไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ทราบจากสื่อว่าจะมียุทธศาสตร์ใหม่ ทำพรรคให้เป็นอนุรักษนิยมที่ทันสมัย ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการบริหารพรรคจะมีการประชุมกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ได้นำเสนอ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ดำริของ พล.อ. ประวิตร ที่ต้องการปรับภาพลักษณ์ของพรรค เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือต้องการให้ประชาชนจดจำพรรคพลังประชารัฐได้ ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่จะต้องรักษาสถานะ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ถือว่าเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากพอสมควร 40 ท่าน และ 39 ท่านก็เป็นผู้แทนแบบเขต ผมกล้าการันตีว่าแต่ละท่านมีคุณภาพ มีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการตั้งกระทู้ถามในสภาเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ว่ายุทธศาสตร์ของพรรคในภาพรวมเราก็ต้องทำด้วยพร้อมๆ กัน ก็เป็นเรื่องปกติ ทุกพรรคก็ทำเหมือนกันหมด
ผู้สมัคร สส. นครสวรรค์ ‘แจกเงิน’ ซื้อเสียงเลือกตั้ง
ทั้งนี้ เว็บไซต์ กกต. เผยแพร่คำวินิจฉัยสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ พรวิศิษฐ์ แจ่มใส ผู้สมัคร สส. นครสวรรค์ เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ และ ณฐณณฑ์ เบญจภิญโญ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 73 วรรค (1) ประกอบมาตรา 138 โดยให้ดำเนินคดีอาญาบุคคลทั้งสองตามมาตรา 73 วรรค (1) ประกอบมาตรา 158 ของกฎหมายเดียวกัน รวมทั้งให้กันผู้แจ้งเหตุ สามีของผู้แจ้งเหตุ พยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 2 ถึงคนที่ 4 คนที่ 6 และคนที่ 8 ไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี
จากกรณีไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า ณฐณณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรวิศิษฐ์ ได้มอบเงินจำนวน 10,000 บาท ให้แก่ผู้แจ้งเหตุในวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 เวลา 11.30 น. ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ สาขาตาคลี ตามที่ผู้แจ้งเหตุเดินทางไปทวงเงินค่าจ้างในการไปเข้าร่วมฟังการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งของพรวิศิษฐ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566
ณฐณณฑ์บอกให้ผู้แจ้งเหตุนำเงินนี้ไปมอบให้กับบุคคลในครอบครัวของผู้แจ้งเหตุ ได้แก่ ผู้แจ้งเหตุ ตาและยายของสามีผู้แจ้งเหตุ และสามีของผู้แจ้งเหตุ คนละ 500 บาท พร้อมทั้งขอให้ลงคะแนนให้แก่พรวิศิษฐ์ และที่เหลืออีก 4,000 บาท เป็นค่าจ้างเพื่อไม่ให้ผู้แจ้งเหตุไปร้องเรียนต่อสำนักงาน กกต. ตามที่ผู้แจ้งเหตุพูดตอนมาทวงเงินว่า “จะไปดำเนินการร้องเรียนต่อ กกต.” ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้แจ้งเหตุได้รับเสื้อสีขาวที่พิมพ์ชื่อของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 2 ตัว
ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้แจ้งเหตุและสามีของผู้แจ้งเหตุได้เดินทางไปรวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในและนอกชุมชนตาคลีได้จำนวน 31 ใบ โดยนำไปส่งมอบให้ณฐณณฑ์ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ สาขาตาคลี ซึ่งมีการคัดถ่ายเป็นสำเนาเอกสาร ก่อนนำบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวมาคืนให้แก่ผู้แจ้งเหตุ
ณฐณณฑ์ให้ผู้แจ้งเหตุเขียนชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนลงในกระดาษเรียงตามลำดับรายชื่อ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับเตรียมแจกเงินคนละ 500 บาท ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวของผู้แจ้งเหตุสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในบทสนทนาผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE ระหว่างณฐณณฑ์กับผู้แจ้งเหตุ ที่มีการชักชวนกันไปเดินหาเสียงเลือกตั้งให้พรวิศิษฐ์ แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่ณฐณณฑ์ยินยอมให้ผู้แจ้งเหตุเข้ามาช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้แก่พรวิศิษฐ์
ทั้งนี้ สอดคล้องกับถ้อยคำของพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 1-8 ซึ่งเป็นเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชนที่ผู้แจ้งเหตุกล่าวอ้าง ซึ่งให้ถ้อยคำว่าได้มีผู้แจ้งเหตุและบุคคลอื่นขอเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของพวกตน โดยพยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 2-4 คนที่ 5 และคนที่ 8 ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า บุคคลที่ขอเก็บบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวได้สัญญาว่าจะให้เงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครหมายเลข 9 ซึ่งเป็นหมายเลขประจำตัวผู้สมัครของพรวิศิษฐ์
พยานหลักฐานจึงน่าเชื่อว่า ณฐณณฑ์กระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่พรวิศิษฐ์ตามที่มีการกล่าวหา นอกจากนี้ที่ณฐณณฑ์มอบเสื้อที่ได้รับจัดสรรให้แก่ผู้แจ้งเหตุจำนวน 4 ตัว ได้แก่ เสื้อยืดสีน้ำเงินที่มีตราสัญลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐ และด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า ‘พรรคพลังประชารัฐ’ จำนวน 1 ตัว และเสื้อสีขาวที่มีตราสัญลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐ และด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า ‘รับใช้ใกล้ชิดต้องพรวิศิษฐ์ แจ่มใส’ จำนวน 3 ตัว โดยไม่พบว่าผู้แจ้งเหตุ พยานคนที่ 1 และคนที่ 2 ของผู้แจ้งเหตุ เป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ การให้เสื้อดังกล่าวแก่ผู้แจ้งเหตุจึงมีลักษณะเป็นการให้ทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่พรวิศิษฐ์
เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่พรวิศิษฐ์ได้แจ้งชื่อณฐณณฑ์เป็นผู้ช่วยหาเสียง ทำหน้าที่ประสานงานและหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่เทศบาลเมืองตาคลี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ สาขาตาคลี ภาพถ่ายณฐณณฑ์ไปร่วมหาเสียงเลือกตั้งกับพรวิศิษฐ์ แสดงให้เห็นว่าณฐณณฑ์มีบทบาทสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งของพรวิศิษฐ์ จึงน่าเชื่อว่าพรวิศิษฐ์รู้เห็นเป็นใจให้ณฐณณฑ์กระทำการดังกล่าว
กรณีจึงปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรวิศิษฐ์สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้ณฐณณฑ์ให้เงิน เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้เงิน รวมทั้งให้เสื้อดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรค (1) ประกอบมาตรา 138 และเป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้ง สส. จังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ 5 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพรวิศิษฐ์ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม