‘สวย’ เป็นคำแรกที่ผุดขึ้นมาในสมอง เมื่อนึกถึงผู้หญิงที่ชื่อ ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์
แต่นอกจากคำว่าสวยแล้ว มีคำอะไรอีกบ้าง
ขอเล่าเรื่องส่วนตัวให้คุณอ่านกันนิดหนึ่งครับว่า ผมเองก็เคยคิดกับผู้หญิงคนนี้ด้วยคำว่า ‘สวย’ คำเดียว ไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย จนกระทั่งวันหนึ่งที่ได้มาทำงานร่วมกัน ผมจำครั้งแรกที่ได้เห็นเธอได้ คำที่ผุดขึ้นมาในหัวผมตอนนั้น นอกจากคำว่า ‘สวย’ แล้วยังมีคำว่า ‘โคตรๆ’ ตามมาด้วย
แต่สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งในปอย ตรีชฎา และเปลี่ยนความคิดไปตลอดกาลก็คือเรื่องราววันนั้น ปกติเวลามีดารามาที่ออฟฟิศ พนักงานทุกคนก็จะพากันตื่นเต้น ยิ่งเป็นคนสวยยิ่งน่าตื่นเต้น แต่มีพี่แม่บ้าน 2-3 คนยืนอยู่ในมุม ได้แต่ยืนเก้ๆ กังๆ ไม่กล้าเข้ามาขอปอยถ่ายรูป สิ่งที่ผมได้เห็นในวันนั้นคือปอยเดินไปหากลุ่มพี่แม่บ้านแล้วบอกว่า “ปอยขออนุญาตถ่ายรูปด้วยได้ไหมคะ” แล้วเธอก็หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายเซลฟีกับแม่บ้านที่ยิ้มแฉ่งอย่างมีความสุข ก่อนที่จะ ‘ขออนุญาต’ (ใช่ครับ เธอใช้คำนี้) ใช้โทรศัพท์มือถือของแม่บ้านถ่ายรูปเซลฟีด้วยกันทีละคน ตามมาด้วยการเดินไปหาพี่ รปภ. ที่ยืนเขินหน้าแดงอยู่นาน และพูดกับเขาด้วยเสียงหวานๆ ว่า “ปอยขออนุญาตถ่ายรูปคู่กับพี่ได้ไหมคะ” และเมื่อถ่ายรูปเสร็จ ปอยจะยกมือไหว้ขอบคุณทุกคน
วันนั้นเองที่ทำให้ผมรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ธรรมดา แต่มีวิธีการทำให้คนอื่นรักเธอในแบบที่…ใครจะไม่รักเธอได้ยังไง
จากการทำงานร่วมกันทำให้ผมค่อยๆ มีคำอื่นตามมานอกจากคำว่า ‘โคตรสวย’ ผมได้เห็นความเก่ง ความอดทน ความเด็ดขาด ความเป็นนักสู้ และแน่นอน ความรักที่มีเผื่อแผ่ให้คนอื่นตลอดเวลา และนั่นทำให้ผมรู้สึกว่าความสวยมันช่างพรางตาให้เรารู้สึกกับเธออย่างตื้นเขินเหลือเกิน และเธอคงถูกตัดสินจากเปลือกนอกมาตลอด แต่นั่นสิ…เธอน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น
ตอนที่ติดต่อขอสัมภาษณ์ ผมบอกปอยว่าผมอยากให้คนอื่นได้เห็นสิ่งที่มากไปกว่าความ ‘โคตรสวย’ ภายนอกของเธอ ไล่ตั้งแต่วิพากษ์เปลือกความสวย การตกผลึกชีวิต ลากไปถึงการวิพากษ์สังคม ปอยบอกผมด้วยน้ำเสียงร่าเริงว่า “ดีค่ะ ปอยจะตอบอย่างที่รู้สึกจริงๆ ปอยรอให้มีคนถามแบบนี้มานานแล้ว”
ครั้งแรกในชีวิตที่รู้ตัวว่าตัวเองสวยคือตอนไหน
ตอน ป.4 ค่ะ เป็นช่วงที่ปอยเอาผ้าขนหนูมาทำเป็นผม เห็นตัวเองในกระจกแล้วรู้สึกว่าเราสวยมาก เหมือนนางเอกหนังจีน ใครได้เห็นเราจะต้องหลง (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นถ้าพ่อแม่รู้โดนตีแน่นอน เมื่อไรที่ปิดประตูห้อง นั่นคือโลกของปอย หมอนข้างคือเจ้าชาย ผ้าห่มคือชุดราตรี และผ้าขนหนูคือผมของปอย
แต่ครั้งแรกในชีวิตที่มีคนชมว่าสวยคือการประกวดนางนพมาศตอน ม.2 แต่ละห้องจะต้องส่งตัวแทน ห้องอื่นๆ ก็ส่งเพื่อนผู้หญิงไปประกวด แต่ปอยเป็นหัวหน้าห้อง ปอยเลยบังคับได้ว่าต้องส่งฉัน โดยที่ไม่ได้ถามความคิดเห็นจากเพื่อนเลย (หัวเราะ) ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ปอยเก็บเงินเพื่อนวันละบาทเพื่อเป็นต้นทุนให้เราไปเช่าชุดกับแต่งหน้าทำผม พอถึงวันลอยกระทง ปอยก็ไปทำผม ใส่ชุดไทย สวมชฎามาเลย ไม่มีใครเชื่อเลยว่าปอยไม่ใช่ผู้หญิง แล้วพอประกวด ปอยได้รางวัลรองชนะเลิศ จริงๆ ปอยไม่ได้คาดหวังตำแหน่งอะไรเลย แค่อยากแต่งตัวสวยๆ เป็นผู้หญิงก็พอ
หลังการประกวด ปอยได้รูปถ่ายมาหนึ่งรูป เป็นรูปใส่ชุดไทย ซึ่งเป็นรูปที่ปอยรักมาก แต่ด้วยความที่กลัวพ่อแม่เห็น เลยต้องเอารูปไปแอบหย่อนไว้ในซอกกำแพงบ้าน ทุกครั้งที่ไปยืนอยู่ตรงนั้นปอยก็จะเห็นรูปตัวเองอยู่ในซอกเล็กๆ เป็นความสุขของปอย เก็บไว้ก็ไม่ได้ ต้องปล่อยให้มันอยู่ในซอกกำแพง โดนฝน โดนแดดไป ทุกวันนี้ไปดูก็ไม่มีแล้ว
จนเข้ามหาวิทยาลัย นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ปอยได้ใส่กระโปรงนักศึกษาในชีวิตประจำวัน มันไม่เหมือนกับการใส่ชฎาในตอนเด็กแล้ว ครั้งแรกที่ใส่กระโปรง ปอยรู้สึกฟินมาก ไม่มีใครรู้ว่าปอยไม่ใช่ผู้หญิง ตอนสมัยเรียนปอยฮอตมาก มีคนมาขอเบอร์ตลอด ไปกินข้าวที่ไหนก็จะมีโต๊ะอื่นจ่ายให้หมดเลยนะคะ (หัวเราะ)
ความสวยให้โอกาสอะไรกับปอยบ้าง และทำให้เสียโอกาสอะไรบ้าง
ปอยเป็นคนไม่มีปัญหาเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ความสวยทำให้มีเพื่อนเยอะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายกับปอย ส่วนใหญ่จะเป็นคนเข้าหาคนอื่นก่อน ปอยเป็นคนไม่มีฟอร์ม
ถ้าจะมีเรื่องที่ความสวยทำให้เสียโอกาสได้ก็คือความสวยทำให้เราเหลิง เพราะทำให้เราได้สิทธิพิเศษอยู่ตลอดเวลา ยิ่งถ้าเป็นคนสวยแล้วเหลิงมากๆ มันจะทำให้เราหยุดหาโอกาสในการสร้างคุณค่าด้านอื่นๆ หยุดพัฒนาตัวเอง และไม่ได้คิดว่าจะต้องเติมเต็มในเรื่องใด จนพอมาถึงวัยหนึ่ง มันจะสะท้อนออกมาถึงคุณค่าในตัวคุณว่ามีอะไรอยู่ ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ความสวยแล้ว มันอยู่ที่ในนี้ (ชี้ไปที่สมอง) แล้วความสามารถที่คุณมี มันเป็นความสามารถที่โดดเด่นได้มากขนาดไหน และช่วยคนได้มากขนาดไหน นั่นแหละคือคุณค่า
วันนี้ปอยอายุ 32 แล้ว กล้าพูดได้เลยว่าความสวยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน้อยมาก
ปอยเคยเหลิงกับความสวยของตัวเองไหม แล้วดึงตัวเองกลับมาอย่างไร
เคยมีค่ะ ตอนเด็กๆ ปอยเน้นอย่างเดียวว่าจะดูสวยไหม ปอยเน้นแค่นี้จริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องเรียนอะไร มาเข้าใจชีวิตจริงๆ ตอนไปทำงานต่างประเทศนี่แหละค่ะที่ปอยได้เห็นชีวิตและดึงตัวเองกลับมา
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนมักจะใช้นักแสดงเดิมๆ ทั้งที่เขาน่าจะมีตัวเลือกมาก แต่นักแสดงที่ยังมีผลงานอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะเขาพัฒนาตัวเองตลอด เรียนการแสดงอยู่ตลอด ทุ่มเทให้กับงานที่ทำ เช่น ถ้าเขาต้องรับบทเป็นนักมวย เขาก็จะไปเรียนมวยจนเชี่ยวชาญเป็นนักมวยเลย ถ้าต้องรับบทเป็นนักฟิสิกส์ เขาก็ต้องไปเรียนด้านฟิสิกส์จริงจัง
มันเลยทำให้ปอยรู้สึกอายด้วยซ้ำ ถ้าปอยจะไปในฐานะคนที่สวยมาก แต่ว่างเปล่า ในเมื่อเราเลือกแล้วที่จะเป็นนักแสดง เพราะฉะนั้นปอยก็จะทำทุกอย่าง เรียนเต้น เรียนการแสดง เรียนการใช้เสียง เรียนบุคลิกภาพ ฯลฯ มันเป็นสถานการณ์ที่บังคับว่าไม่ได้แล้ว เราต้องอยู่รอดให้ได้
อะไรทำให้ปอยรู้สึกว่าตัวเองต้องไปไกลกว่าอุตสาหกรรมบันเทิงไทย
มันเริ่มจากตอนปอยอายุ 23 มีโปรดิวเซอร์ท่านหนึ่งมาขายฝันกับปอยว่าจะพาไปเดินพรมแดงในงานเทศกาลหนังที่ต่างประเทศ หลังจากเหตุการณ์นั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยเกือบ 5 ปี แต่ปอยเตรียมตัวมาตลอดว่าวันหนึ่งฉันต้องได้ไปเดินพรมแดง แม้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นสักทีก็ตาม
ระหว่างนั้นปอยก็ใช้ชีวิตเหมือนคนที่เตรียมความพร้อมในระดับจิตใจตลอดเวลา ปอยซ้อมว่าถ้าเดินพรมแดงจะต้องทำอะไร ถ้าไปเมืองนอกปอยจะทำอะไร ปอยคิดแบบนี้ตลอดเวลา ถึงมันจะเป็นเวลานาน 5 ปี แต่ใจปอยไม่แผ่วเลย
แต่ต้องขอบคุณเขานะคะ เพราะมันทำให้ปอยยังคงมุ่งมั่นในทิศทางนี้โดยที่ไม่หลงทาง ถ้าปอยไม่มีฝันนี้ แล้วเกิดมีคนชวนไปทำอะไรที่อาจจะเสื่อมเสียภาพลักษณ์ เช่น ไปเดินพรมแดงแล้วแต่งตัวให้โป๊ที่สุดเพื่อให้ดัง หรือแสดงบทที่ภาพลักษณ์จะดูไม่ดี ปอยอาจจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ก็ได้
คนที่เป็น LGBT ต้องสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตเพื่อให้ใครมายอมรับ เราต้องยอมรับตัวเองก่อน
พอโอกาสมันเข้ามาจริงๆ คุณต้องทำอะไรบ้างเพื่อคว้าโอกาสนั้น
ปอยรอมาตลอดจนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสแคสต์งานที่ฮ่องกง ผู้กำกับคือคุณเบนนี ชาน ซึ่งกำกับ ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ และมีนักแสดงนำคือ กู่เทียนเล่อ ปอยรู้ว่าฝันนี้มันต้องไม่ได้มาง่ายๆ แน่เลย คู่แข่งเป็นร้อยกว่าคน ทุกคนเป็นดาราและมีโอกาสเท่ากันหมด ปอยจึงตั้งใจสุดขีด เอาบทที่ได้แผ่นเดียวไปหาครูการแสดงเพื่อตีความตัวละคร พอเข้าใจตัวละคร กระบวนการแคสติ้งก็จะคัดจากร้อยเป็นห้าสิบ แล้วไล่ลงมาเรื่อยๆ จนเหลือคนเดียว ซึ่งแต่ละรอบต้องมีการทดสอบใหม่หมดด้วยบทใหม่ แปลว่าทุกครั้งที่เข้ารอบ เราจะได้โจทย์ใหม่กลับไปทดสอบเสมอ
ความรู้สึกตอนนั้นคือแค่ได้ไปแคสต์ก็ดีใจมากแล้ว จนวันที่เขาเคาะว่าเป็นเรา ปอยรู้สึกว่านี่แหละคุ้มแล้วกับที่ไม่เคยนอกลู่นอกทาง คุ้มกับความแน่วแน่เด็ดเดี่ยวของเรา
ซึ่งนั่นยิ่งน่าภูมิใจ เพราะทำให้คุณกลายเป็นนักแสดงไทยที่ไปเดินพรมแดงต่างประเทศโดยมีผลงาน ไม่ใช่เพราะแบรนด์สินค้าส่งคุณไป
ใช่ค่ะ แล้วนึกถึงคนที่มีความพร้อมในระดับจิตใจ มีความกล้า มีความมั่นใจ มันไม่มีความกังวลเลย วันที่ปอยได้ไปเดิน มันเหมือนสิ่งที่ปอยได้ซ้อมมาแล้วโดยตลอด ตอนที่เดิน มันไม่มีความสงสัยเลยว่าทำไมเราถึงมาอยู่ตรงนี้
เราภูมิใจในเพศของเรา เราภูมิใจในฐานะนักแสดงที่มีผู้กำกับ มีนักแสดงให้การยอมรับ ภูมิใจในฐานะที่คนฮ่องกงรักเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุการณ์นั้นมันตอกย้ำให้ปอยรู้ว่า ต่อจากนี้ไปปอยจะเชื่อในสิ่งที่ไม่มีขีดจำกัดไปเลย ขนาดสิ่งที่ปอยเชื่อในอดีตมันยังเกิดขึ้นได้ แล้วเรื่องอื่นทำไมจะไม่ได้
ผมเชื่อว่าการเดินพรมแดงไม่น่าจะเป็นแค่การออกไปเดินสวยๆ แต่ต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ จริงๆ แล้วมันก็เหมือนสมรภูมิการช่วงชิงสปอตไลต์เหมือนกันนะครับ เพราะคนที่ไปอยู่ตรงนั้นสวยทุกคน ดังทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้เราเป็นที่สนใจ เป็นที่พูดถึง มันน่าจะมีความล้ำลึกมากกว่าแค่การออกไปเดินสวยๆ
ใช่ค่ะ มันมีอะไรมากกว่านั้น พอรู้ว่าจะต้องเดินพรมแดงก็จะมีการรวบรวมทีมมาช่วยกันคิดว่าปอยจะต้องออกมาในลุคไหน การพรีเซนต์ตัวเองของปอยบนพรมแดงคือการแสดงออกถึงคาแรกเตอร์ของเราจริงๆ ปอยคิดว่าเราเป็นดาราต่างชาติ ถึงเราจะมีความมั่นใจ แต่เราต้องมีความติดดิน อ่อนน้อมถ่อมตน
การตีโจทย์เพื่อเดินพรมแดงเป็นเรื่องจิตวิทยา ต้องดูว่างานนี้เป็นงานอะไร เช่น ถ้าเป็นงานการกุศล ลุคต้องออกมาเป็น positive energy ถ้าเป็นงานของแบรนด์ที่ดูเซ็กซี่ เราต้องตีโจทย์ออกมาเป็นคนที่มี sex appeal ถ้าเป็นงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ เราก็ต้องตีโจทย์ออกมาให้เป็นไปตามคาแรกเตอร์ที่เราสวมบทบาท ต้องรู้ว่าเราไปเดินที่ไหน เช่น เดินที่ประเทศจีน ก็ต้องรู้ว่าคนที่นั่นเป็นคนแบบไหน ซึ่งก็จะต่างจากที่ไปเดินที่ลาสเวกัส มันเป็นการทำงานที่คาดหวังว่าผู้ชมที่อยู่ตรงนั้น คนที่ได้เห็นเราจะต้องชอบเรา
การเป็น Transgender ในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยกับที่จีนต่างกันอย่างไรบ้างครับ ที่จริงจีนน่าจะอนุรักษนิยมมาก มันเลยน่าทึ่งที่คุณทลายกำแพงตรงนั้นให้กลายเป็นที่ยอมรับได้
ที่จีน LGBT กำลังเป็นกระแสและเป็นเรื่องใหม่ของสังคมเขา ปอยเองไม่เคยคาดหวังเลยว่าจะเป็นแบบนี้ ปอยเริ่มทำงานที่ฮ่องกงก่อน ซึ่งที่ฮ่องกงก็ค่อนข้างเปิดกว้างอยู่แล้ว แต่จีนจะค่อนข้างอนุรักษนิยมมาก พอได้รับการติดต่อให้ไปเป็นนักแสดงนำที่จีน ปอยตกใจมาก ยิ่งกว่านั้นคือบทที่ปอยได้รับก็เป็นบทผู้หญิงจริงๆ ด้วย
ถ้ากลับมาดูในประเทศไทย เรื่องสาวประเภทสองเป็นเรื่องเก่า แต่เป็นเรื่องเก่าที่ถูกทำให้มีภาพลักษณ์ติดลบ แต่ที่จีน ภาพลักษณ์ของสาวประเภทสองเป็นศูนย์ เพราะเขาปิดประเทศ คนก็อาจจะไม่รู้ว่ามีแบบนี้ด้วย จากเดิมที่เคยเข้าใจว่าสาวประเภทสองคือผู้ชายที่ดูตุ้งติ้งแค่นั้น เขาได้มาเห็นปอยก็อาจจะทึ่งว่ามีแบบนี้ด้วยเหรอ พอภาพลักษณ์มันเริ่มจากศูนย์ การจะไปบวกก็ง่าย แต่ประเทศไทยเริ่มจากลบ ให้มันมากลางยังยากเลย
น่าแปลกนะครับที่ประเทศไทยน่าจะเป็นสวรรค์ของ LGBT แต่ประเด็นเกี่ยวกับ LGBT ยังไม่ถูกขับเคลื่อนในระดับสังคมเท่าไร
ปอยรู้สึกว่าถึงคนจะมองว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBT แต่ก็ยังมีความรู้สึกว่าเป็นตัวตลก หรือเป็นคนนอก วิธีการแก้ปัญหาอาจจะไม่ใช่อยู่ที่การไปบอกคนที่เป็น straight ว่า “ได้โปรดยอมรับเราเถอะ” ปอยคิดว่าวิธีที่ถูกคือคนที่เป็น LGBT ต้องสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตเพื่อให้ใครมายอมรับ เราต้องยอมรับตัวเองก่อน
ทุกวันนี้ละครวายเป็นที่นิยมมาก กลับกัน เรายังไม่เห็นละครที่เล่าถึงชีวิต Transgender เท่าไร คุณมองปรากฏการณ์เรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ปอยคิดว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นด้วยเหตุผลบางอย่าง วันนี้ที่มันยังไม่มีก็เป็นเพราะเหตุผลบางอย่างเหมือนกัน ปอยไม่ได้มองว่าถ้าจะมีภาพยนตร์หรือสื่อของสาวประเภทสองแล้วแปลว่าคุณภาพชีวิตทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ก่อนที่ภาพยนตร์ของสาวประเภทสองจะเกิดขึ้น สาวประเภทสองจะต้องทำให้เห็นว่าชีวิตจริงเราเป็นอย่างไร มันถึงจะมีหนังที่สะท้อนความจริงของเราได้ เราต้องช่วยกัน ยิ่งภาพของสาวประเภทสองในสายตาคนอื่นมาจากภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ยิ่งต้องพยายามพาให้ภาพเป็นบวกมากขึ้น ถึงจะยากก็ต้องทำ
ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ของ Transgender ในละครหรือภาพยนตร์ในประเทศไทยจะมี stereotype อยู่ คือถ้าไม่ตลกไปเลยก็ต้องสวยไปเลย แต่ก็จะไม่ได้เป็นตัวละครหลัก คุณอยู่รอดในอุตสาหกรรมที่ตัวเองมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น และมี stereotype แบบนี้ได้อย่างไร
ปอยมีแรงขับดันคือความเชื่อ ปอยเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เป็นตัวตลก ถึงจะไม่มีใครเอาปอยไปเป็นตัวแสดงหลัก แต่ปอยจะไม่มีวันเป็นตัวตลก ปอยอาจจะไม่ใช่เป็นคนที่เปลี่ยน stereotype ได้ แต่ปอยจะไม่เป็นคนที่ทำซ้ำ stereotype นั้นเด็ดขาด
แสดงว่าก่อนหน้านี้ก็มีงานที่ติดต่อเข้ามาหาคุณใน stereotype แบบนี้เหมือนกัน เขาอยากให้คุณทำอะไรบ้าง
มีค่ะ มีงานที่เข้ามาแล้วปอยรู้สึกว่า…ดูถูกฉันเหรอ เช่น ให้บทปอยไปเบ่งกล้าม หรือทำเสียงผู้ชาย ตะโกนไล่ผู้ชาย หรือบทสาวประเภทสองนี่แหละค่ะ แต่พอผู้ชายรู้แล้วก็ทิ้งเราแบบนี้ ปอยจะไม่มีวันรับบทแบบนั้นเป็นอันขาด
ปอยเคยพูดกับผู้ใหญ่เลยค่ะ บอกว่าให้ปอยเล่นเป็นอะไรก็ได้ที่ท้าทายความสามารถในการแสดง เล่นเป็นผีก็เล่นมาแล้ว ตายก่อนด้วย (หัวเราะ) จะให้เตะต่อยก็ได้ แต่ถ้าให้ปอยเล่นแล้วไปตอกย้ำ stereotype ที่มีต่อ LGBT ให้มันแย่กว่าเดิม ปอยทำไม่ลง
การทำลาย stereotype แบบนี้มีความหมายอย่างไรกับคุณ
วันที่ปอยได้ไปเดินพรมแดงแล้วมีน้องๆ หลายคนรู้สึกซาบซึ้งไปด้วย เพราะเขารู้สึกว่า ดูสิ…พี่ปอยยังทำได้เลย แล้วเด็กเหล่านั้นก็จะยืนหยัดกับการมีเป้าหมาย ยืนหยัดกับการทำสิ่งที่ดี
ในอดีต อุตสาหกรรมบันเทิงไทยชอบผลิตความบันเทิงที่ให้กลุ่ม LGBT เป็นตัวตลกเสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กๆ ที่เป็น LGBT เข้าใจผิดว่าการถูกยอมรับได้จะต้องตลก บางคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นคนตลกเลย แต่อยู่ในกลุ่มผู้หญิงต้องทำตัวตลก เพราะเขาเห็นมาจากทีวีว่า LGBT ต้องตลก พอเป็นแบบนี้ เขาก็พลาดโอกาสในการทำสิ่งที่ดี พลาดโอกาสในการวางตัวที่ดี เพราะเมื่อไรที่วางตัวดี เขาจะถูกสังคมตีตราว่าแอ๊บ ซึ่งปอยก็เคยโดนมาก่อน แค่ปอยแตกต่าง แค่ปอยไม่ตลก ปอยก็โดนหาว่าแอ๊บ
เท่ากับคุณโดนตีตราหลายชั้นมาก ตั้งแต่เป็นสาวประเภทสองยันเรื่องแอ๊บ คุณจัดการกับการตีตรานั้นอย่างไร
ปอยตอบได้ง่ายๆ เลยค่ะว่าอดทน ปอยไม่ได้ไฟต์เลย แค่ปอยเลือกไม่ให้เงินมาเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตเรา เพราะไม่อย่างนั้นเราจะพัง แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตปอยคืออนาคต ปอยคิดว่าจิตใจมันไม่มีโครโมโซม X หรือ Y มันอยู่ที่ความเชื่อของเรา พอเชื่อแล้วเราจะไม่ปล่อยให้ตัวเองไปเป็นตัวตลก ปอยกลับรู้สึกว่าใช้ชีวิตที่อดทนแบบนี้แล้วมีความสุขกว่า
อีกภาคหนึ่งของชีวิต คุณเป็นนักธุรกิจที่ทำผลิตภัณฑ์ฮอร์โมนสำหรับสาวประเภทสองด้วย
สาวประเภทสองทุกคนต้องเทกฮอร์โมน และในสมัยที่ปอยเติบโตมา ปอยก็เทกฮอร์โมนตามที่รุ่นพี่บอกมา จนโตมาแล้วมีความรู้ทางการแพทย์มากขึ้นถึงรู้ว่าที่ผ่านมาฮอร์โมนที่สาวประเภทสองเทกกันมาอันตรายมาก ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาให้ความสำคัญกับตรงนี้ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ แต่มันกระทบกับชีวิตของปอยเอง และสาวประเภทสองรอบตัวปอยรุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องเผชิญ ปอยเลยคิดว่าจะต้องทำตรงนี้ จนปอยได้ทุนจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย) เพื่อศึกษาการนำสมุนไพรไทยมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเรื่องฮอร์โมน ปอยเลยคิดว่าสิ่งที่ปอยทำไม่ใช่แค่ช่วยชีวิตปอยเอง แต่ช่วยสาวประเภทสองคนอื่นๆ ด้วย
ในต่างประเทศมีการเรียนการสอนวิชาที่นำชีวิตคนดังมาเป็นบทเรียน เช่น วิชามาดอนน่าศึกษา วิชาบียอนเซ่ศึกษา ฯลฯ คุณคิดว่าวิชา ‘ตรีชฎาศึกษา’ จะสอนอะไร
‘Never give up’ ไม่ว่าคุณจะเกิดมามีต้นทุนชีวิตแบบไหนก็สามารถใช้ชีวิตไปถึงจุดที่ต้องการได้ แค่เพียงเราไม่ยอมแพ้ โดยที่ไม่ใช้ต้นทุนของคุณมาเป็นข้ออ้างขัดขวางไม่ให้คุณประสบความสำเร็จได้
ความคิดเหล่านี้มาจากไหน
มาจากประสบการณ์ ความผิดพลาด ความผิดหวัง อุปสรรค ไม่ได้มาจากความสวยเลย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา ทำให้เราแข็งแกร่ง
ย้อนไปในอดีต ตอนที่คุณยังเด็กและความเข้าใจใน LGBT ยังมีน้อยอยู่ คุณเคยโดนทำร้าย โดน bullying ไหม แล้วคุณผ่านมาได้อย่างไร
โดนค่ะ ในอดีตปอยก็จะเสียใจ ฟ้องแม่ เหมือนเด็กคนหนึ่งที่ให้แม่โอ๋ แต่ใครก็ตามก็โอ๋เราได้แค่ในชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น คนที่จะให้กำลังใจเราได้ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง
สิ่งที่ปอยได้ตกผลึกกับตัวเองคือคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ คนที่เราเคยตีตราว่าเขาไม่ดี วันหนึ่งก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ ถ้าเรายังตีตราว่าเขาเป็นคนไม่ดีอยู่ตลอด วันนี้เราอาจจะเสียมิตรภาพที่ดีไปก็ได้ หรือบางคนเราตีตราว่าเขาดีมาก วันหนึ่งเขาก็อาจจะเปลี่ยนก็ได้
ปอยเชื่อว่าคนที่เขามาทำร้ายเรานั้น เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะผ่านอะไรมาก็ได้ ถ้าเราไปอยู่ในจุดเดียวกับเขา ได้รับการหล่อหลอมแบบเดียวกับเขา โดนกระทำแบบเขา เราก็อาจจะทำแบบเขา การที่เราไปตัดสินคนที่ bully เรา ก็เหมือนเรากำลัง bully เขากลับเหมือนกัน เราควรจะเห็นใจคนที่ bully เราด้วยซ้ำว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ถ้าเรามองโลกได้แบบนั้น คนที่จะเกิดประโยชน์คือตัวเรา ทุกวันนี้ปอยไม่ได้รู้สึกสนใจอะไรกับคนที่ bully ปอยเลย ปอยกลับรู้สึกสงสาร
สิ่งที่คุณอยากบอกคนที่เคยบอกคุณว่าแอ๊บว่ะ มีดีแค่สวย สวยแต่โง่ หรืออาจจะร้ายแรงกว่านั้นก็ตาม
ต้องขอบคุณมากๆ ที่เคยว่าปอยทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน เพราะมันเป็นตัวขับเคลื่อนให้ปอยจะต้องก้าวผ่านมันไปให้ได้ ถ้าวันนั้นคุณไม่ว่าปอยก็อาจจะไม่มีวันนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นจะ bully อีกก็ได้นะคะ (หัวเราะ)
สิ่งที่อยากบอกปอย ตรีชฎา ในวันนี้คืออะไรครับ
ปอยก็จะบอกว่าปอยภูมิใจในตัวเขา ปอยจะกอดเขา จะบอกว่าทุกอย่างที่ทำมามีความหมาย
คุณอยากได้รับการจดจำในฐานะอะไร
ในฐานะที่… (นิ่งคิด) เป็นส่วนเล็กๆ ที่สามารถทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น
คงมีน้องๆ ที่เป็น LGBT และโดน bullying อ่านอยู่ คุณอยากจะบอกอะไรกับน้องๆ บ้างครับ
พี่ต้องขอขอบคุณการ bully นั้น เพราะถ้าพี่ไม่เคยโดนแบบนั้นก็จะไม่มีพี่ในวันนี้ อาจจะไม่มีความคิดว่าเราจะต้องทำตัวอย่างไรให้ดีขึ้น บางคำ bully อาจจะกลายเป็นคำที่ปลุกให้เราพัฒนาตัวเอง ถ้าเราทำให้เห็นว่าในขณะที่เราโดน bully ขนาดนี้แล้วเรายังสตรองได้ เราก็จะชนะทุกอย่าง ทั้งชนะใจตัวเรา ชนะใจคนที่ทำร้ายเรา
ในโลกนี้ไม่มีใครไม่เคยโดน bully แต่จะโดนในรูปแบบไหนแค่นั้นเอง แต่คนที่ประสบความสำเร็จเขาไม่ได้วัดกันที่คุณที่โดน bully น้อยหรือมาก แต่วัดกันที่ว่าคุณอดทนและกล้าหาญในการใช้ชีวิตได้มากขนาดไหน คนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้มาจากความอดทนและเข้มแข็งแบบนี้
แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ที่มีวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่ที่ขับเคลื่อนให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร แล้วการมีอยู่ของแบรนด์ที่ชื่อ ‘ปอย ตรีชฎา’ นี้ล่ะครับ มีวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่คืออะไร
ปอยเชื่อว่าปอยมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ถูกโปรแกรมไว้แล้วและลาออกไม่ได้ เป็นแบรนด์ ‘ตรีชฎา’ ที่ต้องดูแลตลอดเวลา เพราะสิ่งที่ปอยทำไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมด้วย ยิ่งรู้ว่าความรับผิดชอบของปอยยิ่งใหญ่ก็ยิ่งต้องทำงานหนัก ความรับผิดชอบของปอยคือการเปลี่ยน stereotype การทำให้ชีวิตตัวเองและชีวิตคนอื่นๆ มีความหมายอย่างแท้จริง สิ่งที่ปอยได้คือปอยรู้สึกว่าตัวเองโคตรมีค่าเลย โคตรมีตัวตน
คำถามสุดท้าย ทำไมโลกนี้ยังต้องมีคนสวยอยู่ครับ
ปอยเชื่อว่าโลกนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความหลากหลาย คนสวย คนไม่สวย คนดี คนไม่ดี ฯลฯ คนชั่วอาจจะเป็นบทเรียนเพื่อให้คนรู้ว่าไม่ควรทำแบบนั้น คนสวยอาจจะเป็นองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้คนรู้สึกมีชีวิตชีวา หรือทำให้คนรู้ว่าจริงๆ ในอนาคตเราไม่ต้องสวยก็ได้ ปอยเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันค่ะ