×

เปิดตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นเกือบล้านคน รายได้ลด ค่าอาหารแพงขึ้น ประชารัฐซ้ำเติม

20.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจประกาศว่า ปี 2561 คนจนจะหมดจากประเทศไทย แต่จากข้อมูลทางสถิติพบว่าจำนวนคนจนกลับเพิ่มขึ้น
  • ไม่เพียงแค่จำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ที่น่าตกใจคือคนจนที่สุด 40% มีรายได้ลดลงเมื่อเทียบปี 2558 กับ 2560
  • สาเหตุคนจนในไทยมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งปัญหาเงินเดือนที่แท้จริงลดลง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ในขณะที่ราคาอาหารโดยเฉพาะผัก-ผลไม้แพงขึ้น

     “ปีหน้าคนจนหมดประเทศ (ไทย)”

     คำมั่น หรือ คำที่ใช้เรียกความเชื่อมั่นจากปากของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา Thailand 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

     “ในปี 2561 รัฐบาลจะใช้โอกาสที่มีอยู่เร่งแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายคนไทยทุกคนที่ยังมีความยากจนอยู่จะต้องหายจนให้ได้ในปีหน้า ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานั้น ตอนนี้กำลังคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อหาทางออกมาตรการพิเศษออกมาดูแล โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินลงไปยังชุมชนมากขึ้น” สมคิด กล่าว

 

 

คนจนมีแค่ไหน แค่ไหนเรียกคนจน

     ข้อมูลจากอีกวงเสวนาวิชาการหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หัวข้อ ‘ประชารัฐคืออะไร เพื่อคนไทยหรือเพื่อนายทุน?’

     ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความยากจนที่น่าสนใจหลายอย่าง

     ดร. เดชรัต กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากสภาพัฒน์พูดถึงสถานการณ์คนจนในไทย โดยกำหนดเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,920 บาท/คน/เดือน

 

 

     จากตัวเลขนี้จะเห็นว่า ในระหว่างปี 2558-2559 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน (เกือบ 1 ล้านคน) จากเดิมมีจำนวนคนจน 4.847 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มเป็น 5.810 ล้านคน ในปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 20% จากจำนวนคนจนในปี 2558) ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน แยกเป็นคนจนในเมืองเพิ่มขึ้น 436,000 คน (หรือเพิ่มขึ้นถึง 24% ของจำนวนคนจนในเมือง ปี 2558) และคนจนในชนบทเพิ่มขึ้น 527,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 17% ของจำนวนคนจนในชนบท ปี 2558)

     จากข้อมูลนี้แปลว่า สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 8.61%

     ทั้งนี้ตลอดช่วงเวลา 30 ปี ภาวการณ์ที่ความยากจนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2541-2543 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคน ครั้งที่สองในปี 2551 ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน และครั้งที่สามก็คือครั้งนี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อว่าวิกฤตอะไร?

     “ถ้าเราเอาคนรวยกับคนจนมารวมกันแล้วหารเฉลี่ย เราอาจเห็นว่าความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นผ่านตัวเลขรายได้เฉลี่ยที่สูงขึ้น”

 

คนจน = จนแล้วจนอีก กับ คนรวย = รวยเอา รวยเอา

     ดร. เดชรัต นำเสนอข้อมูลความจนที่น่าสนใจอีกชุด ด้วยสถิติรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน และการเปลี่ยนแปลงของรายได้เฉลี่ย จำแนกตามกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ทั่วประเทศ

 

 

     ถ้าเราแบ่งรายได้ครัวเรือนออกเป็น 5 กลุ่มตามชั้นรายได้ จากข้อมูลจะเห็นว่า กลุ่มคนจน 40% มีรายได้น้อยลงในช่วงปี 2558 กับ 2560 ขณะที่กลุ่มที่คนรวยที่สุดมีรายได้เพิ่มขึ้น

     แสดงว่าเศรษฐกิจที่เติบโตปีนี้เกิน 3% เป็นการเติบโตบนฐานของประชากรกลุ่มที่มีรายได้ดี แต่กลุ่มที่มีรายได้น้อยกลับมีรายได้ลดลง เรื่องนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยว่า ทำไมเมื่อเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นแต่รายได้ของกลุ่มคนจนกลับลดลง

     ข้อมูลในทางเศรษฐศาสตร์ยังพบอีกว่า ประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อย มีรายจ่ายหมดไปกับค่าอาหารเกือบครึ่งหนึ่ง คือ 48% แต่คนที่มีรายได้มากที่สุด ค่าใช้จ่ายหลักคือการเดินทางและการสื่อสาร

     ปัญหาที่เจอคือ ดัชนีเงินเฟ้อทางด้านอาหารสูงกว่าดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป แปลว่าภาระของคนจนจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น

     ส่งผลให้เมื่อคำนวณอาหารที่ได้รับแต่ละวันโดยเฉลี่ย กลุ่มคนที่จนที่สุด 20%แรก ได้รับพลังงานสารอาหารที่บริโภคต่ำกว่าเกณฑ์ ตรงข้ามกับกลุ่มคนที่รวยที่สุด 20% ซึ่งบริโภคอาหารเกินกว่าเกณฑ์

     ดังนั้น ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารไม่ใช่ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย มันเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มาจากการขาดแคลนอาหาร แต่เกิดจากคนจนเข้าถึงอาหารได้น้อยลง

     โดยเฉพาะอาหารที่เป็นผักและผลไม้แพงขึ้นอย่างมาก แต่เกษตรกรได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ไม่ใกล้เคียงกัน ส่วนต่างส่วนหนึ่งตกอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลาง แต่ผู้ที่ได้รับส่วนต่างมากที่สุดคือกลุ่มที่อยู่ปลายทาง หรือร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของกลุ่มทุน

 

 

เพราะอะไร ทำไมคนไทยจนลง?

     ดร. เดชรัต วิเคราะห์สาเหตุของความยากจนในไทยว่า เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งมีที่มา 2 อย่างด้วยกันในปัจจุบัน

     ประการแรก คือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตั้งแต่ปี 2556 ราคาสินค้าเกษตรลดลงตลอด ต่ำที่สุดคือปี 2559 ซึ่งไทยเจอปัญหาภัยแล้งและราคาข้าวตกต่ำ ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้ลดลงประมาณ 10%  

     ประการที่สอง คือ ดัชนีค่าจ้างที่แท้จริง หรือ ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ จากสถิติตั้งแต่ปี 2557 ดัชนีค่าจ้างที่แท้จริงลดลงมาและติดลบเป็นบางช่วง

     การอยู่ในวงล้อมของประชารัฐ ทำให้การต่อรองเรื่องสำคัญโดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างต่อรองยาก ดัชนีรายได้ที่แท้จริงที่ไม่เพิ่มขึ้น

     อย่างไรก็ตามมีการโจมตีว่า การเพิ่มค่าจ้างที่แท้จริงช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สมเหตุสมผล แต่ไม่มีใครเคยพูดถึงสถิติตัวเลขของดัชนีผลิตภาพแรงงาน ซึ่งตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ดัชนีนี้สูงกว่าค่าจ้าง หมายความว่า เราทำงานออกไปมากกว่าค่าจ้างที่เราได้รับ ตัวเลขตรงนี้ไม่มีใครพูดถึง แต่พอดัชนีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ทำเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต

     จากข้อมูลและสถิติที่ปรากฏทำให้น่าคิดต่อว่า วิธีการทำแบบประชารัฐสามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยได้จริงหรือไม่ ดร. เดชรัต ทิ้งท้าย

 

Photo: Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising